...+

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

4 วิธีในการรักษาพนักงาน


ผ่านไปกว่าไตรมาส ทุกอย่างเริ่มเข้าท่ีเข้าทาง โดยเฉพาะเรื่องของ “คน”

ผ่านช่วงเทศกาลพนักงานลาออกหลังรับโบนัส

ผ่านช่วงเวลาพนักงานใหม่ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร หลังจากลองผิดลองถูกชนิดที่หลายคนเสียวไส้

คราวนี้ถึงเวลาที่ต้องมาคิดทบทวนว่าจากนี้ไปจะทำอย่างไรจึงรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้ยาวนานขึ้น เพราะนับวันคนเก่งคนดียิ่งหายากและเนื้อหอมขึ้นทุกวัน

วันนี้มีข้อแนะนำสำหรับหัวหน้างานและ HR ทุกคน ...

1) ชัดเจนในเรื่องความคาดหวังและกฎกติกาการอยู่ร่วมกันรวมถึงการบังคับใช้
ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่าความคาดหวังที่ไม่ชัดเจน กฎเกณฑ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย การปฏิบัติที่มีหลายมาตรฐานในเรื่องเดียวกันและการขาดการบังคับใช้กฎกติกาที่ตกลงกันอย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานบางคนตัดสินใจลาจากองค์กรไป เพราะรู้สึกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน ก็ยังอยู่ได้เป็นปกติสุข ไม่เห็นมีใครทำอะไร

2) ให้ความสนใจและใส่ใจกับพนักงาน ปฏิบัติตาม “Platinum Rule”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหลายคนแนะนำให้ผู้บริหาร หัวหน้างานและ HR รู้จักการบริหารงานด้วยการเดินไปรอบๆ (Management by Walking Around) เดินเพื่อให้รู้จักคนในองค์กร เดินเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร เดินเพื่อให้เห็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เดินเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ...แม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่วิธีการนี้พิสูจน์แล้วในทุกวงการและทุกองค์กรว่า “ได้ผลเกินคาด”
นอกจากนั้นความสนใจและใส่ใจต้องทำด้วยความจริงใจ กฎทอง (Golden Rule) ของเดิมที่บอกว่า “จงปฎิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราต้องการได้รับการปฏิบัติ” ไม่เพียงพอซะแล้วในยุคนี้ ปัจจุบันต้อง Upgrade ไปเป็นระดับแพทตินั่ม (Platinum Rule) คือ “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เขาอยากได้รับการปฏิบัติ”

3) สื่อสาร สื่อสารและสื่อสารอย่างให้เกียรติ
การสื่อสารเป็นปัญหาของทุกองค์กรและทุกสังคมไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คนมากหรือน้อย การสื่อสารที่มากเกินไปอาจฟังดูน่าเบื่อแต่ไม่มีพิษภัย การสื่อสารที่น้อยเกินไปต่างหากที่สร้างปัญหามากมาย
พนักงานจำนวนไม่น้อยรับรู้ข่าวสารขององค์กรจากสื่อหรือลูกค้ภายนอก พนักงานในหน่วยงานหลายคนรับรู้เรื่องราวในแผนกจากเพื่อนพนักงานแผนกอื่น ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ HR และหัวหน้างานทุกๆ คนที่จะช่วยกันสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลาและที่สำคัญอย่างสร้างสรรค์
นอกจากนั้นวิธีการสื่อสารอย่างให้เกียรติที่ดีที่สุดคือการรับฟัง สนใจสอบถามและติดตามตอบสนองข้อร้องเรียนต่างๆ ของพนักงานอย่างเต็มความสามารถ ร่วมทั้งสื่อสารให้ทราบความคืบหน้าเสมอๆ แม้บางครั้งอาจจะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยก็ตาม

4) ให้ผลตอบแทนอย่างเพียงพอและเหมาะสม
ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติ หลายองค์กรค่าจ้างและรายได้ไม่ได้เป็นความลับอย่างที่ HR และผู้บริหารคาดหวัง พนักงานจำนวนไม่น้อยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่อง “รายได้” ระหว่างกันทั้งในและนอกองค์กร
นอกจากนั้นในทางจิตวิทยาเชื่อว่า “ค่าจ้าง” จะมากหรือน้อยและเป็นที่พึงพอใจหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับตนเองได้เท่าไรแต่เกี่ยวอย่างมากกับคนอื่นได้เท่าไร
ดังนั้นค่าจ้างที่เพียงพอและเหมาะสมจะดูเทียบกับความรับผิดชอบของพนักงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในองค์กรที่ทำงานใกล้เคียงกันหรืออายุงานพอๆ กัน รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบอัตราค่าจ้างของตลาดแรงงานภายนอกประกอบด้วย
การซื้อข้อมูลการสำรวจค่าจ้างบ้างสัก 2-3 ปีครั้ง จะช่วยทำให้เราไม่ตกรถไฟและไม่ต้องสูญเสียพนักงานเก่งๆ ดีๆ ไปให้กับคู่แข่งหรือองค์กรอื่นมากจนเกินไป

ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น หากอยากรักษาคนเก่งคนดีเอาไว้กับองค์กรนานๆ จงเริ่มต้นลงมือทำเสียแต่วันนี้ อย่ารอให้ถึงฤดูกาลย้ายงาน ซึ่งถึงตอนนั้นอาจสายเกินกว่าจะทำอะไรได้ซะแล้ว !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น