...+

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

มาสาย-กลับดึก วินทร์ เลียววาริณ


วันแรกที่เข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมพบเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง เมื่อรุ่นพี่บางคนบอกว่า "การอดนอนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนในคณะนี้"

วันสุดท้ายในคณะนี้ ผมพบว่าตั้งแต่เรียนมาห้าปี ไม่เคยต้องอดนอนเลย ยกเว้นเมื่อต้องทำงานกลุ่ม ทั้งนี้มิใช่เพราะผมทำงานเร็วกว่าคนอื่น แต่เพราะผมไม่เชื่อในทัศนคตินั้น จึงพยายามพิสูจน์ว่ามันไม่จริง และพบว่าการวางแผนที่ดีแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แม้แต่การสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่น่าขันก็คือ น้อยคนที่อดนอนได้คะแนนดี

ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนมานานร่วมสามสิบปี ห้าปีในนั้นผมทำงานในต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมพบเรื่องอัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือหลายคนมองการก้าวเท้าออกจากสำนักงานตรงเวลาเป็นเรื่องประหลาดที่สุดในโลก (มิพักเอ่ยถึงการออกก่อนเวลาเมื่องานเสร็จแล้ว)

ผมรู้ความจริงภายหลังว่า คนจำนวนมากไม่ยอมออกจากสำนักงานตรงเวลา เพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นว่า ตนเองขยันขันแข็ง ยิ่งอยู่ดึก ยิ่งเป็นพนักงานตัวอย่าง เสียสละเพื่อองค์กร น่ายกย่องชมเชย บ่อยครั้งมีผลถึงการได้รับโบนัสตอนท้ายปี เนื่องจากเจ้านายมักเห็นหน้าเห็นตาใครคนนั้นหลังเวลาเลิกงานแล้วเสมอ

หากไม่เคยทำงานในต่างประเทศมาก่อน ผมอาจเข้าร่วมวงไพบูลย์ "มาสายกลับดึก" ด้วย แต่หลายปีในชีวิตการทำงานในประเทศ ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการที่สุด ทำให้เห็นค่าเวลาทุกนาทีในชีวิต

ผมกลับมองว่าคนที่อยู่ดึกเป็นประจำคือ พวกไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานให้เสร็จทันเวลา จึงต้องอยู่ดึก ยิ่งทำงานมากชั่วโมง ยิ่งแสดงถึงการทำงานโดยไม่มีการวางแผน ไม่มองภาพรวม

ลองคิดดู การอยู่ดึกเพื่อทำงานพิเศษหนึ่งคืน หมายถึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น ค่าทะนุบำรุงสูงขึ้น ผลกระทบต่อคนทำงานคือ พักผ่อนน้อยกว่าที่ควรเป็น ยิ่งอยู่ดึกประสิทธิภาพของงานในวันถัดไปยิ่งตกต่ำลง

มือกระบี่ชั้นหนึ่งในแผ่นดิน มองท่วงทีของศัตรูอย่างระวัง ตวัดกระบี่ในมือเพียงฉับเดียว ก็เข่นฆ่าฝ่ายตรงข้าม มือกระบี่ชั้นรองต้องประกระบี่ดังโคร้งเคร้ง นานนับชั่วโมง ราวกับอยากบอกโลกว่า ข้าก็ใช้กระบี่นะโว้ย โลกรับรู้แต่คมกระบี่ก็บิ่น ต้องเสียเวลาลับกระบี่อีกหลายวัน

งานดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องตรงเวลาด้วย งานดีไม่มีทางเกิดขึ้นตามยถากรรม หรืออารมณ์ขึ้นลง ไปจนถึงความหนาแน่นรัดกุมของกฎเกณฑ์ "ตอกบัตร"

ปริมาณเวลาในการทำงานชิ้นหนึ่ง ไม่ได้เป็นสัดส่วนกับคุณภาพของผลงานเสมอไป บ่อยครั้งเป็นปฏิภาคกัน หลายครั้งงานที่ให้เวลาน้อย กลับออกมาดีกว่างานที่ให้เวลามาก

คนเก่งไม่เรื่องมาก คนฉลาดจริงไม่มากเรื่อง ทำงานเสร็จแล้วก็เลิก ไม่ต้องรอเทวดาบนสวรรค์วิมานมารับรู้ เพราะถึงเวลานั้นเทวดาก็กลับบ้านไปแล้ว

วินทร์ เลียววาริณ
#ข่าวหน้าหนึ่ง www.winbookclub.com
illustration: Dear Galileo (2009)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น