...+

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการใช้ลมหายใจ

วิธีอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการใช้ลมหายใจ

ลมหายใจไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น หากยังสามารถพาเราเข้าถึงความสงบได้ด้วย ทุกครั้งที่เราหายใจเข้า มิใช่ออกซิเจนเท่านั้นที่ถูกลำเลียงไปเลี้ยงร่างกาย หากเราวางใจเป็น ลมหายใจเข้ายังนำความสงบเย็นไปบำรุงจิตใจเราด้วย ขณะเดียวกันลมหายใจออกสามารถระบาย ความหม่นหมองขึ้งเครียดออกไปจากใจของเราได้อีกต่างหาก แต่ความจริงดังกล่าวมักถูกมองข้ามไปคนส่วนใหญ่จึงหายใจแบบทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างน่าเสียดาย

ความสงบสามารถบังเกิดกับเราได้ไม่ยาก เพียงแค่น้อมจิตมาอยู่กับลมหายใจทั้งเข้าและออกอย่างต่อเนื่อง จะปิดตาด้วยก็ได้ พร้อมกับผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ท่าที่ดีคือท่านั่งขัดสมาธิ แต่หากร่างกายไม่อำนวยก็ขอให้นั่งในท่าที่สะดวกที่สุด หรือนั่งเก้าอี้ โดย ไม่เอนกายพิงกับพนักหรือเสา หาไม่จะง่วงหลับได้ง่าย

ทำใจให้สบาย ยิ้มน้อยๆ ขณะเดียวกันก็วางความคิดต่างๆเอาไว้ชั่วคราว ไม่ว่าเรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือที่ยังมาไม่ถึง อย่าเพิ่งเอามาเป็นกังวลขอให้ถือว่าลมหายใจเข้าและออกเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในขณะนี้ แต่ก็อย่าเผลอ ไปบังคับลมหายใจ ให้หายใจอย่างสบายๆ เป็นธรรมชาติ อย่าไปคาดหวังอะไรกับลมหายใจทั้งสิ้น

มีหลายวิธีในการน้อมจิตมาอยู่กับลมหายใจ เช่น ตามลมหายใจเข้าตั้งแต่ปลายจมูกไปจนสุดที่อกหรือช่องท้อง แล้วตามลมหายใจออกจนไปสุดที่ปลายจมูก โดยมีการนับทุกครั้งที่หายใจออก ตั้งแต่ 1 ไปถึง 10 แล้วเริ่มต้นใหม่ หากเผลอไป จำไม่ได้ว่านับถึงไหน ก็เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ แต่บางคนก็นิยมใช้คำบริกรรมควบคู่ไปด้วย เช่น หายใจเข้าก็นึกถึง “พุท” หายใจออกก็นึกถึง “โธ”

อีกวิธีหนึ่งก็คือ เพียงแต่รับรู้ถึงลมสัมผัสที่ปลายจมูกทั้งเข้าและออก โดยไม่มีการนับหรือบริกรรมใดๆ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญอยู่ที่การวางใจให้เป็นกล่าวคือ ไม่บังคับจิตจนเกินไป ควรมีความนุ่มนวลอ่อนโยนกับจิต ไม่พยายามกดหรือห้ามความคิด เมื่อเผลอคิดไป ไม่ว่าไปไกลแค่ไหน ทันทีที่รู้ตัวก็ให้พาจิตกลับมาที่ลมหายใจ โดยไม่ต้องไปสนใจกับความคิดดังกล่าว รวมทั้งไม่ไปพยายามหยุดมันด้วย ทันทีที่จิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ ความคิดเหล่านั้นก็จะสลายไปเอง

ใหม่ๆ อาจมีความคิดฟุ้งซ่านมากมาย ก็ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปหงุดหงิดกับใจของตัว แต่ถ้าหงุดหงิดก็ให้รู้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับใจก็รู้อยู่เสมอ ไม่ว่าบวกหรือลบ ผ่อนคลายหรือตึงเครียด ข้อสำคัญคืออย่าให้ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ดึงจิตออกไปจากลมหายใจ หากใจอยู่เคียง
คู่กับลมหายใจกันอย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดความสงบในที่สุด

หากคุ้นเคยกับลมหายใจจนเป็นนิสัย ลมหายใจจะเป็นที่พักพิงอย่างดีของจิตในยามที่ถูกพายุอารมณ์เล่นงาน เช่น ขณะที่กำลังโกรธ หงุดหงิด เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ เศร้าโศก ให้กลับมาที่ลมหายใจทันที ช่วงแรกอาจหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สัก 5-10 ครั้ง เมื่อตั้งหลักได้ ก็เพียงแต่รับรู้เบาๆ ถึงการเคลื่อนหรือสัมผัสของลมหายใจ จะทำนานเท่าใดก็ได้สุดแท้แต่ใจต้องการ

ไม่ว่าอยู่บ้านหรือในที่ทำงาน หากมีเวลาว่าง แทนที่จะปล่อยใจลอยหรือหายใจรดทิ้งไปเปล่าๆ ไม่ดีกว่าหรือหากจะหันมาใส่ใจกับลมหายใจของเราดูบ้าง ยิ่งถ้ากำลังนั่งรถหรือคอยใครอยู่ แทนที่จะปล่อยเวลาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ การฝึกใจให้รู้ตัวกับลมหายใจคือการใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าที่สุด แต่ถ้าวุ่นจนลืมทำ ก่อนนอนและตอนตื่นนอนก็ควรหาเวลาทำ 5-10 นาทีก็ยังดี

พระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น