...+

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

บุคคลแห่งปีของเอเชีย




ชาง ผิงอี้ไม่เคยลืมครั้งแรกที่เธอไปเยี่ยมหมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อนในจีน ปีนั้นคือปี 2542 ชางเป็นนักข่าวมือรางวัลมีประวัติการทำงานโดดเด่นของหนังสือพิมพ์ไชน่าไทม์ ในกรุงไทเป และสามเดือนก่อนหน้านั้น นักข่าวหญิงวัย 40 ปีผู้นี้ก็เพิ่งให้กำเนิดบุตรคนที่สอง เมื่อเธอเดินเข้าไปก็พบเด็กๆ เนื้อตัว
ล่อนจ้อนมอมแมม แมลงวันไต่ตอมตามใบหน้า ผู้ใหญ่แขนขาเน่าเปื่อยไร้การดูแลและกลิ่นเหม็นตลบลอยมาจากชาวบ้าน
สี่เดือนก่อนที่ชางจะประสบกับภาพที่รบกวนจิตใจดังกล่าว เธอเพิ่งรับรู้ถึงประเด็นต่างๆ ที่แวดล้อมโรคเรื้อนอันเป็นโรคเรื้อรังที่ทำลายประสาทอย่างถาวร รวมทั้งทำให้ผิวหนังเสียหาย แขนขาพิการ ช่วงที่เธอตั้งครรภ์ได้เก้าเดือน หนังสือพิมพ์ต้นสังกัดไม่ได้มอบหมายงานให้เธอ ดังนั้นเมื่อนักบวชชาวออสเตรียผู้หนึ่งชวนเธอไปเยี่ยมสถานรักษาผู้ป่วยเรื้อรังโลเช็ง ซึ่งเป็นสถานดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนแห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ของไต้หวัน ชางจึงตอบตกลง การไปครั้งนั้น
กระตุ้นความสนใจของเธอ และเมื่อนักบวชท่านเดิมแนะให้ไปหมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อนในจีน ชางก็ไม่ลังเล
สิ่งที่เธอได้พบที่นั่นไม่น่าอภิรมย์เลยชางสะเทือนใจมากต่อชะตากรรมเลวร้ายของชาวบ้านในนิคมโรคเรื้อนกว่า 800 แห่งทั่วประเทศจีน พวกเขามิได้ต้องการอะไรมากไปกว่าให้ลูกหลานของตนซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดโรคเรื้อนได้รับการศึกษาและเป็นที่ยอมรับของสังคม “ฉันนึกไม่ถึงว่าผู้คนเกินครึ่งในนิคมเหล่านี้จะมีสุขภาพดีและยังเด็ก” ชางซึ่งบัดนี้อายุ 53 ปีกล่าว “ในฐานะแม่ซึ่งมีลูกสองคน ฉันอดเป็นห่วงอนาคตของเด็กๆ พวกนี้ไม่ได้” หลังกลับไปไทเป ชางก็ลาออกจากงานเงินเดือนสูงที่ไชน่าไทม์ การตัดสินใจอย่างนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับคนซึ่งโตมาในครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่ในใจเธอรู้ดีว่าต้องแลกอาชีพการงานและบ้านสี่ชั้นแสนสบายในไทเปเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในนิคมโรคเรื้อนของจีน เธอบอกว่า “ฉันไม่ได้เลือกหรอก มันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่คุณอธิบายไม่ได้”
ช่วงทศวรรษ 1950 รัฐบาลจีนเริ่มแยกผู้ป่วยโรคเรื้อนไว้ในนิคมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แม้ปัจจุบันโรคนี้รักษาและป้องกันได้แล้ว แต่ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ในหลายๆ ชุมชน อย่างที่เหลียงซานในมณฑลเสฉวน ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวอี๋ ชนกลุ่มน้อยที่เชื่อว่าโรคเรื้อนเกิดจากการถูกผีสิง
รัฐบาลไม่ได้ยอมรับหมู่บ้านหลายแห่งเหล่านี้อย่างเป็นทางการ ผู้อยู่อาศัยจึงไร้เอกสารแสดงตนเพื่อใช้เข้าโรงเรียนหรือหางานทำนอกหมู่บ้าน ชางรู้มาว่าภาวะที่ขาดการเหลียวแล การศึกษา และไร้อนาคตทำ ให้เด็กๆ ในหมู่บ้านเหล่านี้ติดบุหรี่กันตั้งแต่อายุแค่ห้าขวบ แล้วในที่สุดหลายคนก็หันไปหาสุรา ยาเสพติด และอาชญากรรม
ช่วงปลายปี 2543 มีคนโทรศัพท์ติดต่อมาเล่าให้ชางฟังถึงเรื่องโรงเรียนแห่งหนึ่งในแขวงเยว่ซีของเหลียงซาน สถานที่ที่เรียกกันว่า “สถานศึกษา” แห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเสฉวนที่สร้างสำหรับรับเด็กจากนิคมโรคเรื้อน เป็นบ้านสองห้องโทรมๆ ไม่มีหน้าต่าง เปิดสอนนักเรียน 70 คนถึงแค่ประถมสี่ โดยครูคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ศึกษาด้านนี้มาโดยตรง
ชางเห็นว่าโรงเรียนนี้คือโอกาสหนึ่งซึ่งช่วยให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ เธอจึงทุ่มเทความพยายามสร้างมันขึ้นใหม่ เธอระดมหาเงินทุน คุมงานก่อสร้าง และติดต่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเอง ปี 2545 เธอภูมิใจที่ได้เข้าร่วมพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ที่พรั่งพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ครูผู้สอน และเจ้าหน้าที่ ปีถัดมาโรงเรียนแห่งนี้สร้างหอพักหนึ่งหลังในบริเวณโรงเรียน แล้วเธอก็ก่อตั้งมูลนิธิวิงส์ออฟโฮป (ปีกแห่งความหวัง) ในไต้หวัน
ปลายปี 2548 มูลนิธิวิงส์ออฟโฮปบรรลุหมุดหมายสำคัญสามอย่าง อย่างแรกคือชางเอาชนะผู้ยื่นโครงการอื่นๆ 800 ราย ได้รับเงินรางวัล 1.7 ล้านเหรียญไต้หวันจากกองทุนจอห์นนี วอล์กเกอร์ คีป วอล์กกิงซึ่งมอบให้แก่โครงการที่เหมาะสม ต่อมาเดือนมีนาคม 2548 ทางการก็รับรองหมู่บ้านที่อยู่รอบโรงเรียน โดยชาวบ้านที่นั่นได้รับบัตรประชาชนเป็นครั้งแรกในชีวิต หมู่บ้านนั้นได้ชื่อใหม่ว่าไต้อิงปัน และอย่างที่สามคือในเดือนกรกฎาคม 2548 โรงเรียนประถมไต้อิงปันฉลองนักเรียนรุ่นแรกที่เรียนจบ ชางเดินหน้าสานฝันขั้นต่อไป คือสร้างโรงเรียนมัธยมด้วยงบประมาณอุดหนุนจำนวน 2.6 ล้านหยวนจากสำนักงานบรรเทาความยากจนมณฑลเสฉวน โรงเรียนมัธยมไต้อิงปันจึงสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2553
ทุกวันนี้ไต้อิงปันคือความภาคภูมิใจของเหลียงซาน ด้วยห้องเรียนพร้อมด้วยสื่อผสมจำนวนสิบห้อง ครัวหนึ่งห้อง และห้องสมุดสองห้อง พร้อมน้ำประปาและไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงเรียนนี้มีถังเก็บน้ำใต้ดินของตัวเอง พร้อมสุขาสาธารณะแห่งแรกของหมู่บ้าน ภาคเรียนหน้าคาดว่าจะมีครู 17 คน นัก เรียน 355 คน ที่น่าประหลาดใจคือนักเรียนหนึ่งในสิบไม่ได้มาจากหมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อน
ชางยังมีโครงการควบคู่กันในเมืองชิงเตา มณฑลชานตงด้วย นั่นคือ โรงเรียนการอาชีพชิงเตา เมื่อหลายปีก่อนเธอรบเร้าให้พี่ชายซึ่งบริหารโรงงานผลิตอุปกรณ์ออกกำลังกายที่นั่นรับนักเรียนที่จบจากไต้อิงปันเข้าฝึกงานพร้อมหลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และทักษะการจัดการชีวิต
เธอกล่าวว่า “ต่อให้นักเรียนบางคนของฉันจบมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย ช่องทางที่จะหางานทำได้ก็ยังจำกัด ฉันจึงคิดว่าน่าจะให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะด้านเทคนิคที่ใช้ประกอบอาชีพ ช่วยจุนเจือครอบครัว”
ชางยังคงติดต่อกับทางไต้อิงปันอยู่เสมอ แม้ขณะนั่งอยู่ในสำนักงานมูลนิธิของเธอที่ไทเป ซึ่งเป็นแฟลตธรรมดาๆ บนชั้นสองเหนือคลินิกแพทย์ของสามี
เสื้อผ้าสวมสบายและใบหน้าที่แต่งบางๆ ของเธอตรงข้ามกับที่เคยได้ชื่อว่าติดหรูเมื่อสมัยทำงานที่หนังสือพิมพ์เมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ผมซึ่งเธอถักเปียสองข้างก็ยังส่อให้เห็นพลังเยาวภาพในน้ำเสียงและกิริยาท่าที
“ไม่มีใครตั้งใจทำอะไรอย่างนี้จริงจังเพราะหวังจะได้รางวัลหรอก” เธอพูดถึงการได้รับรางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียจากรีดเดอร์ส ไดเจสท์ “แต่พูดตรงๆ ก็รู้สึกไม่เลวเลย มันทำให้เรารู้ว่าคนอื่นเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำการที่ใครๆ ยอมรับงานทั้งหมดที่เราทุ่มเททำมาย่อมเป็นเรื่องวิเศษ”
ชางบอกว่าข้อเสียของการได้รางวัลก็คือ “ไม่ได้อยู่นอกสายตาใครๆ อีกต่อไป แรงกดดันนี้ทำให้ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม” ใช่ว่ามันจะเคยเป็นเรื่องง่าย ชางเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วถึงความสิ้นหวังในช่วงแรกตอนที่ขายเทียนหาเงินทุนและรู้สึกย่ำแย่เมื่อขายไม่ได้แม้แต่เล่มเดียวในวันคริสต์มาสอีฟ เธอบอกว่า “มันยากที่จะโฆษณาแนวคิดเมื่อไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร” แต่เธอยังกัดฟันสู้ต่อ แล้วปี 2545 เธอก็ระดมทุนได้ถึง 600,000 เหรียญไต้หวัน (ราว 620,000 บาท) ในเวลาเพียงสองชั่วโมงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งของไทเปในวันผู้ป่วยโรคเรื้อนสากล
ชางบอกว่า “ครอบครัวส่วนใหญ่อาศัยลูกๆ เป็นแรงงาน ทุกครอบครัวมีลูกอย่างน้อยห้าคน โรงเรียนจึงเป็นการลงทุนระยะยาวเกินไปสำหรับหลายครอบครัว” เธอยอมรับว่าหลังภาคเรียนแรกผ่านไป นักเรียน 48 คนที่รับเข้ามาเรียนมัธยมเมื่อปีที่แล้วเหลืออยู่เพียง 26 คนเท่านั้น
สุขอนามัยคือปัญหาอีกอย่างและสภาพที่พบทั่วไปในเด็กคือ ทั้งเหา เหลือบไร และกลิ่นตัว เจ้าหน้าที่ต้องสอนให้เด็กรู้จักอนามัยพื้นฐาน ภาวะขาดแคลนน้ำและไฟฟ้าซึ่งเอาแน่นอนไม่ได้นั้นยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาท้าทายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับชางก็คือการรับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งหลายปีมานี้พยายามขัดขวางความอุตสาหะของเธอทุกครั้ง ทัศนคติของพวกเขาเปลี่ยนไปหลังจากเธอได้รับหลายรางวัลรวมทั้งการที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของรัฐบาลจีนประกาศยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งใน “บุคคลน่าประทับใจ” ที่สุดแห่งปี 2554 โดยถือเป็นชาวไต้หวันคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
เมื่อถามว่าเคยมีสักครั้งไหมที่เธอคิดจะยอมแพ้ ชางตอบตรงๆ ว่า “ตลอดเวลาเลยล่ะ!” แล้วเสริมว่า แต่เธอก็เป็นคนประเภทที่หลังเช็ดน้ำตาแล้วจะคิดถึงก้าวต่อไปโดยใช้เหตุผล
ตลอดเวลาที่ผ่านมาครอบครัวของชางกลายเป็นเรื่องรองจากมูลนิธิของเธอ แต่คน ในครอบครัวก็คอยให้กำลังใจ ช่วงหยุดเรียน ลูกชายวัยรุ่นทั้งสองตามเธอไปยังหมู่บ้านแห่งนั้นเพื่อทำงานเป็นอาสาสมัคร สามีซึ่งทีแรกคิดว่าไม่มีทางที่ภรรยาตัวเองซึ่งเคยชินกับชีวิตสุขสบายจะอยู่ได้ในสถานที่ไม่มีน้ำไฟใช้ ก็สนับสนุนการตัดสินใจของเธอเสมอมา
ทุกอย่างที่ชางทำในไต้อิงปันสะท้อนถึงปรัชญาสองประการของเธอ ประการแรก คือ ตระหนักว่าวันหนึ่งการศึกษาจะทำลายคำสาปเรื่องโรคเรื้อนได้ หาใช่เงินทองไม่ เธอกล่าวว่า “การช่วยเหลือคนเหล่านี้ไม่ใช่แค่ให้เงิน เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะใช้มันอย่างไร”
“ฉันเชื่อว่าตราบใดที่เราให้การศึกษาที่ดีแก่เด็กฉลาดๆ เหล่านี้ พร้อมกับให้ความรักเขามากๆ ทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตปกติและเป็นกำลังหลักของสังคมได้”
ปรัชญาประการที่สองของเธอคือ เรื่องการใช้ประโยชน์จากพลังความคิดเห็นของสาธารณชน
“ฉันไม่ตรงเข้าไปพูดกับใครหรอกว่า ‘ดูซิว่าคนพวกนี้จนแค่ไหน บริจาคเงินให้เราหน่อย’ ไม่หรอก ฉันต้องบอกให้ผู้คนรับรู้สถานการณ์ของพวกเขา บอกว่าทำไมพวกเขาถึงต้องสลัดโรคนี้ให้พ้น ฉันต้องอธิบายถึงจิตใจอันเป็นกุศล อธิบายว่าเป้าหมายสุดยอดของมันคืออะไร”
สำหรับชาง เป้าหมายสูงสุดนั้นคือ สร้างพลังผ่านความคิดเห็นของสาธารณชนให้ได้มากพอจะกดดันให้รัฐบาลสร้างความเปลี่ยน แปลงอย่างแท้จริง
เธอบอกว่า “เป้าหมายของฉันชัดมาก มูลนิธิเล็กๆ นี้อยู่มาได้นานหลายปีเพราะมีความหมายและเป้าประสงค์อย่างแท้จริง”
ทุกวันนี้ชางใช้เวลาประมาณปีละแปดเดือนในจีนไปบรรยายและร่วมงานต่างๆ โดยแบ่งสรรเวลาระหว่างไต้อิงปัน ชิงเตา และส่วนอื่นๆ ของประเทศ ปกติเธอจะบินกลับไทเปทุกสองหรือสามสัปดาห์
ชางกำลังวางแผนจะลดบทบาทจากการเป็นบุคคลแถวหน้าในอีกสองปีต่อจากนี้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าโครงการของเธออยู่ในขั้นสมบูรณ์เต็มที่แล้ว เธอรู้ว่าตัวเองไม่อาจช่วยเด็กทุกคนได้ เธอจึงตั้งใจเสมอมาว่าจะทำให้ไต้อิงปันเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆทำ ตาม
ตอนนี้หมู่บ้านอื่นๆ อีก 16 แห่งในเหลียงซานตั้งสถานศึกษาของตัวเองกันแล้ว ก้าวต่อไปคือตั้งมูลนิธิในจีนและดึงรัฐบาลจีนให้
มีส่วนร่วมด้วยมากขึ้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชางต้องหลั่งน้ำตานับครั้งไม่ถ้วนอันเกิดจากความรู้สึกโกรธ คับข้อง หัวใจสลาย และสิ้นหวัง แต่ที่เกิดจากความภาคภูมิใจและความสุขก็มีเหมือนกัน สุดท้ายมันก็เกี่ยวเนื่องกับเด็กๆ เสมอ บอร์ดติดภาพถ่ายใบหน้านักเรียนที่ไต้อิงปันทุกคนแขวนอยู่ในสำนักงานของชางเสมือนเครื่องเตือนใจให้นึกเสมอว่าเหตุใดการดิ้นรนต่อสู้นี้จึงคุ้มค่า
เธอบอกว่า “ฉันอยากสอนให้เด็กด้อยโอกาสพวกนี้รู้จักรักชีวิต เพราะชีวิตช่างแตกต่างหลากหลาย และมีความเป็นไปได้มากมายเหลือเกิน
“ถึงพวกเขาจะไม่มีทางร่ำรวย แต่เขาก็ยังเป็นสุขและอิ่มเอมใจได้ ความรู้สึกที่ฉันมีต่อพวกเขาก็ง่ายๆ เหมือนความรักอันไร้เงื่อนไขของแม่ ฉันไม่ต้องการให้พวกเขาตอบแทนอะไร แค่อยากให้พวกเขามีชีวิตที่ดีเท่านั้น”
--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น