...+

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

เหตุใดจึงต้องทำทาน

เหตุใดจึงต้องทำทาน

ใน เนมิราชชาดก

พระอินทร์ได้ทรงเล่าเรื่องของพระองค์เองว่า ได้เคยประกอบทานอันยิ่งใหญ่ เมื่อชาติที่เกิดเป็นพระราชาแห่งพาราณสี

ได้ทรงถวายอาหารแก่นักพรตที่อยู่บริเวณแม่น้ำสีทา เป็นจำนวนหมื่นรูป ได้รับกุศลยิ่งใหญ่แต่ก็เพียงแต่ได้เกิดในเทวโลกเท่านั้น

ส่วนบรรดานักพรต ที่ประพฤติพรหมจรรย์เหล่านั้น ล้วนได้ไปเกิดในพรหมโลก อันเป็นแดนที่สูงกว่าและมีความสุขสงบอันบริบูรณ์กว่า

แต่แม้ว่าพรหมจรรย์จะ ประเสริฐกว่าทาน พระอินทร์ก็ได้ ทรงเตือนให้พระเจ้าเนมิราชทรงรักษาธรรมทั้งสองคู่กันคือ บริจาคทานและรักษา ศีล

***********************************
ใน อาทิตตสูตร

เทวดาองค์หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้กล่าวคาถาว่า

เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา

ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด ฯ

โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควรนำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุ

ที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ฯ

ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ ย่อมไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น

โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ ฯ

อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วยตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและ ให้ทาน ฯ

เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึงสถานที่อันเป็นสวรรค์ ฯ

*********************
ใน นิทานกถา

สุเมธดาบส ถือกำเนิดในตระกูลที่ทั้งทางฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ร่ำรวยนับได้เจ็ดชั่วตระกูล ใครจะดูถูกมิได้

ศึกษาศิลปะศาสตร์ทุกแขนง จนเมื่อบิดาและมารดาได้ถึงแก่กรรมในตอนที่เขายังรุ่นหนุ่ม.

อำมาตย์ผู้จัดการผลประโยชน์ นำเอาบัญชีทรัพย์สินมา เปิดห้องคลังสมบัติที่เต็มไปด้วย ทอง เงิน แก้วมณี และแก้วมุกดา เป็นต้น

บอกให้ทราบถึงทรัพย์ตลอดเจ็ดชั่วตระกูลว่า ข้าแต่กุมาร ทรัพย์สินเท่านี้เป็นของมารดา เท่านี้เป็นของบิดา เท่านี้เป็นของปู่ตาและทวด

สุเมธบัณฑิตคิดว่า ปู่เป็นต้นของเราสะสมทรัพย์มากไว้ถึงปานนี้ แต่เมื่อสิ้นชีพไปแล้วไม่สามารถถือเอาทรัพย์นั้น แม้กหาปณะเดียวติดตัวไปได้

ดังนั้น เราควรกระทำเหตุที่จะทำให้ถือเอาทรัพย์ไปด้วยได้. ดังนี้แล้วได้กราบทูลแด่พระราชา ให้ตีกลองป่าวร้องไปทั่วพระนคร ว่าจักให้ทรัพย์ทั้งหมดเป็นทานแก่มหาชน แล้วจักออกบวชเป็นดาบส

*****************

อานิสงค์ของทาน

ใน ทานานิสังสสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทานไว้ ๕ อย่างคือ

๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว
๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด
๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

******************
ใน ทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้
ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์
มาก ไว้ดังต่อไปนี้

๑. บุคคลบางคน ให้ทานด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้
เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลก
แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๒. บุคคลบางคนให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้
เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว
ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๓. บุคคลบางคนให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร
ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็
กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๔. บุคคลบางคน ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร
ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว
ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๕. บุคคลบางคน ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว
เขาตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความ
เป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๖. บุคคลบางคน ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้วจิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้
ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้
ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของ
สมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดใน
พรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิด
ในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิด
ที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้

ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์
มากด้วย เพราะทำให้หมดจดจากกิเลส

ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก

********************
ใน ทานสูตร

โลกุตตรธรรม (มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน) เป็น นิปปริยายธรรม
(ธรรมโดยตรง เป้าหมายหลักโดยตรง)

การให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญฌานสมาบัติ การฟังธรรม ศึกษาเล่าเรียนสอบถาม มนสิการต่างๆ โดยชอบ

เพื่อเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผล เป็นกุศลธรรมที่อิงอาศัยวิวัฏฏะ เรียกว่า ปริยายธรรม (ธรรมเพื่อไปให้ถึงธรรมโดยตรง)

มนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ เป็น นิปปริยายอามิส (อามิสโดยตรง)
การทำกุศลที่นำไปสู่วัฏฏะ เช่น ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญฌานสมาบัติเพื่อมุ่งหวังความเป็นเศรษฐีบ้าง (มนุษย์สมบัติ) ทิพยสมบัติบ้าง (เทวสมบัติ) แล้วตั้งความปรารถนานั้นๆ เป็นกุศลธรรมที่อิงอาศัยวัฎฎะ เรียกว่า ปริยายอามิส(กระทำเพื่อให้ไปถึงอามิสนั้นๆ) ไม่ใช่ปริยายธรรม เพราะตั้งใจปรารถนาอามิส ไม่ได้ตั้งใจปรารถนาโลกุตตรธรรม

การให้ทานแบบหวังผลเพื่ออามิสดังกล่าว จัดเป็นการให้ทานที่มีลำดับต่ำสุด
ในบรรดาทานทั้งหลาย ในทานสูตร (แต่ก็มีข้อดีคือ ดีกว่าไม่ให้)

แต่ข้อเสียมีมากกว่าคือ เมื่อเห็นว่าความร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง หรือการได้อุบัติ
เป็นเทพบุตรหรือเทพธิดานั้น เป็นสุดยอดความปรารถนาแล้ว เมื่อได้สมปรารถนา
ก็จะไม่สนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนาเลย จะเพลิดเพลินด้วยความประมาท
จนหมดอายุขัย แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น