ข้อเขียนของวินทร์ เลียววาริณมีความลึกซึ้งและให้ข้อคิดแก่เราได้มาก หลายคนคงชอบอ่านนะครับ ผมคนหนึ่งละที่เป็นแฟนคลับแบบเงียบๆ ชอบอ่านในwww.winbookclub.comครับ วันนี้ขอนำข้อเขียนดีๆเรื่องหนึ่งมาฝากเพื่อนๆ...ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://khrufonlpmp.blogspot.com ครับ
@ ระนาบที่สี่ของชีวิต
วิชาเรขาคณิตเป็นองค์ความรู้ของชาวกรีกโบราณเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสต์กาล ตัวการใหญ่ที่ทำให้เราต้องท่อง “เส้นตรงเส้นหนึ่งตั้งอยู่บนเส้นตรงอีกเส้นหนึ่ง มุมประชิดรวมกันเท่ากับสองมุมฉาก” ฯลฯ ก็คือ ยูคลิดแห่งอเล็กซานเดรีย บิดาแห่งวิชาเรขาคณิต
เรขาคณิตมาจากคำกรีก geometry
geo แปลว่า โลก, metry หรือ metron แปลว่า การวัด
วิชาเรขาคณิตชี้ว่าโลกและจักรวาลมีระนาบสามด้านคือ กว้าง ยาว ลึก สามระนาบนี้ก่อให้เกิดสามมิติของสรรพสิ่ง
แต่ผ่านไปสองพันกว่าปี ก็มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งชื่อไอน์สไตน์คิดพิเรนทร์อะไรก็ไม่รู้ บอกว่าเรขาคณิตแห่งโลกและจักรวาลมีมากกว่าสามมิติ
มิติที่ 4 คือเวลา สอดแทรกเกี่ยวร้อยสามระนาบแรกนั้นเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน เรียกว่า space-time เปรียบเสมือนสายใยผืนผ้าที่บิดไขว้ไปมา มีรูปทรงไม่แน่นอน บางคนจึงเรียกมันเท่ๆ ว่า fabric of cosmos ไอน์สไตน์รอดตัวไปเพราะเราสามารถพิสูจน์การดำรงอยู่ของ space-time ได้
ในแนวคิดของตะวันออก สามมิติเป็นจำนวนระนาบน้อยที่สุดที่ยังรักษาความสมดุลได้ เราไม่อาจสร้างโต๊ะหรือเก้าอี้ที่มีขาน้อยกว่าจำนวน 3 จีนโบราณนิยมสร้างโต๊ะสามขา เก้าอี้สามขา กระถางสามขา จอกเหล้าสามขา เป็นการออกแบบสไตล์ Minimalism จริงๆ
ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกัน ชีวิตที่สมดุลต้องมีอย่างน้อยสามระนาบ : ยาว กว้าง และลึก
‘ยาว’ คือเส้นทางเดินของชีวิตจากวันเกิดจนวันตาย จากจุด ก. ไปยังจุด ข. ค. ง. จนไปถึงจุดที่สิ้นสุดลมหายใจในโลกนี้
‘ยาว’ เริ่มที่การเกิด การเรียนหนังสือ การทำงาน การสร้างครอบครัว และความตาย
นี่คือชีวิตเป็นเส้นตรง
‘กว้าง’ คือระยะของทัศนคติของเรา คือการเรียนรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีแค่การเดินไปถึงจุดหมาย หรือเดินทางจากวันเกิดไปถึงวันตาย ชีวิตยังมีด้านของการแสวงหาความรู้อื่นๆ งานอดิเรก การช่วยเหลือคนอื่น กิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เราขยายโลกทรรศน์ของเรา
เราอาจมีวิชาความรู้อย่างเดียว ก็ใช้หากินอย่างเดียวไปจนวันตายได้ แต่เพียงเท่านี้ไม่อาจทำให้เป็นชีวิตที่กว้างพอ
นี่คือชีวิตเป็นเส้นโค้ง
‘ลึก’ คือการค้นหาคุณค่าบางอย่างที่เสริมจิตวิญญาณเรา บางอย่างที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า มันอาจนำพาเราไปสู่โลกแห่งสันติสุขทางใจ หรือความสงบ ความพอดี ความงาม สมาธิ ปัญญาเชิงลึก
นี่คือชีวิตทางดิ่ง
สามระนาบก่อให้เกิดสามมิติของชีวิต เรียกว่าชีวิตที่สมดุล มันรวมความต้องการตามธรรมชาติ, จุดหมายของปัจเจก และสันติแห่งชีวิต
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการมองโลกและชีวิตแบบสามมิติหรือสามระนาบ
แต่หากใช้แว่นขยายส่องลึกเข้าไปอีก อาจพบอีกมิติหนึ่งซ่อนอยู่ มิตินี้เชื่อมทั้งสามมิติแห่งชีวิตเข้าเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน
หากเวลาเป็นตัวเชื่อมสามมิติเป็นเนื้อเดียวกันตามโมเดลเรขาคณิตของโลกและจักรวาล มิติที่ 4 ที่ประสานสามระนาบของชีวิตเข้าด้วยกันก็คือความเมตตาและความรักสากล เป็นสายใยที่เชื่อมสรรพชีวิตเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน
เราอาจเรียกมันเท่ๆ ว่า fabric of life - สายใยแห่งชีวิต
คำถามคือ เพียงสามมิติหรือสามระนาบ เราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ แล้ว ทำไมต้องมีระนาบที่สี่ด้วย?
คำตอบคือเพราะเราไม่ใช่สายพันธุ์เดียวในโลกและจักรวาล
และเพราะเรามาทีหลังเขาตั้งนาน!
ในระยะเวลาเพียงไม่กี่พันปีของอารยธรรมมนุษย์ ด้วยวิธีคิดที่มองว่ามนุษย์สำคัญที่สุดและมนุษย์ต้องมาก่อน เราทำลายชีิวิตอื่นๆ รอบตัวเราไปนับไม่ถ้วน เราเปลี่ยนทิศโลกไปในทางที่สร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งพืช สัตว์ และแม้กระทั่งมนุษย์ด้วยกันเอง เราเป็นผู้สร้างระบบทาสขึ้นมาใช้ต่อทั้งคนและสัตว์ ทุกอย่างทำบนข้ออ้างว่าสร้าง ‘สิ่งที่ดีกว่า’ เพื่อชีวิตมนุษย์ และในตอนจบวัน เราก็บอกอย่างภาคภูมิใจว่า เราใช้ชีวิตคุ้ม
เราสอนเด็กๆ ในโรงเรียนว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ” เด็กๆ ก็ท่องจำมาตลอดว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ” แต่มันก็อาจเป็นมิจฉาทิฐิที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ
เมื่อยึดเอาผลประโยชน์ของเราเป็นหลัก กรอบความคิดของเราก็อยู่แค่ในสามระนาบนี้เท่านั้น
หลายคนอาจมองว่า ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องปลูกต้นไม้ หรือสนใจความเป็นตายร้ายดีของป่า สัตว์ป่า แม่น้ำ ลำธาร ภูเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา การสูญเสียป่าสร้างเพื่อเขื่อนหรือทำไร่ก็เป็นแค่ 'ค่าใช้จ่าย' ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ระบบของโลกและจักรวาลไม่ได้ทำงานโดยที่แต่ละจุดเป็นเอกเทศของมัน ระบบของโลกและจักรวาลทำงานแบบทุกจุดเชื่อมต่อกัน จุดใดจุดหนึ่งพัง ก็กระทบต่อจุดอื่น เป็น Butterfly Effect
การสิ้นสุดของพืชสัตว์บางสายพันธุ์ การทำลายลำคลองสักสายสองสายหรือป่าสักผืน อาจดูห่างไกลตัว แต่ช้าหรือเร็ว ตรงหรืออ้อม มันจะส่งผลกระทบถึงเราจนได้
ปราศจากสายใยแห่งความเมตตา เราก็เป็นเพียงเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่เกิดมา กิน อยู่ สืบพันธุ์ ป่วย แล้วตายไป ไม่มีความหมายใดต่อโลก และว่าก็ว่าเถอะ หากพระแม่ธรณีมีชีวิตและความรู้สึก ก็คงอยากบอกว่า “ลูกคนนี้ไม่เกิดมาดีกว่า”
ทุกๆ สายพันธุ์ในโลกเกิดมามีหน้าที่เฉพาะตัวของมัน แมลงผสมเกสร ต้นไม้ให้อาหารแก่สัตว์ ขี้สัตว์เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ซากศพสัตว์เป็นอาหารให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ แม้แต่แบคทีเรียก็มีหน้าที่ของมัน ไม่มีอะไรสูญเปล่าหรือไร้ประโยชน์ ส่วน ‘สัตว์ประเสริฐ’ อยู่เหนือห่วงโซ่อาหาร อยู่เหนือระบบ และทำลายระบบ
ดังนั้นการบอกว่าเรารักโลกจึงอาจเป็นแค่คำพูดสวยหรู หากเรายังใช้ชีวิตเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่แยแสชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ตั้งแต่ต้นไม้ พืชพรรณ สัตว์ แบคทีเรีย
เมื่อปราศจากความเข้าใจระบบของโลกและจักรวาล เราก็ขาดความเมตตาต่อกัน และเมื่อปราศจากความเมตตาและความรักต่อสรรพสิ่ง เราก็เป็นเพียงความผิดพลาดของการรวมกันของเส้นชีวิตไม่สมบูรณ์สามเส้น
วินทร์ เลียววาริณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น