โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
มูลนิธิเพื่อผู้ บริโภค งัดบทพิสูจน์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไม่ช่วยอะไร “ครอบครัวพึ่งม่วง” ล้มละลายต้องหมดตัวจากการรักษาพยาบาล
จากการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรประชาชน ได้จัดทำกรณีศึกษาผู้ประสบภัยจากรถ 7 กรณี ครอบครัวพึ่งม่วง เป็น 1 ใน 7 กรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนจากระบบสาธารณสุขไทย ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถได้อย่างแท้จริง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นางสาวหยาดพิรุณ พึ่งม่วง ซึ่งเป็นบุตรสาวของลุงยา พึ่งม่วง ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2549 เนื่องจากถูกกระบะตัดหน้าขณะเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส คางหัก ลำไส้ทะลุ ซึ่งหน่วยกู้ภัยนำส่ง รพ.เอกชน และเบิกค่ารักษาจาก พ.ร.บ.15,000 บาท แต่วันออกจากโรงพยาบาล ถูกเรียกเก็บค่ารักษาเป็นเงิน 260,000 บาท ซึ่งครอบครัวพึ่งม่วงไม่มีเงิน ต้องการขอผ่อนผัน จึงคุยกับนิติกรของ รพ.ซึ่งได้แนะนำให้ลุงเอาที่ดิน 10 ไร่ มาขายฝากไว้ แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวยังติดจำนองกับ ธ.ก.ส.รพ.จึงออกเงินให้ 50,000 บาท และเงินลุงยาอีก 13,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ย เพื่อไถ่ถอนจำนองจาก ธ.ก.ส.แต่เมื่อลุงยาไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน กลับพบว่า ที่ดินไม่ได้ขายฝาก แต่ถูกขายไปจริงในราคา 160,000 บาท โดยสัญญาซื้อขายไม่มีคู่ฉบับ ทำให้ปัจจุบันลุงยาจึงยังเป็นหนี้ รพ.อยู่อีก 150,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ได้ให้ความช่วยเหลือโดยให้ภรรยาลุงยาเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยกันหาเงินใช้หนี้ รพ.
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า อีกกรณี เป็นของนายสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ขับไปเฉี่ยวชนกับรถกระบะเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2545 ในขณะที่ พ.ร.บ.หมดอายุ 16 ธ.ค.2545 ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้นายสวัสดิ์ มีอาการกระดูกหลังเท้าร้าว และหลุด พลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลขอนแก่น รักษาอยู่ประมาณ 1 เดือน เสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 30,000 บาท โดยโรงพยาบาลเบิกเงินจากกองทุนทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถ 15,000 บาท โดยที่สำนักงานประกันภัยจังหวัดขอนแก่น ได้ตามไล่เบี้ยให้ นายสวัสดิ์ จ่ายคืนกองทุน จำนวน 18,000 บาท โดย นายสวัสดิ์ ไม่เคยได้รับแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด จึงถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับ 6,000 บาท ฐานเป็นเจ้าของรถที่ประสบภัยแล้วไม่ได้จัดทำ พ.ร.บ.ตามกฎหมาย ซึ่ง นายสวัสดิ์ ไม่มีเงินจ่ายจึงถูกกักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 30 วัน โดยที่ปัจจุบัน นายสวัสดิ์ ขาพิการ เดินไม่สะดวก เป็นต้น
ผ ู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า จากกรณีตัวอย่างจึงชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ผู้ป่วยที่มีสิทธิในการรักษาอยู่แล้ว ก็ต้องย้ายกลับไปใช้สิทธิเดิม แทนที่จะมีระบบที่หากได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ใดก็ได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องหาเงินจ่ายค่ารักษา แต่ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินโดยตรงกับกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเอกสารประกอบมากเกินความจำเป็นในปัจจุบัน รวมทั้งควรมีการขยายเพดานความรับผิดในการรักษาพยาบาล ให้สอดคล้องกับความรุนแรงของอุบัติเหตุ และความจำเป็นของการรักษาพยาบาล มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนมากขึ้น ในขณะที่บริษัทประกันภัยยังคงได้กำไรอยู่แล้ว หรืออย่างในกรณีของนายสวัสดิ ก็ควรมีการขยายการคุ้มครองต่อเนื่องหลังประกันหมดอายุ 30 วัน และให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000007243
ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความ
ตอบลบ