...+
▼
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
“เทคนิคเพิกเฉยเมื่อลูกร้องไห้เอาแต่ใจ“
การเพิกเฉยลูกขณะลูกร้องไห้เอาแต่ใจเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การควบคุมตนเอง(emotional regulation) ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก..
และบ่อยครั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้สงบสติอารมณ์ตนเองเช่นกัน การพยายามโอ๋ลูก นอกจากไม่ช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองยังส่งผลเสียต่อพ่อแม่ เด็กจะมองไม่เห็นความชัดเจนของการเป็นผู้นำ และไม่เห็นความเข้มแข็งของเรา
ขั้นที่1 เราต้องอารมณ์เย็น (เทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก)
ขั้นที่2 มองหน้าลูก สบตาให้ได้ และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจัง “แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน“
ขั้นที่3 เพิกเฉยลูกทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ เพราะจะเป็นการไม่เพิกเฉยจริง รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม หมอมักแนะนำให้เราเบี่ยงตนเองไปทำอะไรอย่างอื่น
(หากลูกพยายามเข้ามาให้กอดให้อุ้ม เราควรลุกขึ้นยืนและทำอย่างอื่นไป)
อนุญาติให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว กรณีที่ลูกทำร้ายร่างกายคนไม่ว่าจะเป็นคนอื่นหรือตัวเขาเองรวมทั้งการทำลายข้าวของ ให้เราหันกลับไป จับมือน้อยๆนั้นแน่นๆและมองหน้า(ต้องพยายามมองให้ได้) และพูดด้วยเสียงเรียบ นิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ“ ปล่อยมือและเฝ้าดูอีกสักครู่ เพราะเด็กอาจลุกขึ้นมาตี/โยนอีก ก็ให้ทำซ้ำ จนกว่าลูกจะหยุด ให้เรากลับมาเพิกเฉยต่อ
ขั้นที่4 เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้เรากลับไปหาลูก(reconnect) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าหาลูกเพื่อตอกย้ำลูกว่า เขาจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี และถูกเพิกเฉยเมื่อมีพฤติกรรมร้องเอาแต่ใจ พูดกับลูกดังนี้
# ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “หนูเงียบแล้ว หนูเก่งค่ะลูก“
# ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น“ เปิดโอกาสให้เด็กได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตนเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้เข้าใจตนเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว (เป็นการกระตุ้นความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง)
# เมื่อลูกเข้าใจเหตุการณ์แล้ว ถามความเห็นลูกในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ เช่น “แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบให้แม่ทำแบบนี้ แม่เองก็ไม่อยากทำ เรามาช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหายังไง ครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องเป็นอีก“ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกฝึกคิด เพราะพ่อแม่เองก็คงไม่ต้องการเลี้ยงลูกให้กลายเป็นเด็กรอคำสั่ง อีกทั้งยังทำให้เขารู้สึกว่าตนเองนั้นก็เป็นคนที่มีควาสำคัญในสายตาพ่อแม่ และตัวพ่อแม่เองก็ได้แสดงความเป็นผู้นำที่แท้จริงให้ลูกได้เห็นด้วย
โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง อย่าเข้าใจผิดว่าเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายแบบเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองแบบเดิม อย่างไรก็ตามอดทนหน่อยนะค่ะ เพราะครั้งที่2,3,4 อาการจะเบาลงไปเรื่อยๆ
หมอพบว่าบางครอบครัวทำแค่ 1 ครั้งลูกก็ไม่ร้องไห้เอาแต่ใจอีกเลย บางครอบครัวทำเป็นอาทิตย์ถึงจะเห็นผล แต่ทุกครอบครัวที่ทำจะสำเร็จทุกราย ในรายที่ไม่สำเร็จมักเกิดจากสาเหตุดังนี้
# มีอารมณ์ขณะที่ทำการเพิกเฉย
# ไม่เพิกเฉยจริง ยังมีพูดอยู่ ให้ลูกเงียบ
# ไม่กลับมาหาลูก(reconnect)
# ครอบครัวที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นกัน
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะช่วยลูกจัดการอารมณ์ตนเองแล้ว เราก็ควรให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกด้วย เพราะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้การสร้างวินัยแก่ลูกเป็นเรื่องง่าย
ติดตามปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในครั้งหน้าค่ะ /หมอเสาวภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น