++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มรดกและการเก็บภาษีมรดก

โดย ไชยันต์ ไชยพร    
นอกจากการส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูงสุดที่ จะเป็นไปได้ ตลอดจนการซื้อรถให้เมื่อมีงานทำ การให้เงินค่าสินสอดทองหมั้นหรือการจัดงานแต่งงานให้ และบางคนก็รวมถึงการซื้อบ้านด้วยแล้ว ความคาดหวังสุดท้ายที่คนบางคนหรือหลายๆ คนจะคาดหวังจากพ่อแม่ของเขาก็คือ มรดก ไม่ว่าจะได้ก่อนหรือหลังการจากไปของพ่อแม่ของเขาก็ตาม กล่าวได้ว่า มรดกเป็นสิ่งที่คนที่ถ้าไม่จนขนาดหนักย่อมคาดหวังว่าจะได้จากญาติผู้ใหญ่ของ เขา
      
        การส่งผ่านมรดกจากรุ่นก่อนๆ ต่อๆ กันไปจนถึงรุ่นหลังๆ ถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยทีเดียวสำหรับคนที่มีครอบครัว จำได้ว่า แม้กระทั่งบทสนทนาเรื่อง the Republic ของเพลโตซึ่งเขียนขึ้นมาเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วก็ยังพูดถึงความสำคัญของหน ้าที่ผู้เป็นบิดาที่ต้องส่งผ่านมรดกที่ได้รับตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่สู่รุ่นพ ่อแล้วมาถึงรุ่นตน และก็จะต้องส่งผ่านไปยังรุ่นลูก คนทุกรุ่นจะต้องรับผิดชอบในภาระหน้าที่สำคัญดังกล่าวนี้สืบต่อกันไป เพื่อการสืบสานยั่งยืนของวงศ์ตระกูล
      
       ใครที่สามารถสืบสานภาระหน้าที่ดังกล่าวนี้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องถื อว่าเป็น “บุคคลที่เที่ยงธรรม” (just man) ดังที่เซฟาลุสผู้ที่โสกราติสร่วมสนทนาในประเด็นเรื่องชีวิตที่มีความสุขได้อ ธิบายตัวเขาว่า เขามีชีวิตที่มีความสุขได้ในบั้นปลาย เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่ควรทำทุกอย่างแล้วในชีวิต นั่นคือ ที่ผ่านมา เขาก็ไม่เคยโกงใคร ไม่เป็นหนี้ใคร ทำการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ อีกทั้งยังไม่ละเลยที่ใช้เงินทองในการจัดหาข้าวของบูชาบวงสรวงเทพเจ้ามิได้ข าด
      
       และที่สำคัญที่สุดคือ มรดกที่เขาได้รับสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ เขาก็มิได้ขาดตกบกพร่องที่จะส่งผ่านทรัพย์สินเงินทองต่อให้บุตรของเขาในจำนว นที่ไม่ต่ำกว่าที่เขาได้มาอีกด้วย และด้วยพฤติกรรมการกระทำดังกล่าวที่เขาเห็นว่าเป็นการกระทำอันเที่ยงธรรม (justice) ที่ทำให้เขามีชีวิตที่มีความสุข
      
        คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมการรักษาเพิ่มพูนมรดกเพื่อส่งผ่านต่อๆ กันระหว่างรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจึงมีความสำคัญยิ่ง? เหตุผลน่าจะมีหลายประการ
      
       ประการแรก การสร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันของความเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ที่มีครอบครัวเป็นหน่วยสังคมพื้นฐาน การสืบสานวงศ์ตระกูลครอบครัวทำให้มนุษย์มีประวัติศาสตร์มีอัตลักษณ์ตัวตน มีความรัก ความรับผิดชอบและความผูกพันห่วงใยในสายโลหิตไม่ว่าจะในระดับขึ้นบนหรือลงล่า ง
      
       ประการที่สอง เป็นแรงขับให้ขยันทำมาหากิน และการขยันทำมาหากินดูแลรักษาครัวเรือนครอบครัวของตนได้โดยไม่มีปัญหา ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจของสังคมหรือรัฐ ยามเมื่อรัฐจะระดมทรัพยากรมนุษย์และอื่นๆ เพื่อปกป้องหรือขยายอาณาเขตของรัฐ
      
       ประการที่สาม ส ืบต่อจากประการที่สอง เนื่องจากรัฐในสมัยโบราณไม่มีระบบสวัสดิการสังคมใดๆ ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะต้องดูแลตัวเอง การสั่งสมทรัพย์ในรูปมรดกที่ส่งผ่านต่อๆ กันไปจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความมั่นคงในชีวิต
      
       ประการที่สี่ จากการที่ไม่มีสวัสดิการสังคมใดๆ ในสมัยโบราณ ทำให้แต่ละครอบครัวต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง และการหาเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ในสมัยโบราณนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตร ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่วัยแรกเริ่มที่พอช่วยทำงานได้ และสมัยนั้นก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็กเหมือนในสังคมสมัยใหม่ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาย่อมมาจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกทุกคนในครอบครัว การสืบสานมรดกจึงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและเป็นธรรมสำหรับคนในครอบครัวที่ช่วยกั นทำงาน และต้องดูแลตัวเองโดยไม่มีสวัสดิการความช่วยเหลือใดๆจากรัฐ
      
       ประการที่ห้า แม้ว่าจะไม่มีระบบสวัสดิการ และไม่มีภาษีมรดก แต่ระบบศาสนาความเชื่อ ตลอดจนจารีตประเพณีได้กำหนดข้อควรปฏิบัติเอาไว้เพื่อให้มีการช่วยเหลือผู้ตก ทุกข์ได้ยากหรือมีความลำบากในชีวิต อย่างเช่นศาสนาแทบทุกศาสนาได้กำหนดให้แบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือ สังคม อีกทั้งยังกำหนดไว้ว่า คนที่ร่ำรวยหรือมีกินมีใช้ควรจะต้องมีเมตตากรุณาต่อผู้ที่ด้อยกว่า ในรูปของทานและการกุศล หรืออย่างในกรณีสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทางตรงอย่างนครเอเธนส์ ซึ่งคนส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมากเป็นคนจน ได้มีการกำหนดเป็นระเบียบข้อบังคับไว้เลยว่า ผู้มีฐานะมั่งคั่งจะต้องบริจาคเงินในกิจการสาธารณะด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีสวัสดิการและภาษีมรดก สังคมโบราณได้มีกรอบความคาดหวังในบทบาทของผู้มีทรัพย์ในการที่จะต้องช่วยเหล ือสังคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งค่านิยมดังกล่าวก็ยังสืบทอดมาจนปัจจุบัน โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจหรือความต้องการการยอมรับของคนในสังคม
      
       แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่ได้ผ่านช่วงเวลาของเสรีนิยมและทุนนิยมทั้งทางเ ศรษฐกิจและการเมืองเป็นเวลาพอสมควร สภาพทางเศรษฐกิจสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงจากสังคมโบราณไปมาก การสั่งสมทรัพย์สินอย่างมหาศาลของผู้คนจำนวนไม่น้อยในบางชนชั้นได้เกิดขึ้นอ ย่างที่สังคมในอดีตไม่สามารถเปรียบเทียบได้ การผลิตแบบการเกษตรที่ต้องอาศัยแรงงานของทุกคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านเปลี่ ยนมาเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำไปสู่สภาวะปัจเจกชนน ิยม ความจำเป็นในการพึ่งพาอาศัยแรงงานกันและกันลดน้อยถอยลง
      
       และจากปริมาณการผลิตและกำไรมหาศาลอันนำมาซึ่งมูลค่าส่วนเกินอย่างไม่ เคยปรากฏในวิถีการผลิตก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่อความจำเป็นทางสังคมในภาวะสมัยใหม่ที่ต้องแบกร ับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภค ฯลฯ ที่ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมโบราณ อีกทั้งช่องว่างทางสถานะเศรษฐกิจสังคมก็ขยายตัวกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
      
       จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในที่สุด เกิดความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาแบกภาระดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนในสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้ต่ำ สภาพการณ์ที่รัฐยื่นมือเข้ามาดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ นี้เองที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) หรือในรูปแบบที่เรียกว่าแนวคิดเรื่อง “สวัสดิการทางสังคม” (social welfare) ซึ่งยังคงรักษาแนวทางเสรีนิยมไว้ในระดับหนึ่งนั่นคือ การคงไว้ซึ่ง “กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล” (private property) ในขณะที่สังคมนิยมนั้น ต้องการยกเลิกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล
      
       และในช่วงก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การที่ทรัพย์สินทั้งหลายเป็นของส ่วนรวมทุกคน ทรัพย์สินต่างๆ จะเป็นของรัฐ (state property or state ownership) โดยรัฐจะทำหน้าที่ดูแลจัดสรรและแปรเปลี่ยนทรัพย์สินที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนอง ความต้องการจำเป็นและความต้องการอื่นๆ ให้แก่ประชาชนในสังคมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โดยประชาชนจะมีทรัพย์สินส่วนตัวในระดับที่น้อยที่สุด เพราะรัฐได้แบกภาระส่วนใหญ่ในการดูแลความอยู่ดีกินดีของประชาชนไว้เอง
      
       การจะเกิดรัฐสวัสดิการได้ รัฐจึงย่อมจะต้องมีงบประมาณเพียงพอที่จะเข้าแบกรับภาระที่ประชาชนเคยต้องแบก ไว้เอง ยิ่งขอบเขตและขนาดของสวัสดิการกว้างขวางเพียงใด ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องมีงบประมาณมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเพียงนั้น และแหล่งที่จะได้เงินทุนมาเพิ่มงบประมาณก็คือ การเก็บภาษีต่างๆ ในอัตราก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเก็บภาษีมรดกด้วย
      
       การเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับกันได้มากกว่าการเก็บภาษีมรดก โดยเฉพาะการเก็บมรดกในอัตราก้าวหน้า เพราะหลายคนทำงานหาเงิน และเก็บหอมรอบริบไว้ ไม่ยอมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็เพื่อหวังจะให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานจะได้มีชีวิตที่ส ุขสบาย โดยพ่อแม่ยอมลำบากเพื่อบุตรหลานอันเป็นที่รัก แต่เมื่อยามส่งผ่านมรดกกลับจะต้องถูกเก็บภาษีไปเฉยๆ (จะรู้สึกว่าเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับการรับรู้และความเข้าใจของแต่ละคนหรือของสังคมโดยรวม) คนเหล่านี้จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาจะต้องเสียเงินภาษีไปเพื่อรั ฐจะเอาไปจัดสวัสดิการให้แก่คนจน ซึ่งไม่ใช่คนจนทุกคนที่สมควรจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือดังกล่าว
      
       ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า ยังมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรมต่อคนที่ขยันขันแข็งสร้างเนื้อสร้างตัวจนประส บความสำเร็จ และการทำให้คนจำนวนหนึ่งหวังพึ่งสวัสดิการจนไม่กระตือรือร้นที่จะทำมาหากินส ร้างตัวเอง ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัด
      
       แนวคิดสังคมนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคลว่าเป ็นสาเหตุสำคัญของความไม่เสมอภาคและการกดขี่ขูดรีดแล้ว ย่อมไม่เห็นด้วยกับเรื่องการมีมรดก และภายใต้ระบบสังคมนิยมในทางทฤษฎีหลักการ ประชาชนย่อมไม่มีมรดกจำนวนมากให้ส่งต่อเพื่อสั่งสมความมั่งคั่งและก่อให้เกิ ดความไม่เสมอภาค ปัญหาเรื่องการเก็บภาษีมรดกจึงไม่เกิดขึ้น
      
       ดังนั้น แนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อส่งเสริมการเป็นรัฐสวัสดิกา ร แต่ยังมุ่งให้คงไว้ซึ่งความชอบธรรมในการส่งผ่านกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคค ลก็คือ แนวคิดเสรีนิยม โดยเฉพาะแนวเสรีนิยมพวกหนึ่งเห็นว่า ท รัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนลงแรงหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเสรี และมีการเสียภาษีรายได้อยู่แล้ว ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาอย่างชอบธรรม และเขาย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะส่งต่อให้กับทายาทหรือใครก็ได้อย่างเสรีตามแต่ความพอใจของเขา
      
       การแก้ปัญหาสภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้ต่ำนั้น ไม่น่าจะต้องทุ่มเทไปที่การมีสวัสดิการ แต่อยู่ที่การกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้คนมีรายได้มากขึ้น เลี้ยงตัวเองได้ เสรีนิยมพวกนี้เชื่อว่า วิธีการเช่นนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนกระตือรือร้นขยันขันแข็ง ไม่งอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือจากสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ ก็ควรที่จะจัดสวัสดิการแต่เฉพาะที่จำเป็นในขอบเขตที่จำกัด และจะต้องเป็นสวัสดิการที่มีเงื่อนไข ซึ่งสวัสดิการที่จำกัดนี้ย่อมไม่ต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมหาศาลจนจะต้องเก็บภ าษีก้าวหน้า จนถึงการเก็บภาษีมรดกก้าวหน้าด้วย
      
       อย่างไรก็ตาม พวกเสรีนิยมก็มิได้เห็นพ้องในข้อคิดข้างต้นกันเสียทั้งหมด เพราะนักปรัชญาการเมืองแนวเสรีนิยมในปัจจุบันจำนวนหนึ่งกลับเรียกร้องให้มีก ารเก็บภาษีมรดก จนถึงขนาดที่ไม่ได้มีการส่งผ่านมรดกเลยซ้ำ และเหตุผลสนับสนุนของพวกเขาก็เป็นเหตุผลภายใต้ฐานคิด (premises) แบบเสรีนิยมเสียด้วย
      
       เหตุผลของพวกเขาก็ยังอิงอยู่กับหลักการที่ว่า ทรัพย์สินที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนลงแรงหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเสรี และมีการเสียภาษีรายได้อยู่แล้ว ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาอย่างชอบธรรม แต่ทายาทต่างหากที่ไม่ชอบธรรมที่จะครอบครองมรดกทรัพย์สินอันมั่งคั่งขนาดนั้ นโดยมิได้ลงแรงของตัวเองแต่อย่างใด (ซึ่งแตกต่างจากสังคมโบราณที่ทายาทมักจะมีส่วนลงแรงในการผลิตภายใต้สังคมเกษ ตรกรรม) และการสืบทอดมรดกมหาศาลโดยมิได้ลงแรงไปยังนำมาซึ่งการดำรงไว้ซึ่งช่องว่าง และความไม่เสมอภาคระหว่างผู้มีทรัพย์และผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ต่อไปและยิ่งจะท วีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นความไม่เสมอภาคที่ไม่ชอบธรรมด้วย ซึ่งต่างจากความไม่เสมอภาคอันเกิดจากการลงแรงหาทรัพย์สินเงินทองมาได้ด้วยตั วเอง
      
       แน่นอนว่า เสรีนิยมพวกนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นเสรีนิยมที่สุดโต่งในสายตาคนปกติที่มุ่งยก เลิกการสืบทอดมรดก (elimination of inheritance) และกำหนดให้ทรัพย์สินที่จะเป็นมรดกเหล่านั้นถูกมอบกลับคืนให้กับรัฐ ซึ่งจุดยืนของพวกเสรีนิยมสุดโต่งนี้อยู่ตรงกันข้ามกับพวกเสรีนิยมสุดโต่งอีก ขั้วหนึ่งที่มุ่งให้ยกเลิกการเก็บภาษีมรดกโดยสิ้นเชิง (elimination of inheritance taxation)
      
       อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขของสังคมปัจจุบัน การกำหนดให้มีการยกเลิกการสืบสานมรดกและคืนทรัพย์สินให้กับรัฐเสียทั้งหมดนั ้น ย่อมเป็นนโยบายที่สุดโต่งและเป็นอุดมคติเกินกว่าที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงอย่ างปราศจากซึ่งการต่อต้าน แต่กระนั้น เราก็พบว่า ในบางกรณี ผู้มีทรัพย์สินมั่งคั่งบางคนก็เลือกที่จะไม่ยกมรดกส่วนใหญ่ให้ทายาท แต่บริจาคให้สาธารณะ
      
       ดังในกรณีของมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่ชื่อวอเรน บัฟเฟท (Warren Buffet) เขาได้ชื่อว่าเป็นคนมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นคนใจบุญรักเพื่อนมนุษย์ (philanthropist) บริจาคทรัพย์สินร้อยละแปดสิบสามจากที่เขามีทั้งหมดให้มูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ในค.ศ. 2006 เขาเป็นคนรวยที่สนับสนุนการเก็บภาษีมรดกอย่างแข็งขัน เขากล่าวว่าการยกเลิกภาษีมรดกก็เหมือนกับ “การเลือกทีมโอลิมปิกปี 2020 โดยการเจาะจงเอาบรรดาบุตรคนโตของนักกีฬาที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกในปี 2000” นอกจากนั้น ในค.ศ. 2007 เขาได้ให้การต่อวุฒิสภาและกระตุ้นให้วุฒิสมาชิกพยายามที่จะรักษาการเก็บภาษี ที่ดินไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบอบที่ปกครองโดยผู้มีเงินเท่านั้น (plutocracy)
      
       นอกจากกรณีของนายวอเรน บัฟเฟทในสหรัฐอเมริกาแล้ว เชื่อว่ายังมีกรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่มหาเศรษฐีตัดสินใจไม่ยกมรดกทั้งหมดให้กับทายาท แต่ยกให้กับองค์กรการกุศล หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องการลดช่องว่างทางชนชั้นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสัง คมมากขึ้น แต่กระนั้น ก็ไม่จำเป็นว่า เจตนาในการตัดสินใจจะมีแรงจูงใจแบบเดียวเหมือนนายบัฟเฟทเสมอไป
      
       แม้ว่า หลักการและการกระทำของนายบัฟเฟทหรือคนประเภทเดียวกันกับเขา จะถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่รู้จักพอเพียงและมีความปรารถนาดีต่อสังคม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ กรณีเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ (free will) ของตัวคนคนนั้น เข้าข่ายให้ทานหรือทำการกุศล ซึ่งไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด ถ้าสังคมหวังที่รอเงินบริจาคในการจัดสรรสวัสดิการหรือสิ่งจำเป็นสำหรับคนด้อ ยโอกาส ก็จะไม่สามารถวางแผนดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบและมั่นคง
      
       ดังนั้น ทางเลือกที่พอเป็นไปได้ที่เหลืออยู่คือ การไม่เก็บภาษีมรดกเสียเลยและการเก็บภาษีมรดก แน่นอนว่าสำหรับสังคมที่ช่องว่างระหว่างผู้คนไม่มาก และเศรษฐกิจของประเทศยังจะเจริญเติบโตในระดับที่ทำให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเ องได้อย่างพอสมควร การเก็บภาษีมรดกหรือภาษีที่ดินก็คงจะยังไม่จำเป็น แต่สำหรับสังคมที่มีปัญหา ทางเลือกที่เหลืออยู่ก็คงหนีไม่พ้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดกหรือภาษีที่ดิน
      
       ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมก็คือ จะเก็บ “ใคร?” ใครในที่นี้หมายถึงผู้มีมรดกตั้งแต่เท่าไรขึ้นไป? หรือเก็บหมดในทุกระดับ แต่จะมีอัตราที่แตกต่างกันไป หรือเก็บเฉพาะผู้ที่มีมรดกตั้งแต่จำนวนเท่านี้เท่านั้นขึ้นไป และมีอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละระดับของปริมาณ ขณะเดียวกัน จะมีการยกเว้นภาษีมรดกของผู้ประกอบอาชีพบางประเภทหรือไม่? เช่น อาชีพเกษตรกร ฯลฯ ที่สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมสร้างความมั่งคั่ง เป็นต้น
      
       ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่จะต้องขบคิดและตีให้แตกก่อนที่จะมีการประกาศใช้นโยบายการเก็บภ าษีมรดกคือ ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม (social justice) หากสามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ทุกฝ่ายแล้ว ก็จะทำให้นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เที่ยงธรรม (just and fair) เป็นที่ยอมรับและเกิดความร่วมมือกันได้
      
       นอกจากนี้ เราอาจตั้งสมมติฐานต่อปัญหาที่จะเกิดตามมาในระยะยาวได้ว่า เมื่อมีการเก็บภาษีมรดกอย่างจริงจังและด้วยอัตราที่สูงแล้ว (สูงหรือไม่สูงนี้เป็นสภาวะสัมพัทธ์ (relative) ขึ้นอยู่กับการรับรู้และความเข้าใจของผู้คนในแต่ละสังคม! เพราะคนอย่างนายบัฟเฟทย่อมจะไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรกับการที่บริจาคเงินร้อ ยละแปดสิบสามของทรัพย์สินทั้งหมดให้กับสาธารณะ แต่บางคนย่อมไม่เป็นเช่นนั้น) และเป็นอัตราที่ก้าวหน้า การบริจาคหรือการมอบเงินให้กองทุนการกุศลจะลดน้อยลง เพราะเห็นว่า มีการเก็บภาษีจากรายได้หรือมรดกของตนเพื่อไปจัดสรรสวัสดิการอย่างเป็นทางการ ให้กับผู้ด้อยโอกาสมากอยู่แล้ว ตนไม่มีความจำเป็นจะต้องไปคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นมากนักอีกต่อไป ไม่จำเป็นจะต้องมี “ใจ” สำหรับการเผื่อแผ่ ความรู้สึกไม่ดีที่ตนเองมีฐานะดีสุขสบายในขณะคนอื่นลำบากยากแค้นก็จะลดน้อยล งไป
      
       ความรู้สึกที่จะต้องเหลียวแลคนอื่นบ้างก็จะลดน้อยลงไป เพราะภาระหน้าที่ในการดูแลตกอยู่แก่รัฐอย่างเต็มที่แล้ว ตนจึงไม่จำเป็นจะต้องมีภาระหน้าที่และภาระทางอารมณ์สำหรับคนเหล่านี้อีกต่อไ ป และแน่นอนว่า ทุกคนจะเริ่มเป็น “คนแปลกหน้า” ต่อกันมากขึ้นภายใต้การดูแลของรัฐบาล และแม้ว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการทางวัตถุได้ แต่สังคมก็จะเกิดปัญหาลักษณะใหม่ขึ้นในเรื่องของความรู้สึกน้ำจิตน้ำใจที่มี ต่อกัน เพราะต่อไปนี้ พ่อแม่จะไม่ใช่คนที่
      
        “ส่งเสียเลี้ยงดู ให้การศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูงสุดที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนการซื้อรถให้เมื่อมีงานทำ การให้เงินค่าสินสอดทองหมั้นหรือการจัดงานแต่งงานให้ และบางคนก็รวมถึงการซื้อบ้านด้วยแล้ว รวมทั้งความคาดหวังสุดท้ายที่คนบางคนหรือหลายๆ คนจะคาดหวังจากพ่อแม่ของเขาก็คือ มรดก ไม่ว่าจะได้ก่อนหรือหลังการจากไปของพ่อแม่ของเขาก็ตาม”
      
       แต่เป็นรัฐต่างหากที่เข้ามาแทนที่ และความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนก็จะเปลี่ยนแปลงไป
      
       ดังที่ปรากฏในข้อเขียน The Needs of Strangers ของ Michael Ignatieff (London: Chatto and Windus: 1984).

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009140

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 มีนาคม 2552 เวลา 22:47

    ขอบคุณมาก ๆ นะครับสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ