...+

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

» รู้ทัน...กลไกการปกป้องตัวเอง




ระยะห่างระหว่างชีวิตในเมืองใหญ่ ผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ใกล้กัน เพียงชั่วประตูห้อง แต่ละห้องขังใครบางคนไว้อย่างโดดเดี่ยว

...เพียงแค่แผ่นพาร์ทิชั่น ก็ขังแต่ละคนไว้ในคอกของการทำงาน

...แม้เพียงยืนเคียงแทบหัวไหล่ชนกัน แต่ช่องว่างเพียงไม่กี่นิ้ว ก็ขังงานในหน้าที่ที่วิ่งมาบนสายพานในโรงงาน อย่างที่ไม่อนุญาตให้ใครคนนั้น ได้มีคนข้าง ๆ เป็นเพื่อน

...ถนนหนทาง ช่องว่างเพียงน้อยนิด ก็ขังแต่ละคนไว้ในรถยนต์ส่วนตัวอย่างมิดชิด

...บนพาหนะสาธารณะอย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ยิ่งหนักหนากว่า ใครหลายคนอยู่ชิดติดกัน มีเพียงเนื้อผ้าบางเบาที่กั้นกันไว้ หรืออาจจะเบียดชิดจนเนื้อหนังสัมผัสกัน ก็เป็นได้

การอยู่ร่วมหลอมหลวมของผู้คน ทำให้เราบอกไม่ได้ชัดถึงความใกล้-ไกลกัน... ที่ใกล้อาจห่างไกลในความสัมพันธ์ที่ไกลห่าง

บางทีกลับรู้สึกใกล้ชิด ด้วยโฉมหน้าใหม่ของการสื่อสาร ที่เปิดให้ใครต่อใครเข้ามาล่วงรู้ความเป็นส่วนตัวทุกกระเบียดนิ้ว แต่ไม่แน่ใจว่านั่นคือความใกล้ชิดหรือไม่

:::::::::::::::::::

ความใกล้-ไกล ระหว่างมนุษย์ทุกคน มีผลทั้งต่อสัมพันธภาพ และจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดเรา ควรใกล้ชิด หรือห่างเหิน วางระยะกับคนรอบตัวเราสักแค่ไหนดี

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกชีวิตล้วนมีระยะห่างระหว่างชีวิตที่ตัวเองจะรู้สึกปลอดภัย และปลอดโปร่งด้วยกันทั้งนั้น

- มนุษย์เราอนุญาตหรือยอมให้เฉพาะคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง เพื่อนสนิท คนรัก เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเราได้ถึง 45 เซ็นติเมตร หรือระยะน้อยกว่านั้น...ถือเป็นระยะประชิด หรือเอื้อมมือไปถึงเลยก็ว่าได้ จึงต้องเป็นคนที่ไว้วางใจ

- ส่วนถ้าเป็นแค่คนรู้จัก เพื่อนที่ยังไม่สนิท มนุษย์เราก็จะยอมให้เข้าใกล้ได้ ในระยะ 1.5 เมตร ถึง 45 เซ็นติเมตร จะเห็นว่า นี่คือระยะที่คนปกติจะทักทายกัน จับมือ สวัสดี หรือโค้งคำนับ

- สำหรับการติดต่อกันอย่างค่อนข้างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม เจรจาธุรกิจ สัมภาษณ์งาน เราก็จะมีระยะให้คนที่เราต้องติดต่อด้วย เข้าใกล้ได้ในช่วง 1.5 เมตร ถึง 3.7 เมตร ฉะนั้นในวงประชุมที่ต้องนั่งกันน้อยกว่าระยะ 1.5 เมตร ก็จะรู้สึกอึดอัดได้

- สุดท้าย ระยะห่างตั้งแต่ 3.7 เมตร ขึ้นไป เป็นระยะสำหรับการปรากฎตัวในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่สาธารณะ บรรยาย แถลงข่าว

::::::::::::::::::

นี่เป็นหมุดหมาย ระยะใกล้ – ไกล ที่เขามีการศึกษากันว่า มนุษย์เรามีระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นแค่ไหน ในทางกายภาพ เพื่อปกป้องตัวเองจากคนอื่น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความซับซ้อนของมนุษย์ ทำให้เรามี`กลไกลปกป้องตัวเอง´มากมายอย่างนึกไม่ถึง

นักจิตวิทยาศึกษาการทำงานของสมอง ส่วนที่เรียกว่า “ลิมบิก” (Limbic) สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก จะมีการสั่งการที่เป็นการกลไกลการปกป้องตัวเอง และแสดงออกมาด้วยการใช้ท่าทางอย่างที่เราเอง ก็ไม่ทันได้รู้ตัว

Ex 1 : เมื่อคุยกับคนแปลกหน้าที่เรายังไม่ไว้วางใจนัก จะมีการยกมือขึ้น อาจจะอยู่ในท่ากอดอก หรือถือสิ่งของอย่างแก้วเครื่องดื่ม ไว้บริเวณอก หรือถือเอกสารหนังสือ ไว้ในระดับอก

ท่าทางเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น มีท่อนแขนหรือสิ่งของคอยกำบัง

Ex 2 : ระหว่างที่นั่งสนทนาพูดคุยอยู่กับใคร หากมีเรื่องที่เราไม่สบายใจในสิ่งที่กำลังได้ยิน เราจะปิดเปลือกตาลงช้า ๆ หรือยกมือขึ้นลูบ หรือสัมผัสตัวเองส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจจะเป็นมือ แขน

นั่นเป็นการแสดงออกถึงการปลอบโยนตัวเอง ในสิ่งที่กำลังไม่สบายใจ หรือไม่ต้องการรับรู้ในสิ่งที่กำลังได้ยิน

::::::::::::::::::

นี่เป็นอีกหนึ่งกลไกลทางธรรมชาติในการปกป้องตัวเองทางกายภาพ ที่ละเอียดอ่อน จนเราไม่รู้สึกตัว แต่มนุษย์เราก็ยังมีความพยายามในการปกป้องตัวเองในแบบอื่นอีก

มีการวิจัยว่า ในวงประชุม ยิ่งประชุมไอคิว ไอเดีย ในการคิดสร้างสรรค์งาน อาจหดหาย นั่นเป็นเพราะในที่ประชุมหลาย ๆ แห่ง กลายเป็นเวทีสำแดงตัวตน ต่างคนต่างนำเสนอความคิดเห็น ที่เอาตัวเองเข้าไปผูกโยง

หากความคิดอ่าน ถูกปฏิเสธ ก็จะรู้สึกว่า ตัวตนของตัวเองถูกปฏิเสธไปด้วย

การประชุมติดตามงาน ก็ยิ่งต้อง`ปกป้องตัวเอง´มากขึ้น ด้วยการยกเหตุปัจจัยต่าง ๆ นานา ที่เป็นเหตุให้งานไม่เป็นไปตามแผน

การที่ผู้คนเผชิญหน้ากันในวงประชุม จึงอาจเป็นทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันทางความรู้สึกได้

น้อยครั้ง ที่จะเห็นว่า การพบปะกันในที่ประชุม จะเป็นการสร้างบรรยากาศ ความรู้สึกแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับ เคารพในกันและกันอย่างแท้จริง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ต่างคนได้แสดงตัวตน และยอมรับความอ่อนด้อย ผิดพลาด จุดอ่อนของกันและกัน

หากว่า...การประชุมยังไม่สามารถดำเนินไปบนวิถีทางแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับกันและกัน และฟังกันอย่างลึกซึ้ง การประชุมก็อาจทำให้กระบวนการทำงานถดถอย

คนจำนวนไม่น้อย จึงรู้สึกว่า การประชุมทำให้เสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ และน่าเบื่อ
ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล

::::::::::::::::

• บทสรุป

การที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับใครสักคน เป็นสิ่งที่ทำให้กลไกลทางธรรมชาติในโหมดปกป้องตัวเองตื่นตัว และพร้อมจะทำหน้าที่

หากเราไม่ทันรู้สึกตัว ก็อาจทำให้กลไกลปกป้องตัวเอง ทำงานมากเกินไป จนอาจกลายเป็นการข่มขู่ คุกคาม ผู้อื่นอย่างลืมตัว อาจจะแค่ท่าที ท่าทางเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงคำพูด และอาจจะเป็นการกระทำบางอย่าง

ความขัดแย้งอึดอัดขัดใจระหว่างกัน... บางทีเกิดจากการที่เราปล่อยให้กลไกลปกป้องตัวเองทำงานมากเกินไปก็เป็นได้

ไม่มีอะไรจะแก้ไขได้ดีเท่ากับการมี`สติ´ คอยตรวจสอบการรู้ตัวของตัวเองอยู่เสมอ ๆ ยิ่งการรู้ตัวได้ละเอียดเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรารู้ทัน รู้กระทั่งว่า คำพูดของใครบางคน ที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ทำให้เราสั่นไหว สั่นคลอนความเชื่อมั่น

แค่รู้ให้ทัน ก็จะหยุดความคิดปรุงแต่งที่จะทับถมตัวเอง หรือคิดหาทางตอบโต้ด้วยการพูด หรือกระทำบางอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง

แค่รู้สึกในใจ “อ๋อ ! นี่ฉันกำลังหวั่นไหว หวาดหวั่น ที่เขาไม่เห็นด้วยกันฉันสินะ”

นี่คือการรู้ทันตัวเองแล้ว และอดยิ้มให้ตัวเองไม่ได้ว่า นี่ไงเราพอมี`สติ´ รู้ทันความรู้สึกตัวเองบ้างแล้ว

ในขณะที่มี`สติ´ รู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็อาจจะนำไปสู่การเห็นใจ และเข้าใจกลไกการปกป้องตัวเองของคนอื่นที่เราสัมพันธ์ด้วยก็ได้

และนี่จะนำมาซึ่งการลดความขัดแย้ง ไม่ว่าเราจะมีระยะห่างระหว่างกันมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

::::::::::::::::::

Credit : นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ | คอลัมน์บทความพุทธิกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น