...+
▼
วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556
พ่อแม่เลี้ยงบวก : อ่านไม่ออก
===============
น้องเอม : เค้าไม่ได้โง่ซักหน่อย!
น้องฝ้าย : โง่สิ! อยู่อนุบาล3 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกอีก
แม่น้องฝ้าย : อุ๊ยฝ้าย! อย่าไปว่าเอมอย่างนั้นซิลูก เอ่อ....เอมยังอ่านหนังสือไม่ออกอีกเหรอคะ? ฝ้ายอ่านได้ จ๋อยๆแล้วนะคะ (น้ำเสียงภูมิใจ)
แม่น้องเอม : โรงเรียนเขาส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เน้นให้เด็กเรียนผ่านการเล่นค่ะ เตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชั้นประถมน่ะค่ะ
แม่น้องฝ้าย : ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ไม่กลัวตามคนอื่นเขาไม่ทันเหรอคะ?
แม่น้องเอม : ก็เคยกังวลเหมือนกันค่ะ ตอนตัดสินใจให้คนพี่เรียนแนวเตรียมความพร้อม ยิ่งเจอลูกญาติๆอ่านหนังสือได้แต่ลูกเราอ่านไม่ได้ก็ไม่ค่อยมั่นใจ พอขึ้นประถมลูกแสดงความพร้อมว่าอยากอ่านแล้ว ทีนี้อ่านใหญ่เลยค่ะ จนป. 3 นี่ก็อ่านคล่อง อ่านพ็อคเก็ตบุ้คหนาๆได้เป็นเล่มๆเลยค่ะ
น้องฝ้าย : แล้วเอมมีการบ้านเยอะมั้ย?
น้องเอม : ไม่มี
น้องฝ้าย : ของเค้าเยอะมาก ทำซะมือหงิกเลย
น้องเอม : ครูก็ให้เล่น สอนทำของเล่น ได้ตัดกระดาษ ทำขนมด้วย วาดรูป ร้องเพลง ฟังนิทาน แล้วก็ได้ปลูกข้าวด้วยนะ
น้องฝ้าย : น่าสนุกจังเลย! แม่หนูอยากไปเรียนโรงเรียนเอม (รบเร้า)
แม่น้องฝ้าย : อย่าเลยลูก โรงเรียนไม่สอนอ่านไม่มีการบ้าน จะฉลาดได้ไง?!? ได้เวลาเรียนพิเศษเตรียมสอบเข้าป.1แล้ว ไปเถอะลูก!
หมอเหมียวชวนคุย
พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าถ้าลูกวัยอนุบาลอ่านออกเขียนได้เร็วคือเด็กฉลาด การเร่งสอนวิชาการ เน้นเรียนเขียนอ่านอย่างเคร่งครัด เป็นการบั่นทอนศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กอนุบาลที่ต้องการการฝึกทักษะการคิด ฟัง สังเกต ใช้มือ ผ่านกิจกรรมการเล่น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงในเด็กค่ะ
ยิ่งเล่นยิ่งฉลาด
มีงานวิจัยเห็นสรุปพ้องต้องกันว่า การเล่นช่วยพัฒนาสมอง โดยเฉพาะสำหรับเด็กในช่วง 0 – 6 ปี เพราะทุกครั้งที่เด็กได้เล่นและใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เซลล์สมองของเด็กประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์จะมีการเชื่อมโยงเส้นใยประสาทเป็นเครือข่ายมากขึ้นกว่าเดิมถึง 25 เท่า ส่งผลให้เด็กมีความสามารถในการคิดและการเรียนรู้ที่ดี ยิ่งเด็กได้เล่นอย่างหลากหลายและเพียงพอ ก็จะยิ่งทำให้การเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น สมองเด็กก็พัฒนาได้ดีขึ้น
การที่เด็กชอบวิ่งเล่น ปีนป่าย ไม่อยู่นิ่ง เพราะเซลล์สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นในช่วง 0 – 4 ปี เด็กอนุบาลชอบร้องเพลงและเล่นกับคำ? จะทำให้เซลล์สมองเกิดการแตกแขนงและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และเป็นการเชื่อมโยงกันแบบเดียวกับที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ เด็กชอบฟังนิทานและมักชอบฟังเรื่องเดิมซ้ำๆ ทำให้เซลล์สมองเชื่อมโยงแข็งแรงขึ้น เด็กๆชอบเล่นสมมุติ เลียนแบบในบทบาทต่างๆ ทำให้เด็กมีความสามารถสร้างภาพในความคิดและจินตนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้การอ่านและการคิดเลขเมื่อเด็กโตขึ้น ฯลฯ จะเห็นว่า ขณะที่เด็กเล่น เด็กกำลังพัฒนาพลังสมองของตัวเองทุกขณะและเตรียมพร้อมในการเรียนรู้ที่ยากและซับซ้อนขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ การเล่นยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบในทุกด้านทั้งด้านอารมณ์ คือมีความสุขที่ได้เล่น อารมณ์ดี ได้ผ่อนคลาย พัฒนาการทางด้านสังคม คือมีสังคมเพื่อนฝูง รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันและเคารพกติกา และพัฒนาการทางด้านสติปัญญา คือมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหา ค้นพบความสามารถของตนเอง ฯลฯ ซึ่งการเตรียมความพร้อมแบบบูรณาการที่ช่วยพัฒนาสมองและพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ผ่านการเล่น จะช่วยพัฒนาความฉลาดให้กับเด็ก เป็นพื้นฐานแข็งแกร่งสำหรับการเรียนรู้ขั้นสูงในชั้นประถมต่อไป
ควรทำ
- การเตรียมความพร้อมในเด็กอนุบาลรอบด้าน โดยเรียนรู้แบบบูรณาการ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย และนำไปใช้ในการเรียนรู้อย่างจริงจังในชั้นประถมศึกษา
- พัฒนาการในเด็ก ประกอบด้วย ความสามารถในด้านต่างๆ ได้แก่ ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นแขน ขา ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น มือ นิ้ว ช่วยเหลือตนเอง ภาษาและการสื่อสาร ควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้ จริยธรรม ความถูกต้องเหมาะสม ผิดชอบชั่วดี ความสามารถทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นในแต่ละด้าน จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจ ภูมิใจในตนเอง
- ความสามารถของเด็กจะพัฒนาอยู่ในช่วงเวลา เช่น
• การเดิน เด็กเดินได้ตั้งแต่อายุ 11 เดือนถึง 1 ปี 3 เดือน
• การติดกระดุม เด็กจะทำได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี ถึง 3 ½ ปี
• ชี้อวัยวะตัวเองได้ 5 ส่วน เด็กจะทำได้ตั้งแต่อายุ 18 เดือน ถึง 2 ปี 3 เดือน
• อ่านหนังสือ เด็กจะทำได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี ถึง 7 ปี
- การที่เด็กทำได้เร็วกว่าเด็กอื่น มิได้แสดงว่าต้องฉลาดกว่า
- พ่อแม่ที่มองการณ์ไกล จะสามารถพัฒนา ส่งเสริมเด็กให้เติบโต มีทักษะในการคิด แก้ปัญหา มีความรู้ความสามารถที่พร้อมต่อทุกเหตุการณ์สำหรับอนาคต
ไม่ควรทำ
การเร่งรัดให้เด็กมีความสามารถเรื่องหนึ่งมากๆ โดยละเลยการฝึกฝนด้านอื่นๆ จะทำให้เด็กขาดความสมดุล เช่น พ่อแม่ที่เน้นให้ลูกเรียน โดยไม่เน้นด้านการออกกำลังกาย เมื่อเด็กไม่แข็งแรง ป่วยบ่อยสุดท้ายก็ทำให้การเรียนเสียตามไปด้วย
* หัวใจการเลี้ยงดู
การเล่นคือการพัฒนาสมองที่สำคัญของเด็กวัย 0 – 6 ปี
จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น