...+

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ต้องเรียนรู้ “วิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต” ไปพร้อมๆ กัน





การเรียนรู้ให้ชีวิตสมบูรณ์

ต้องเรียนรู้ “วิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต” ไปพร้อมๆ กัน



                พุทธศาสนา เป็นเรื่องของการศึกษาค้นคว้า ต่อยอดความคิดสู่ปัญญา แทนที่จะทำโรงเรียนเป็นแหล่งศึกษาเฉพาะวิชาการ แต่เสริมให้พุทธศาสนาเข้ามามีส่วนในการฝึกหัดขัดเกลา ในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม กิริยามารยาทดีงาม มีความคิดดี ดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เรียกว่าบ่มเพาะอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้ง “วิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต” ไปพร้อมๆ กัน

                ดร.วิทิต รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ผู้บุกเบิกโรงเรียนแนวคิดใหม่ ที่นำเอาหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการสอนวิชาที่เรียกว่า “วิชาชีวิต” ให้กับนักเรียน ควบคู่กับการเรียนการสอนด้านวิชาการในโรงเรียนปัญญาประทีป  ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแบบสหศึกษา ปัจจุบันเปิดสอนมาได้ 2 ระดับชั้น คือ มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2



อะไรคือ “วิชาชีวิต”

                “วิชาชีวิต” ที่กล่าวนี้คือ การเรียนรู้ที่นำพุทธปัญญามาเป็นหลัก ให้ผู้เรียนสามารถเป็นที่พึ่งตนเอง เน้นย้ำลักษณะธรรมชาติของการพัฒนาคนที่ต้องเป็นระบบองค์รวม เน้นการพัฒนาชีวิตทั้งชีวิตให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ ต่างจากการศึกษาในปัจจุบันทั่วไปที่เป็นแบบแยกส่วน เน้นความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นเป้าใหญ่ ใช้การแข่งขันเพื่อชนะกันเป็นสำคัญ

                “ทุกวันนี้สังคมไทยมีความแตกแยกกันสูง ขาดความสงบร่มเย็น ผู้คนทุกข์เดือดร้อนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ คุณธรรมในสังคมเสื่อมลง การศึกษาที่มุ่งผลิตกำลังคนเพื่อรับใช้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เน้นเอาชนะผู้อื่นเพื่อให้ตนเองได้บริโภคมากที่สุด ผู้คนแยกไม่ออกแยกไม่เป็นว่าอะไรผิดอะไรถูก เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน คุณธรรมของสังคมจึงเสื่อมลงไปมาก”

                การศึกษาที่ดีจะต้องดูแลตั้งแต่เด็กเป็นต้นมาในแนวทางที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นผู้แสดงโลก โลกที่เด็กเห็นจะสวยงามมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่แสดงให้เด็กเห็น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากนั้นก็เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่มีวันจบสิ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ คุณธรรม การเอาตัวรอด ความสามารถพึ่งพาตนเอง การเรียนรู้ที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม

                โรงเรียนปัญญาประทีปจะเน้นการสอน ตามหลัก “ภาวนา 4” ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตการจัดการศึกษาที่ต้องครบถ้วนทั้ง กาย ศีล จิต ปัญญา เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้เข้าใจความเป็นจริงของความเป็นไปของชีวิต

                กล่าวคือ ในเรื่อง “กาย” จะสอนให้นักเรียน “กิน อยู่ ดู ฟัง คิด และสื่อสาร” ให้เป็นและถูกต้อง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทางวิชาการ

“ศีล” เน้นฝึกหัดขัดเกลาในการรักษาศีลให้ได้ โดยไม่เบียดเบียนทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น สอนให้สื่อสารกับคนรอบข้างและคำนึงถึงความรู้สึกผู้อื่น

“จิต” จะสอนให้ดำรงตนอยู่อย่างมีความสุขง่ายๆ มีทุกข์ได้ยาก หรือมีสุขให้ง่ายและมีสุขให้เป็น ไม่เรื่องมาก เพราะทุกอย่างมีข้อจำกัด แต่ทำอย่างไรที่จะอยู่ในข้อจำกัดนั้นได้อย่างมีความสุข

ส่วน “ปัญญา” จะสอนให้คิดเป็นและคิดดี

นอกจากนั้นยังใช้หลัก “อริยสัจ 4” เป็นแนวทางในการฝึกฝนนักเรียนให้รู้จักแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นเหตุจนกระทั่งปัญหาคลี่คลายไปด้วยวิธีคิด วิธีพูด และวิธีทำ ที่ต้องดีทุกวิธีการ

                สำหรับวิธีการติดตามประเมินผลของโรงเรียน จะใช้หลัก “เพียร 4” คือ สิ่งใดดีแล้วให้รักษาไว้ สร้างสิ่งดีที่ยังไม่มีให้มีขึ้น ลดละสิ่งไม่ดีที่ทำอยู่ให้หมดไป และป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น

ความสำคัญของการศึกษาที่โรงเรียนปัญญาประทีป ที่ไม่ละเลยคือ การพัฒนาครูและผู้ปกครอง ให้สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับนักเรียนได้ การศึกษาแนวนี้จึงต้องให้ความรู้และพัฒนาผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาควบคู่ไปกับการให้การศึกษาแก่นักเรียน  จึงเป็นที่มาของ “ห้องเรียนพ่อแม่” ซึ่งเป็นแนวการเรียนรู้ให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน  ให้สิ่งที่โรงเรียนสอนเป็นแนวเดียวกับที่บ้านสอน

ทั้งนี้โรงเรียนปัญญาประทีปจะเข้มข้นในเรื่องการคัดเลือกนักเรียนที่จะเข้ามาเป็นนักเรียน  โดยก่อนจะรับต้องมีการสอบ การเรียนและสอนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อนำความรู้เบื้องต้นในการสอนเด็กให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่โรงเรียนสอน  รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน  เพื่อเวลาลูกกลับบ้านจะได้ไม่ต้องปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิตที่โรงเรียนอยู่อีกอย่างแต่ที่บ้านต้องทำตัวอีกอย่างซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผล

คุณพัชนา  มหพันธ์ หรือ ครูแจ๊ด  เล่าว่า การทำให้วิถีพุทธถูกนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  ทั้งตัวเด็กนักเรียนเองและผู้ปกครอง  ทางโรงเรียนปัญญาประทีป จึงมีนโยบายจัดให้ผู้ปกครองปฏิบัติธรรม เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ถูกต้องและดีงาม สามารถนำธรรมะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงกับตนเอง ครอบครัว และการงานได้

“คนเรามีการสอนให้เรียนหนังสือ ฝึกอาชีพให้หาเงิน แต่ไม่มีการเรียนวิชาการเป็นพ่อแม่ ว่าเมื่อมีลูกจะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้อย่างไร  หรือเมื่อมีลูกก็ไม่มีวิชาสอนว่าการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่เป็นอย่างไร มีเพียงการบอกเล่าสืบต่อกันมา และส่วนใหญ่ทุกวันนี้นำตำราของต่างชาติมาสอนให้พ่อแม่ปฏิบัติต่อลูกแบบผิดๆ ซึ่งมีแต่จะนำพาให้เสื่อมลงทุกวัน  ยกตัวอย่างการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ในเมืองใหญ่ ที่สอนให้ลูกไม่สามารถทำอะไรได้เอง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ก็เท่ากับว่ากำลังรังแกลูกตัวเอง”

ครูแจ๊ด ยังบอกอีกว่า  ทางโรงเรียนปัญญาประทีป มีความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาที่จะพาให้นักเรียนทุกคน ทั้งครู พ่อ แม่ และเด็ก ได้มีโอกาสเรียนรู้เข้าใจความเป็นคน  เพื่อพัฒนาตนสู่ทิศทางการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเมื่อจุดตั้งต้นของชีวิตคนเริ่มตั้งแต่ก่อนเป็นทารกน้อย การศึกษาที่สำคัญที่สุดจึงเริ่มที่ “บ้าน” ไม่ใช่ “โรงเรียน”

ภายในพื้นที่ของโรงเรียน  เราได้ชมกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียน ตั้งแต่การเรียนการสอนในห้องเรียน ที่มีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 การเข้าไปชมห้องสมุด ห้องปฏิบัติการภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ศาลาสั่งสอนและสนธนาธรรม  แปลงปลูกพืชผัก  แหล่งเรียนรู้การทำนา  ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงสัตว์  เลี้ยงใส้เดือน  ห้องฝึกอาชีพทำไม้  การทำไบโอดีเซล  การทำน้ำหมักชีวภาพ  การทำสารไล่แมลงและปลวก เป็นต้น  นอกจากนั้นภายในโรงเรียนยังมีสนามกีฬาชนิดต่างๆ ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วย

การรอบรู้ในทุกด้านของชีวิต นอกจากวิชาการ  ยังต้องมีวิชาชีพ และต้องรอบรู้วิชาชีวิต  ที่จะสามารถครองตนให้เดินเข้าสู่สังคมที่เปลี่ยนแปลงและมีแต่สิ่งยั่งยุให้เกิดกิเลส  โรงเรียนปัญญาประทีป สามารถตอบโจทย์สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาได้ เพียงแต่การเริ่มต้นการเรียนการสอนลักษณะนี้ยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ หากเทียบกับภาพใหญ่ของสังคมไทย ที่อาจเรียกว่ากำลังหลงทางไปกับการศึกษาที่มองเพียงมิติของชีวิตด้านเดียว จนหลงลืมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ลองย้อนกลับมามองตนเองสักนิดว่า วิถีทางของเราในปัจจุบันมีความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์หรือยัง เกิดความพอดีในความเป็นคนหรือว่ายังต้องดิ้นรนทำงานหากิน หาเงิน ใช้เงิน กู้เงิน วนเวียนในวังวนของการบริโภค



แล้วปลายทางคืออะไร  ชีวิตของเราต้องการอะไรกันแน่  ความพอดีความสมดุลของชีวิตมันอยู่ตรงไหน  คิดและทบทวนด้วยตนเอง แล้วจะเห็นว่าเราเรียนและศึกษาไปเพื่ออะไร…

ขอขอบคุณ : ดร.วิทิต รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาประทีป , คุณพัชนา  มหพันธ์ คณะครู นักเรียน เจ้าหน้าที่ โรงเรียนปัญญาประทีป อ.ปากช่อง จ.นครราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น