...+

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความงอน ขี้น้อยใจ "จึงไปทำบาป" แล้ว "ล้างบาป" ได้ไหมหนอ ?

ความงอน ขี้น้อยใจ "จึงไปทำบาป" แล้ว "ล้างบาป" ได้ไหมหนอ ?

นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๒๐๘
ประจำวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

งอนให้ได้อะไร?
ทุกครอบครัวมีขี้งอนหมายเลขหนึ่งประจำบ้าน
แล้วก็ไม่แปลกถ้าจะเป็นคนเดียวกัน
กับจอมอมทุกข์หมายเลขหนึ่งของบ้านด้วย

อาการงอนเก่งเป็นกันได้แต่เด็ก
แต่ส่วนใหญ่โตขึ้นแล้วจะค่อยยังชั่วขึ้นเรื่อยๆ
เพราะระบบวิธีคิดเป็นเหตุเป็นผล
เริ่มเข้ามาแทนที่ความไร้ระเบียบทางอารมณ์
ทว่าก็มีคนอยู่ส่วนหนึ่ง
ที่ปล่อยให้ความไร้ระเบียบทางอารมณ์
พัฒนาเข้มข้นขึ้น เท่ากับหรือแซงหน้าระบบความคิด
จึงน้อยใจง่าย งอนบ่อย ไม่ต่างจากเมื่อครั้งยังเล็ก

คนแปลกหน้าสองคนมาจับคู่อยู่ด้วยกัน
แม้มีความรัก ความเข้ากันได้ เป็นแรงดึงดูด
แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างแสนงอน
โอกาสเลิกกันเร็วก็มีสูง แม้ยังรักกันมากอยู่
เพราะไม่มีใครอยากง้อ มีแต่คนอยากถูกง้อ

ต้องมีฝ่ายหนึ่งหนักแน่น
โอกาสเลิกกันช้าจึงเป็นไปได้
หรือถ้าต่างฝ่ายต่างหนักแน่น
โอกาสไม่เลิกกันเลยค่อยมากหน่อย

คนเจ้าอารมณ์ งอนหนัก น้อยใจเก่ง
มักเชื่ออารมณ์มืด ความรู้สึกจี๊ด อาการคันอกคันใจ
ปักใจเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทน
เป็นเรื่องยากเกินกำลังที่จะฝืนใจตัวเอง
หรือหมดหนทางเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้นแล้วตลอดชาติ
ขนาดบางคนเป็นนักคณิตศาสตร์
ต้องทำงานเกี่ยวกับเหตุผลโดยตรง
ก็ยังคงความเป็นสมาชิกพรรคแสนงอนตลอดชีพได้

แท้จริงทุกสิ่งมีคู่ปรับ
เพียงทำความเข้าใจว่า
อาการงอนแบบไม่สมเหตุสมผลนั้น
มีสาเหตุสำคัญจากการดิ่งไปในโทสะ
อยากได้แล้วไม่ได้ คาดหวังแล้วผิดหวัง
อยากใกล้แล้วกลับห่าง
ชอบกำมือยึด แล้วถูกฝืนใจแกะมือปล่อย
แต่ขอเพียงมีเครื่องถอนจิตจากหล่มลึกของโทสะได้
อาการคุกรุ่น แน่นอก ร้อนใจทั้งปวง ก็ค่อยๆคลายลงเอง

อุบายง่ายๆที่ถ้า ‘ทำทุกครั้ง’
ก็จะถอนรากถอนโคนนิสัยขี้งอนได้ทีละน้อย
คือ หาความสุขมาแทนที่ความทุกข์
โดยสร้างอารมณ์เมตตาขึ้นแทนที่อารมณ์พยาบาท
หรือเข้าโหมดคิดเป็นเหตุเป็นผลดีๆ
แทนโหมดจมอารมณ์ลบร้ายๆ

ความสุขอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
แค่ฝึกหายใจอย่างมีความสุข
นึกถึงลมหายใจอันยืดยาวแสนสบายให้เป็น
เพียงครั้งเดียวก็ค่อยยังชั่วขึ้นได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
และถัดจากลมแสนสุขนั้น แม้กลับมาเป็นทุกข์อีก
ก็แค่ยอมรับไปว่าลมหายใจนั้นเป็นทุกข์
อาการยอมรับจะช่วยให้เกิดสติ
แล้วรู้สึกมีแก่ใจ
สังเกตลมหายใจแห่งความสุข
ที่อาจมีมาในเฮือกต่อไปได้ไม่ยาก

หรือถ้าหากอยู่ในสถานที่เหมาะ
หากจะเว้นวรรคอาการงอนยาวๆ
ก็อาจสวดอิติปิโส ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
คิดว่าการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาคือความสุข
การสวดมนต์เต็มปากเต็มคำหลายๆรอบ
ก็เหมือนการเติมใจให้เต็มด้วยความสุข
เมื่อสวดเสร็จ หากรู้สึกว่าใจดี สะอาด สว่าง ไม่ทึบแล้ว
ก็อธิษฐานว่า ขอให้บุญกุศลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนนี้
ถมใจให้เต็ม อย่าได้น้อยใจง่าย
เมื่อสวดหลายรอบ อธิษฐานหลายเดือน
ก็จะรู้สึกว่าผีขี้งอนเลิกสิงสู่อยู่ในตน
เห็นว่าไม่มีใครได้อย่างใจอยู่ตลอดเวลา
คนอื่นเขาก็ตะเกียกตะกายแก้ปัญหาให้ตัวเองอยู่
หรือกระทั่งอยากให้ใครต่อใครมาเอาใจเหมือนกัน
น้อยใจเป็นเหมือนกัน งอนได้เหมือนกัน
ลดความทุกข์ให้กับโลก
ด้วยการถอนอาการขี้งอนของตัวดีกว่า

ดังตฤณ
กันยายน ๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น