...+
▼
วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
สมองผ่อนคลาย หลับสบาย ด้วย"ข้าวกล้องงอก"
คนรักสุขภาพและใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมานี้ คงสังเกตเห็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากข้าวกล้องงอก (GERMINATED BROWN RICE : GBR) หรือที่เรียกว่า กาบา ไรซ์ กันบ่อยๆ ใช่ไหมคะ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักชูว่า ข้าวชนิดนี้มีสารอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร โปรตีน ไขมัน วิตามินบี วิตามินอี กรดโฟลิค และที่ถูกเน้นให้โดดเด่นเป็นพระเอกขึ้นมา คือ กาบา (GABA)
และคงถึงเวลาแล้ว ที่คนรักสุขภาพอย่างเราๆ จะมาทำความรู้จักกับสารกาบานี้ให้มากขึ้นค่ะ
กาบา เป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ กาบา ยังถือเป็นสารสื่อประสาทประเภท สารยับยั้ง (inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองจากการกระตุ้น ซึ่งช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย ทั้งยังช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (anterior pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อกระชับและเกิดสารไลโปโทรปิค (lipotropic) ซึ่งเป็นสารป้องกันการสะสมของไขมัน
ในปัจจุบันวงการแพทย์มีการใช้สารกาบา รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหลายโรค เช่น โรควิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ โรคลมชัก และกาบายังมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต ลดปริมาณคลอเรสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งความเสี่ยงจากการเกิดอัลไซเมอร์ และใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางด้วย
สารกาบาจากธรรมชาตินั้น มีอยู่ใน "คัพภะ ของข้าว" เผยชื่อนี้มา ผู้อ่านอาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร สำหรับ คัพภะ ของข้าว ก็คือส่วนของเม็ดข้าวที่รากจะงอก โดยคัพภะข้าว ประกอบไปด้วย โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และสารกาบา
ข้าวกล้องหรือข้าวไม่ขัดสีทุกประเภททุกสายพันธุ์ ล้วนมีสารกาบา แต่มากน้อยต่างกันตามสายพันธุ์ โดยในข้าวกล้องงอก มีสารกาบามากกว่าข้าวกล้องปกติถึง 15 เท่า เหตุนี้เองจึงทำให้ข้าวกล้องงอก กลายเป็นข้าวที่มีบทบาทสำคัญสำหรับคนรักสุขภาพในปัจจุบัน และทราบไหมคะว่า จริงๆ แล้วเราสามารถเพาะข้าวกล้องงอกเองได้
ก่อนจะเพาะข้าวกล้องงอก ให้เตรียมข้าวกล้อง (ข้าวกระเทาะเปลือกที่ไม่ขัดสี) ใช้ได้จากข้าวทุกประเภท เช่น ข้าวสีขาว จำพวกข้าวกล้องหอมมะลิขาว, ข้าวสีแดง เช่น ข้าวกล้องมันปู ข้าวกล้องหอมมะลิแดง หรือข้าวหอมกุหลาบแดง และข้าวสีดำคือข้าวกล้องหอมนิล เคล็ดลับที่แนะนำ คือ ข้าวที่จะนำมาเพาะ ต้องเป็นข้าวกล้องใหม่ๆ ที่สีเอาเปลือกออกมาไม่เกิน 2 สัปดาห์ ส่วนข้าวกล้องที่บรรจุในถุงขายตามศูนย์การค้าทั่วไปก็พอจะเพาะได้ แต่ก่อนจะเพาะ ควรทดลองเพาะแต่น้อยๆ ประมาณ 5-10 เม็ด เพื่อตรวจสอบว่า เพาะแล้วจะขึ้นหรือไม่
วิธีการเพาะ นำข้าวกล้องจะเพาะเป็นข้าวงอกไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงเทน้ำออก แล้วใช้ผ้าเปียกมาห่อข้าวนั้นไว้ให้ชื้น พอตกเย็นกลับมาเปิดดู ถ้ามีการงอก จะสังเกตเห็นว่า ตรงจมูกข้าวจะมีตุ่มสีขาวๆ นูนขึ้นมา นั่นแสดงว่าเพาะขึ้น กรณีเพาะในหน้าหนาว อากาศที่เย็นมักจะงอกยาก หลังแช่น้ำไว้ 1 คืน อาจต้องห่อผ้าไว้ 2 วัน
และจากผลวิจัยต่างๆ มักชี้ว่า จังหวะที่ดีที่สุดที่จะนำมาหุง คือ ช่วงที่งอกได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ข้าวที่หุงจะนุ่มกว่าข้าวกล้องธรรมดา แต่สำหรับคนที่ไม่สะดวกแช่ข้าวทุกครั้งที่จะทาน ก็สามารถทำเก็บไว้ได้ ด้วยการแช่ข้าวและห่อด้วยผ้าเปียกจนงอก พองอกได้ที่ก็นำไปตากจนแห้ง ใส่โหลไว้เหมือนข้าวสารปกติ แต่การทำเก็บไว้คราวละมากๆ ต้องระวังเรื่องของมอดแมลง เนื่องจากข้าวกล้องงอกมีกลิ่นหอมมาก การรบกวนจากมอดแมลงจะมากกว่าข้าวสารทั่วไปค่ะ
ไม่ยากไปใช่ไหมคะ กับการหาอะไรสนุกๆ ทำ เพื่อให้ได้ข้าวดีมีประโยชน์ โดยรวมๆ แล้วการทานข้าวกล้องงอก นอกจากจะได้ประโยชน์จากสารกาบา ที่จะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์(ความจำเสื่อม) ช่วยผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ หลับสบาย ลดความเครียดวิตกกังวล และลดความดันโลหิตแล้ว ยังมีใยอาหารช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันมะเร็งลำไส้ และลดอาการท้องผูก มีวิตามินอี ลดการเหี่ยวย่นของผิว วิตามินบีที่จำเป็นต่อเส้นประสาทและความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ
แสนจะมีประโยชน์ขนาดนี้ ทานข้าวกล้องงอกกันดีกว่าค่ะ
******* *******
เครดิต: เรื่อง-ภาพ ชีวอโรคยา นำมาจาก เดลินิวส์ออนไลน์
อ้างอิงข้อมูล "PrincessFangy" twitter.com/PrincessFangy
ภาพประกอบจาก nutrition.anamai.moph.go.th
แบ่งปันความรู้ทั่วไป เพื่อความพอเพียง และสุขภาพที่ดี โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
ชีวอโรคยา อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีไม่พึ่งสารเคมี ไม่ต้องรอให้ป่วยไปเสียค่ารักษาพยาบาลแพงๆ
ติดตามข้อมูลข่าวสารการดูแลตัวเองวิถีธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมีได้ที่ Facebook ชีวอโรคยา
www.facebook.com/pages/ชีวอโรคยา/135957369811772
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น