...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

คนไทยใจบุญ ช่วยเนปาล ควรช่วยให้ถูกทาง

Chiranan Pitpreecha
เนปาลวิปโยค.. คนไทยใจบุญจะช่วยกันใหญ่ แต่ควรช่วยให้ถูกที่ถูกทางด้วย

พวกเราตั้งทีมอาสากู้ภัย ตอนน้ำท่วมใต้ปี 54 และวิกฤตมหาอุทกภัยภาคกลาง ทำทุกอย่างทุกวันตลอดสามเดือน ขบวนการกู้โลก Trekker Volunteers (นักเดินป่าอาสากู้ภัยไทยแลนด์) เห็นมากับตาว่า

1)ของบริจาคล้นเกินและไปไม่ถึงพื้นที่ รถ/เรือเข้าไปไม่ได้ ต.ย.ตอนถนนสะพานข้ามแม่น้ำตาปีที่สุราษฎร์ขาด ขบวนรถส่งของลงใต้ก็ติดแหง็กไปหลายวัน ยังไงก็ไม่ทันการ พวกเราจึงโอนเงินบริจาคที่รวบรวมมาให้ทีมกู้ภัยในพื้นที่ไปซื้อน้ำดื่มที่หาดใหญ่ไปช่วยคนนบพิตำ(นครศรีฯ)เป็นอันดับแรก ของถึงผู้ประสบภัยทันเวลา ไม่ต้องยุ่งกับการขนส่งจากกรุงเทพฯด้วย.. แล้วนี่ ไกลถึงเนปาล ใครจะขนส่งให้ล่ะ ต่อให้หอบขึ้นเครื่องไปเองก็ได้แค่คนละ 20-30 โล เลิกคิดเรื่องนี้ได้เลย

2)บะหมี่สำเร็จรูปเยอะมาก จนผู้ประสบภัยงงว่าส่งมาทำไม ไฟจะต้มน้ำก็ไม่มี ฝืดคอกินไม่ลงด้วย.. ข้าวกล่องของสด บูดเสียเป็นกองพะเนิน เพราะแพ็คไม่เป็น ขนไปแจกไม่ทัน และยังสร้างภาระให้อาสาสมัครที่มาช่วยลำเลียงมากๆ (ต้องดม เสียเวลาคัดทิ้ง) คนทำงานอยากได้เชือก เรือ เครื่องมือแพทย์พื้นฐาน หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ไม่ค่อยมีใครบริจาคมา มีแต่ที่ไปกองอยู่ตามหน่วยงานรัฐซึ่งทีมอาสาคนนอกจะเข้าไปขอมาใช้งานก็ยุ่งยากลำบากเหลือทน

3)คนบริจาคถือโอกาสโละเสื้อผ้าเก่าเยอะเกินจนเป็นภาระหน่วยงานที่รับบริจาค (ที่ดอนเมืองตอนน้ำท่วมกรุง ยังมีภาพภูเขาเสื้อผ้าสูงเกือบชนเพดานที่ทำการท่าอากาศยาน แล้วในที่สุดของทั้งหมดที่คัดแยกขนส่งไม่ทันก็ต้องจมหายไปกับน้ำ) สำหรับกรณีนี้ ขอบอกว่าเนปาลมีเสื้อผ้าสิ่งทอขายตามตลาดเหลือล้น ราคาถูกกว่าบ้านเราด้วย ย่านทาเมลทั้งสายถนนขายแต่เสื้อผ้าoutdoor คนไทยชอบไปหอบเสื้อ North Face ตัวละสองสามร้อยมาเป็นโหลๆ แท้รึเปล่าไม่รู้ แต่คุณภาพใช้ได้เลย.. นี่ตัวอย่างให้เห็นภาพ ไม่ต้องคิดเลยนะเรื่องบริจาคเสื้อผ้า ผ้าห่ม ให้คนเนปาล

4)การเดินทางไปช่วยด้วยตนเอง ถ้าทำอะไรไม่ค่อยเป็นก็จะกลายเป็นภาระคนอื่นเปล่าๆ และอาจเจ็บป่วยซะเองด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดน้ำดื่ม ไฟฟ้าสำหรับหุงต้ม และห้องสุขา เนปาลยามนี้คงต้องการแพทย์และทีมกู้ภัยมือโปรที่มีอุปกรณ์ติดไปด้วยมากที่สุด (เพิ่งไปมาเมื่อเดือนก่อน เห็นการขุดถนนขนหินด้วยแรงคนล้วนๆในกาฏมาณฑุแล้ว ฟันธงได้เลยว่าเครื่องมือรื้อตัดขุดเจาะจะต้องมีน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวจิตอาสามามือเปล่าที่แห่กันเข้าไป) .. ขอร้องเลย อย่าไปถ้าทำได้แค่ช่วยยกเศษซากทีละชิ้น เขามีแรงคนช่วยกันเองอยู่แล้ว แต่ต้องการเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญการกอบกู้ภัยพิบัติจ้ะ ดูนี่ซะก่อน..ชาวบ้านยังเอามือเปล่าขุดดินอยู่เลย https://www.youtube.com/watch?v=QT6HrwFR93o
แค่สองวันเริ่มมีคำเตือนแล้วว่า อย่ารีบเข้าไปโดยไม่ประสานกับหน่วยงานใดในพื้นที่ ขนาดทีมแพทย์ที่บุกไปกันเองยังหาซื้ออาหารมาเลี้ยงตัวไม่ได้ แล้วจะมีปัญญาไปช่วยใคร.. อ่านนี่ดู http://www.theguardian.com/…/earthquake-nepal-dont-rush-hel…

5)การบริจาคเงินทางหน่วยงานต่างๆ เราต้องตรวจสอบว่าจะเอาเงินไปช่วยแค่ไหนอย่างไร (เรื่องมันยาว..ไม่ขอเล่าตรงนี้ดีกว่า) ขอเสนอให้เลือกองค์กรที่ส่งจนท.เข้าไปปฏิบัติงานจริงและทันการณ์ มิฉะนั้น เงินของท่านจะกลายเป็นถนนห่วยๆ ห้องสุขาแบบราดไม่ลงในอีกสามเดือนข้างหน้า (ผลจากการเปิดประมูลงานให้พวกรับเหมาก่อสร้างไปทำแทน) แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ใช้ แถมยังติดป้ายบริจาคคิดเป็นมูลค่าแพงกว่าให้เงินเขาไปสร้างกันเองตั้งสองสามเท่าให้เจ็บใจกันอีก.. ตอนเกิดวาตภัยซัดย่างกุ้ง เนื่องจากอยู่ใกล้ๆ เรารวมเงินแลกเป็นเงินจ๊าดพม่าให้เพื่อนหอบไปซื้อหาข้าวของแถวนั้นแจกจ่ายเองกับมือเลย เพราะตอนนั้นยังไม่เปิดรับต่างชาติมากนัก กระแสข่าวสับสนจนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้จริงบ้าง

อนึ่ง มีผู้แนะนำว่า.. cr @Mattana Kettrarad
"ดังนั้น ดีที่สุดคือให้เป็นเงิน กับองค์กรที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ให้โดยตรงเลยไม่ต้องผ่านใคร จะบริจาคแค่ครั้งนี้ หรือบริจาคช่วยระยะยาวด้วยก็มี เช่น

Red Cross - http://bit.ly/1JJkmT1
GlobalGiving - http://bit.ly/1E3DCcO
The U.N. World Food Program - http://bit.ly/1bF5x9y
CARE - http://bit.ly/1HMaWsX
DOCTORS WITHOUT BORDERS - http://bit.ly/1DqdR2F
Oxfam - http://bit.ly/1zZeobH

ลองใช้ charitynavigator.org เช็คดูก็ได้ค่ะว่าองค์กรไหนน่าเชื่อถือบ้าง
พวกเลขบัญชีอ้างว่าของกาชาดบ้างอะไรบ้างที่ส่งกันทาง LINE ให้ตรวจเช็ค
ดีๆกับ website หรือ fb องค์กร หรือโทรไปถามให้แน่ใจนะคะ

พวกเรามีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น