...+

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

หยุดกินเนื้อวัวกันเถอะ




วัวตัวหนึ่งร้องไห้น้ำตาไหลพราก เมื่อรู้ว่าจะต้องถูกฆ่าสังเวยงานบุญ
วัวตัวนี้ถูกผูกไว้ที่ใต้ถุนบ้าน คนที่เดินผ่านไปมาก็เล็งกันว่า
ฉันจะกินตับ ฉันจะกินไส้ ฉันจะกินเลือด ฉันจะกินเนื้อ

วัวได้ยินเสียงปรารภของมนุษย์ จิตวิญญาณก็ห่อเหี่ยวเศร้าหมอง
เมื่อรู้ว่าไม่รอดแน่แล้ว ตกกลางคืนจิตจึงมุ่งไปหาท่านผู้ทรงศีล ที่มีภูมิธรรมสูง
ไปบอกท่านทางจิตว่า หากมีคนเอาเนื้อของตัวมาให้ท่านกิน ก็ช่วยกินเถิด
แล้วก็ช่วยแผ่เมตตาให้เขาได้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมด้วยเถิด
อย่าได้เกิดมาเป็นสัตว์ให้เขาฆ่าแกงอีก


หยุดกินเนื้อวัวได้ เป็นกุศลเพราะวัวนั้นได้ทำหน้าที่แทนผู้เป็นแม่
ในบรรดาเนื้อสัตว์ที่ให้คุณมากที่สุด เนื้อวัวเป็นสัตว์ที่มนุษย์ควรยกเว้น
ไม่ว่าจะอยู่ในเชื้อชาติใด ศาสนาใด เพราะวัวนั้นได้ทำหน้าที่แทนผู้เป็นแม่ด้วยการผลิตนมให้ลูกกิน
นมวัวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมนุษย์ สิ่งใดให้คุณต่อเรา เราย่อมสำนึกถึงคุณนั้น

เราจึงต้องนึกถึงเสมอว่า วัวเป็นสัตว์มีบุญคุณ อย่าได้โหดร้ายถึงขนาดกินทั้งนมกินทั้งเนื้อ
กินทุกอย่างโดยขาดความเมตตาต่อเขา วัวเหมือนเป็นสัตว์เทพ ด้วยไม่มีสัญชาติญาณที่โหดร้าย
เพราะกินแต่หญ้า หากเราคิดว่าเหตุที่วัวกินหญ้านั้นเป็นธรรมชาติของมัน
นั่นก็แสดงว่าฐานะเดิมทางจิตของวัวนั้นเป็นจิตกุศล

"เมนูเนื้อลูกวัวย่าง"
เคยได้ยินเพื่อนสนทนากันเรื่องเมนูเลิศรสที่อร่อยนักหนา หนึ่งในเมนูรสเด็ดนั้นคือ เนื้อลูกวัวย่าง
ที่แสนอ่อนนุ่มและอร่อยเพราะเนื้อยังอ่อนนัก เกิดมาไม่ถึง ๒ ปีดีก็ถูกปิ้งเสียแล้ว
คำว่า “ลูก” ฟังเมื่อใดใจก็อ่อนโยนเมื่อนั้น พอลูกถูกไปอยู่ในเมนู ฟังแล้วก็สลดด้วยสงสาร
เมนูอาหารรสเด็ดสามารถสร้างดัชนีทดสอบความอ่อนโยนในจิตใจมนุษย์ได้
ไม่เชื่อก็ลองฝึกสังเกตอ่านเมนูให้ละเอียดแล้วจะรู้ว่า

"เมนูเนื้อกระต่ายทอดกรอบหรือ เนื้อม้าอบซอสมะเขือเทศ “น่าอร่อยหรือน่าเวทนา"
*การกินเนื้อกระต่ายและเนื้อม้า มีอยู่จริงในประเทศฝรั่งเศส

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีท่านเทศน์ไว้ว่า
"ตัวเราของเราก็เป็นป่าช้าที่ฝังผีของสัตว์ต่างๆ มีหมู วัว เป็ด ไก่ เป็นต้น ซึ่งเราขนมาฝังอยู่ทุกๆวัน"

การตายของสัตว์ที่ถูกฆ่ากินเป็นอาหาร เป็นการตายก่อนอายุขัย หมายถึงตายก่อนวัยอันควร เช่น
วัวมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ ๒๕ ปี เมื่อถูกฆ่าตายเสียก่อน จิตวิญญาณก็ไม่มีที่ไป ต้องวนเวียนอยูในสภาวะก่อนตาย
คือ วนเวียนอยู่กับคนที่ฆ่าและคนที่กินตัวเอง โดยเฉพาะหากปลงไม่ได้ที่ต้องกลายมาเป็นอาหารอันโอชะ
จิตก็จะเกิดเป็นแรงแค้น และส่งกระแสจิตที่คับแค้นมาแทรกกระแสจิตของคนที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดเป็น
ความหม่นหมอง สับสน หดหู่ นอนไม่หลับ ร่างกายก็อึดอัดไม่สบาย กลายเป็นที่มาของการ
สะสมโรคภัย ต่างจากการบริโภคผักหรือสลัด ผู้บริโภคจะรู้สึกโปร่ง เบาสบายทั้งกายและใจ
เพราะไม่มีกระแสจิตมาแทรก


ที่มา : หนังสือโอวาทจากดวงวิญญาณบริสุทธิ์ สมเด็จโต โอวาท ๔
ที่มา : หนังสืออ่านก่อนตาย ๒
ที่มา : หนังสือมีศีล…ก่อนจะสาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น