++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

ผลิตยางแผ่นคุณภาพดีประหยัดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร นำสื่อมวลชนสำนักต่างๆ หลายสิบชีวิตบินลัดฟ้าล่องใต้ สูดกลิ่นอายธรรมชาติ สัมผัสบรรยากาศ ในสวนยางพารา ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตภูเก็ต หรือที่แต่ก่อนเรามักจะคุ้นหูกัน ในนาม สถานีทดลองยางภูเก็ต

นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา เลขานุการกรมฯ บอกว่า ศูนย์ฯภูเก็ตเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้านการเกษตรในพื้นที่ ภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น ทั้งในด้านการอนุรักษ์ รวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ โดยพื้นที่ของศูนย์ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงปลูกยาง พาราและพืชชนิดต่างๆ

ดังนั้น กิจกรรมหลัก จะเน้นด้านการเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องของยาง พาราควบคู่ไปกับ การศึกษาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นร่วม 200 ชนิด ที่ปลูกแซมในสวนยางรวมถึง การปลูกผักพื้นบ้าน ไม้ดอกบางชนิด ที่สามารถทนสภาพร่มเงาได้ และกิจกรรมที่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ให้ความสนใจมาก ก็คือ การเปิดโอกาสให้ ทดลองกรีดยาง

และ...จุดหนึ่งที่นับว่ามีประโยชน์มากๆ ในช่วงเวลาที่รัฐประกาศขยายพื้นที่ปลูกยางพาราขณะนี้ก็คือ การสาธิตการทำยางแผ่นชั้นดี ซึ่งไม่ใช้ระบบการรมควัน แต่จะใช้วิธีการอบยางด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบที่คิดค้นโดยนายชิต ทัศนกุล ข้าราชการเกษียณ ของสถาบันวิจัยยาง

...สำหรับโรงงานต้นแบบอเนกประสงค์ บริเวณชั้นล่าง จะใช้พื้นสำหรับทำยางแผ่น ชั้นบนใต้หลังคาสังกะสีซึ่งเป็นห้อง สำหรับอบยางให้สุก ซึ่งมีทั้งหมด 6 ห้อง อบยางได้ห้องละ 218 แผ่น โดยหลังคาด้านนอกทาสีดำ เพื่อดูดความร้อนจากแสงอาทิตย์ บริเวณชายคามีหลังคา 2 ชั้น เพื่อเป็นช่องระบายไอน้ำออก...

ในส่วนขั้นตอนการผลิต นายปิเชน บุญสอน พนักงานเกษตรของศูนย์ฯ อธิบายว่า เริ่มแรกกรองเศษขยะออก จากนั้นจะผสมน้ำยางเพื่อทำยางแผ่น อัตราส่วน น้ำยาง 3/น้ำ 2 ส่วน ใส่น้ำกรดฟลอมิค อัตราส่วน 300 ซีซี/น้ำยาง 5 ลิตร กวนให้เข้ากัน ตักฟองออก ทิ้งไว้ 15-20 นาที ยางจะเริ่มจับตัวเป็นวุ้น เทลงบนพื้น นวดด้วยเหล็กให้สม่ำเสมอ โดยสัดส่วนดังกล่าวจะได้ยาง 1 แผ่น

นำเข้าเครื่องรีดเรียบ 2 ครั้ง และเข้ารีดดอก 1 ครั้ง เพื่อให้น้ำระเหยออกให้มากที่สุด และความหนาของแผ่นยาง จะต้องอยู่ที่ขนาด 2.5-3 มิล ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐาน น้ำหนัก 1-1.2 กก./แผ่น จากนั้นนำไปแขวนไม้ ผึ่งลมทิ้งไว้ 1 วัน จึงลำเลียงขึ้นแขวนราว และดึงขึ้นอบในห้องชั้นบนใต้หลังคา หากแดดดีจะปล่อยทิ้งไว้ 3-4 วัน

การอบยางดังกล่าวจะได้ยางแผ่นชั้นดี ซึ่งราคารับซื้อจะสูงกว่ายางรมควันธรรมดา แถมยังไม่ ต้องเสียเวลานั่งเฝ้าและเสี่ยงต่อไฟไหม้ หลีกเลี่ยงความจนด้วยการประหยัดต้นทุน และขายให้ได้ราคาดีก็มีกำไร ต้นทุนต่ำขายราคาสูงมันก็ไม่จน ชาวสวนยางมือใหม่ที่สนใจอยาก ทำได้ ไม่จน ไปดูและสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-7631-1997, 0-7631-1049.

เพ็ญพิชญา เตียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น