...+

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แวกซ์เคลือบผลไม้....อันตรายไหม

แวกซ์เคลือบผลไม้....อันตรายไหม
แวกซ์จัดเป็นสารประเภทไข ที่ใช้สำหรับเคลือบผิว ผลไม้ต่าง ๆ แวกซ์หรือสารเคลือบผิวที่ใช้กันเป็นหลักนั้น มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. แวกซ์จากธรรมชาติ ได้มาจากพืช เช่น แวกซ์คาร์นาวบา (Carnuaba Wax หรือ Brazil Wax) เป็นแวกซ์ที่สกัดมาจากใบของต้น
ปาล์ม และแวกซ์ที่ได้มาจากสัตว์ เช่น สารไคโตซาน (Chitosan) ที่สกัดได้จากกระดองของปู กระดองของหมึก และเปลือกของกุ้ง บีแวกซ์ (Bee Wax) ได้มาจากขี้ผึ้ง มูลครั่ง หรือ เชลแลค (Shellac)
ในปัจจุบันส่วนใหญ่แวกซ์ที่นำมาใช้ในการเคลือบผิวผลไม้ ผัก ที่นิยมกันมากในประเทศต่าง ๆรวมทั้งประเทศไทย คือ เชลแลค เกรดอาหาร ซึ่งเป็นสารประเภทไข สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย
2. แวกซ์จากสารสังเคราะห์ เป็นแวกซ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นแวกซ์ที่รับประทานได้ เช่นกัน เช่น พอลิเอทิลีน แวกซ์ (Polyethylene Wax) พอลิเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene glycol)
แวกซ์ที่ได้จากธรรมชาติ และ จากสารสังเคราะห์ ดังกล่าวนี้ เป็นแวกซ์ที่รับประทานได้ ซึ่งได้การรับรองจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา USFDA (US Food and Drug Administration) ให้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารประเภท GRAS (Generally Recognized As Safe) ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภค และสามารถเติมลงไปในอาหารได้ เช่นเดียวกับน้ำส้มสายชู เครื่องเทศและสมุนไพรต่าง ๆ
ในประเทศไทยที่มีการใช้แวกซ์เพื่อเคลือบ ผลไม้ ผัก นั้น ดำเนินการควบคุมการผลิตภายใต้ข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร GMP (Good Manufacturing Practice) และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ผลไม้ ผัก ที่นำมาแวกซ์หรือเคลือบผิวนั้น จะต้องล้างจนมั่นใจได้ว่าสะอาดเป็นอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน ยาฆ่าแมลง หรือ จุลินทรีย์ต่าง ๆ ตกค้างอยู่บนผิว เพราะแวกซ์จะเคลือบกักสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเอาไว้ด้วย การแวกซ์ทำได้โดยการพ่นฝอยหรือจุ่มลงในสารเคลือบผิวซึ่งสามารถเคลือบเป็นชั้นฟีล์มบาง ๆ ในทางปฏิบัตินั้นการแวกซ์เคลือบผลไม้ ผัก ใช้สารเคลือบผิวในปริมาณที่น้อยมาก ๆ ที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง โดยมีข้อมูลว่าใช้แวกซ์เพียงครึ่งกิโลกรัม สามารถเคลือบผิวของแอปเปิลได้นับหมื่น ๆ ผล
ผลไม้บางชนิดรับประทานทั้งเปลือก เช่น สตรอเบอรี่ องุ่น แอปเปิล ฯลฯ เพื่อให้ได้คุณค่าจากใยอาหาร สารพฤกษาเคมีต่าง ๆ สามารถทำความสะอาดได้โดยล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือล้างในน้ำอุ่น ๆ ดังนั้นการรับประทานผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิลแดง ที่มีความเป็นมันเงานั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยคิดกันว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ก็รับประทานได้อย่างปลอดภัย..
ข้อมูล โดย สุนทร ตรีนันทวัน
ผู้เชี่ยวชาญสาขาเทคโนโลยีการศึกษา สสวท.
สอบถามเพิ่มเติม E-mail : strin@ipst.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น