...+

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คนละเรื่องเดียวกัน วินทร์ เลียววาริณ


ข่าวผู้สมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองทำร้ายร่างกายพิธีกรข่าวเมื่อไม่นานมานี้ กลายเป็น 'ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์' ในชั่วไม่กี่นาที หลังจากที่ผู้สมัครท่านนี้หงุดหงิดพิธีกรที่ถามเรื่องที่เขาไม่อยากตอบจนลุแก่โทสะ จนถึงขั้นใช้กำลังยุติความขัดแย้งนั้น ที่น่าแปลกก็คือ ความเห็นสังคมส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการใช้กำลังครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า "พิธีกรถามไม่เป็นสับปะรดเลย" และ "ก็สมควรแล้วที่โดน" หรือ "สมน้ำหน้า"

ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ตลกชุด The Naked Gun (1988-1994) นายตำรวจ แฟรงค์ เดรบิน มือปราบผู้ยิ่งยงได้รับการประกาศเกียรติคุณว่า เขาปราบปรามพ่อค้ายาเสพติดจนราบคาบ

เขากล่าวตอนรับรางวัลทำนองนี้ว่า "ขอบคุณครับที่ยกย่องกระพ้ม แต่ไอ้คนสุดท้ายที่กระพ้มจัดการมันน่ะ ทีแรกกระพ้มไม่รู้หรอกว่ามันเป็นใคร กระพ้มถอยรถไปชนมันตายโดยประมาท แล้วบังเอิญว่ามันเป็นพ่อค้ายาเสพติด" นอกจากจะรอดตัวข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาทแล้ว ยังได้รับคำชมอีก

มองไปมองมารอบตัวก็อดคิดไม่ได้ว่า สังคมบ้านเราก็ไม่ค่อยต่างจากในหนังเท่าไร อาจเป็นเพราะเราเป็นพวกที่นิยมความบันเทิงประเภท 'สะใจ' หรือ 'โดน' และดูเหมือนว่าจะมองทุกอย่างเป็นเรื่องเล่นไปหมด จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ภาพการร้องรำทำเพลงจะปรากฏตั้งแต่วันรับสมัคร ผู้สมัครที่มีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจจะได้รับพื้นที่ประชาสัมพันธ์มากกว่าไป โดยปริยาย

การถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภาแต่ละครั้ง จะเห็นลีลานักแสดงในรูปของนักการเมืองอยู่เสมอ ฯลฯ จนบางครั้งเราก็แยกแยะไม่ค่อยออกว่าเราอยู่ในโลกของความจริงหรือความฝัน

หากลองวิเคราะห์แยกแยะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราพบเห็นในแต่ละวัน จะพบว่ามีเหตุการณ์จำนวนมากที่เข้าข่าย 'คนละเรื่องเดียวกัน' และหากไม่ระวัง ก็อาจบดบังวิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ ยกตัวอย่างเช่น...

- นิสัยอ่อนโยนของนักการเมืองคนหนึ่ง เป็นคนละเรื่องกับความสามารถในการทำงานของเขา

- ความดีเป็นคนละเรื่องกับความเก่ง

- การต่อต้านกฎหมายเป็นคนละเรื่องกับการไม่เคารพกฎหมาย

- การยิ้มบ่อยของใครคนหนึ่ง เป็นคนละเรื่องกับความเมตตาของเขาหรือเธอ

- พระเทศน์เก่งเป็นคนละเรื่องกับวัตรปฏิบัติของท่าน

- พฤติกรรมของคนรักก่อนแต่งงาน เป็นคนละเรื่องกับพฤติกรรมของเขาหรือเธอหลังแต่งงาน ฯลฯ

เมื่อเราใช้ปัญญานำหน้าความรู้สึก เราก็จะอ่านแต่ละสถานการณ์ออกได้ชัดเจนขึ้น และจะไม่ปล่อยให้ความรู้สึกสะใจชั่ววูบนั้น บดบังวิจารณญาณในการแยกแยะความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้อง

วินทร์ เลียววาริณ, 4 ตุลาคม 2551
ข่าวหน้าหนึ่ง, www.winbookclub.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น