...+

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การปฏิวัติดิจิทัล กับ หุ่นยนต์ เขียนข่าว

CCCC Technological News: การปฏิวัติดิจิทัลกับ "หุ่นยนต์" เขียนข่าว

ยุคปัจจุบันเป็นยุคของ "แรงงานทางปัญญา" (intellectual labour) ของเหล่าแรงงานคอปกขาวก็จริง แต่เหล่าแรงงานก็ไม่อาจจะมั่นใจได้ว่าการงานทุกอย่างของตนจะอยู่ค้ำฟ้าเมื่อเทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" (artificial intelligence หรือ AI) พัฒนาไปเรื่อยๆ

งานข่าว (Journalism) เป็นงานที่ผูกอยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่การอ่านออกเขียนได้ขยายตัวในศตวรรษที่ 18 ในยุโรปก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ยิ่งทำให้การทำข่าวขยายตัวขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการปฏิวัติุอุตสาหกรรมโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระดาษด้วยประบวนการแบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงการขยายตัวของการขนส่งราคาถูกที่เอื้ออำนวยด้วยการขยายตัวของรถไฟภายใต้เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา งานข่าวก็ขยายตัวไปพร้อมๆ กับตลาดมวลชน (mass market) หรือกลุ่มชนชั้นล่างที่กลายมาเป็นผู้บริโภคข่าวใหม่ และมันก็ขยายตัวมาเรื่อยในศตวรรษที่ 20 กับเทคโนโลยีอย่างวิทยุและโทรทัศน์

ในการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดมาอุตสาหกรรมข่าวก็เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่นักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ คอลัมนิสต์อิสระ นักจัดหน้า ยันบรรณาธิการข่าว

การขยายตัวของการจ้างงานเป็นไปได้เพราะเม็ดเงินโฆษณานั้นไหลมาเทมาในอุตสาหกรรมข่าว

อย่างไรก็ดีการขยายตัวก็หยุดลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยในภาพรวมเนื่องจากเงินโฆษณานั้นไหลบ่าออกไปจากอุตสาหกรรมข่าวไปในโลกอินเทอร์เน็ตแทน

สำนักข่าวจำนวนมากต้องปรับตัวตั้งแต่การตัดคอลัมน์ที่ไม่จำเป็นออก จ้างนักเขียนด้วยเงินที่น้อยลง ไปจนถึงบางสำนักข่าวก็ไล่ช่างภาพออกแล้วฝึกให้นักข่าวภาคนามเอาสมาร์ทโฟนไปถ่ายรูปเอง

ถ้าการลดงบประมาณคือโจทย์ คำตอบในหลายๆ ครั้งก็คือการลดการใช้แรงงานมนุษย์และใช้เครื่องจักรทำงานแทน ซึ่งนี่ก็เป็นกระแสใหญ่ที่จะถาโถมเข้าปะทะตลาดแรงงานโลกในช่วง 10-20 ปีนี้

การใช้ "หุ่นยนต์" เขียนข่าวแทนมนุษย์ก็ดูจะเป็นแนวทางแบบหนึ่งที่น่าจับตามองว่าเหล่าสำนักข่าวจะใช้มากน้อยเพียงใด

ในแง่เทคโนโลยี การสร้างอัลกอริธึมที่รวมข้อมูลมาเขียนเป็นข่าวมีมานานแล้ว แต่คุณภาพการเขียนยังต่ำอยู่ แต่ก็เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการจำลองกิจกรรมของมนุษย์ด้วยอัลกอริธึ่มอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป มันก็ยิ่ง "เหมือนมนุษย์" มากขึ้น และก็มีบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้ไปเรื่อยๆอย่าง Narrative Science ที่พัฒนาอัลกอริธึ่มเพื่อรวบรวมข้อมูลมาเขียนข่าวกีฬาอย่างโดนดังเมื่อสองสามปีก่อน หรือโปรแกรมอย่าง Quakebot ที่เป็นอัลกอริธึ่มที่สร้างขึ้นมาเพื่อเขียนข่าวแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ

ล่าสุดงานวิจัยจาก Karlstad University ในสวีเดนก็ชี้ว่า ในมุมของผู้อ่าน การอ่านข่าวที่ "หุ่นยนต์" เขียนก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่ามันต่างจากมนุษย์เท่าใดนัก ซึ่งมันก็ไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่เหมือนกันซะทีเดียว มันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันเช่นการเขียนข่าวโดยมนุษย์ก็น่าเบื่อน้อยกว่าและอ่านเพลินกว่า ในขณะที่ "หุ่นยนต์" นั้นเขียนข่าวได้อย่างให้ข้อมูลมากกว่า ไปจนถึงน่าเชื่อถือและเป็นกลางกว่า อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ต่างกันน้อยมากๆ ในเชิงสถิติ กล่าวคือมันไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่ต่างกันเองสำหรับผู้อ่าน

ในยุคที่ข้อมูลบินว่อนไปทั่วในไซเบอร์สเปซ อีกไม่นานนัก สำนักข่าวก็อาจใช้ "หุ่นยนต์" ไปตามเก็บเกี่ยวข้อมูลมาเขียนข่าวก็ได้ ในกรณีข่าวบางชนิด เพราะนั่นอาจมีประสิทธิภาพกว่าจ้างมนุษย์ให้รับเงินเดือนจากการนั่นหาข่าวหน้าคอมพิวเตอร์ (ซึ่งหากทำจริงๆ ก็อาจต้องมีบรรณาธิการข่าวอีกที ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว)

ทั้งนี้ก็ยังไม่มีรายงานใดๆ ว่าเครื่องจักรใดๆ จะมาแทนที่เหล่านักข่าวภาคสนามได้ และการใช้เทคโนโลยีอย่างโดรนในการทำข่าวก็ดูจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงานมากกว่าจะแย่งงาน เพราะการใช้โดรนในแง่นี้ถึ่งที่สุดก็คงไม่ได้แย่งงานใครนอกจากคนขับเฮลิคอปเตอร์

Source: http://www.popsci.com/technology/article/2011-09/software-automatically-writes-news-articles-and-theyre-actually-not-bad

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น