...+

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

" ทำบุญ "



ในทานมหัปผลสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่าทานที่ไม่มี อานิสงส์มากได้แก่ "ทานที่ให้อย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ" รวมถึงทานที่ให้เพราะต้องการเสวยผลในชาติหน้า เป็นต้น

พิจารณาเช่นนี้ก็จะพบว่าทานที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ทำกันนั้นหาใช่ทานที่พระองค์สรรเสริญไม่ นอกจากทำด้วยความมุ่งหวังประโยชน์ในชาติหน้าแล้ว ยังมักมีเยื่อใยในทานที่ถวาย กล่าวคือทั้งๆ ที่ถวายให้พระสงฆ์ไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากใจ แต่ใจยังมีเยื่อใยในของชิ้นนั้นอยู่ เช่น เมื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังเฝ้าดูว่าหลวงพ่อจะตักอาหาร "ของฉัน" หรือไม่ หากท่านไม่ฉัน ก็รู้สึกไม่สบายใจ คิดไปต่างๆ นานา นี้แสดงว่ายังมีเยื่อใยยึดติดผูกพันอาหารนั้นว่าเป็นของฉันอยู่ ไม่ได้ถวายให้เป็นของท่านอย่างสิ้นเชิง

เยื่อใยในทานอีกลักษณะหนึ่ง ที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ การมุ่งหวังให้ผู้คนรับรู้ว่าทานนั้น ๆ ฉันเป็นผู้ถวาย ดังนั้น ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ ของใช้ต่างๆ ไม่ว่า ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หม้อ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนขอบประตูหน้าต่างในโบสถ์ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงมีชื่อผู้บริจาคอยู่เต็มไปหมด กระทั่งพระพุทธรูปก็ไม่ละเว้น ราวกับจะยังแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ หาไม่ก็หวังให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญตน การทำบุญอย่างนี้ จึงไม่ได้ละความยึดติดถือมั่นในตัวตนเลย หากเป็นการประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง

การทำบุญแบบนี้แม้จะมีข้อดีตรงที่ช่วยอุปถัมภ์วัดวาอารามและพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือไร้อำนาจวาสนา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองไทยมีวัดวาอารามใหญ่โตและสวยงามมากมาย แต่เวลาเดียวกันก็มีคนยากจนและเด็กถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่นับสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ถูกละเลย หรือถูกปลิดชีวิตแม้กระทั่งในเขตวัด

พระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น