...+

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

“อสทิสทาน” (ทานที่ไม่มีใครทำได้เหมือน)






.......สมัยหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี พระเจ้า ปเสนทิโกศลทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วถวายอาคันตุกทานอย่างประณีต ทรงประกาศให้ชาวนครมาดูทานของพระองค์

วันรุ่งขึ้น ชาวนครทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไปเสวย และฉันอาหารของพวกตน แล้วทูลให้พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรทานของตน

พระราชาทอดพระเนตรเห็นทานอันมโหฬารของชาวนครแล้ว ทรงถวายทานอีก ทำให้ยิ่งกว่าที่ชาวนครทำ ชาวเมืองก็ไม่ยอมแพ้ รวมกำลังกันถวายทานให้ยิ่งกว่าที่ พระราชาถวาย

รวมความว่าทำบุญแข่งกัน

ในที่สุดพระราชาสู้ไม่ได้ เพราะประชาชนมีมากด้วยกัน จึงบรรทมเป็นทุกข์อยู่ พลางทรงดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะถวายทานให้ชนะชาวนครได้ พระนางมัลลิกา อัครมเหสีเสด็จเข้าไปเฝ้า ทรงทราบถึงความโทมนัสของพระราชาแล้วทูลอาสาจะจัดทานถวายเอง และจะให้ชนะชาวนครให้ได้

พระนางขอให้พระราชารับสั่งให้คนจัดดังต่อไปนี้

ให้ทำมณฑปสำหรับภิกษุ 500 รูปภายในวงเวียนมณฑปนั้น ทำด้วยไม้สาละและไม้ขานาง ภิกษุที่เกินจำนวน 500 นั่งนอกวงเวียน ให้ทำเศวตฉัตร 500 คัน จัดหาช้าง 500 เชือก สำหรับถือเศวตฉัตรกั้นภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น ขอให้ทำเรือทองคำ 8 ลำ หรือ 10 ลำไว้กลางมณฑป ให้เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ นั่งบดของหอมอยู่ระหว่างภิกษุทุก ๆ 2 รูป (คือเจ้าหญิงองค์หนึ่งต่อภิกษุ 2 รูป) และเจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ ยืนพัดภิกษุ 2 รูป เจ้าหญิงนอกนี้ มีหน้าที่นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือ

ให้จัดเจ้าหญิงเป็นพวก ๆ บางพวกถือกำดอกบัวเขียวไปเคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้วนำไปถวายภิกษุ ให้ภิกษุรับเอาไออบ

เรื่องที่จัดเจ้าหญิงให้มาร่วมในการถวายทานนี้ก็ด้วยทรงดำริว่า ชาวนครไม่มี เจ้าหญิงเป็นเครื่องประกอบในทาน เป็นอันได้ชนะชาวนครไปได้เรื่องหนึ่ง เศวตฉัตรของชาวนครก็ไม่มี ช้างจำนวนมากเช่นนั้นก็ไม่มี

พระราชารับสั่งให้ทำตามที่พระนางมัลลิกาทรงแนะนำ

ปัญหามาติดอยู่ที่เรื่องช้างคือช้างไม่พอ ความจริงพระราชามีช้างเป็นจำนวนพัน แต่ช้างที่เชื่องพอจะนำมาถือเศวตฉัตรได้มีเพียง 499 เชือก ขาดไปเชือกหนึ่ง นอกจาก 499 เชือกแล้วเป็นช้างดุร้ายทั้งนั้น

พระราชาทรงปรึกษาพระนางมัลลิกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระนางมัลลิกาถวายความเห็นว่า ขอให้เอาช้างเชือกที่ดุร้ายนั้นไปถือเศวตฉัตรให้พระคุณเจ้าองคุลิมาล

พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำเช่นนั้น เมื่อช้างที่ดุร้ายเข้าใกล้พระองคุลิมาล มันสอดหางเข้าไปในระหว่างขาของมัน ปรบหูทั้งสองยืนหลับตานิ่งอยู่

มหาชนต่างมองดูช้างดุที่ยืนหลับตาอยู่ใกล้พระเถระและชมว่า พระคุณเจ้า องคุลิมาลมีอานุภาพถึงปานนี้

พระราชาทรงอังคาส (เลี้ยง) ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขด้วยอาหารอันประณีต และด้วยพระหฤทัยอันอิ่มเอิบ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า "สิ่งทั้งปวงในโรงทานนี้ ทั้งที่เป็นกัปปิยภัณฑ์ (สิ่งที่สมควรแก่สมณะ) และอกัปปิยะภัณฑ์ (สิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ) หม่อมฉันขอถวายพระองค์ทั้งสิ้น"

ในทานนี้ พระราชาทรงสละทรัพย์ 14 โกฏิหมดในวันเดียว ของ 4 อย่างคือ เศวตฉัตร 1 บัลลังก์สำหรับนั่ง 1 เชิงบาตร 1 ตั่งสำหรับเช็ดเท้า 1 ที่พระราชาถวายพระศาสดานั้นเป็นของสูงค่าจนไม่อาจคำนวณได้

ทานดังกล่าวมานี้ ไม่มีใครสามารถทำได้อีก (ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าองค์เดียว) เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกทานอย่างนี้ว่า อสทิสทาน คือทานที่ไม่มีใครทำได้เหมือน

ท่านกล่าว ว่า อทิสทานนี้มีแก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่พระองค์ละครั้งเท่านั้น สตรีย่อมเป็นผู้จัดแจงทานนี้ เพื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์

.......เมื่อพระราชาทรงบำเพ็ญอสิทิสทานอยู่นี้ มหาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ กาฬะ รู้สึกเสียดายพระราชทรัพย์เหลือประมาณเขาคิดว่า " นี้เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ราชตระกูล ทรัพย์ถึง 14 โกฏิ หมดในวันเดียว ภิกษุทั้งหลายบริโภคอาหารที่พระราชาถวายด้วยศรัทธาแล้วก็นอนหลับ มิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ราชตระกูลฉิบหายเสียแล้ว "

ส่วนอำมาตย์อีกคนหนึ่งชื่อ ชุณหะ คิดว่า " อา! ทานของพระราชายิ่งใหญ่ น่าเลื่อมใสจริง ทานอย่างนี้ผู้ที่ไม่เป็นราชาไม่อาจทำได้ พระราชาย่อมต้องทรงแบ่งส่วนบุญให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เราขออนุโมทนาบุญนั้น "

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จ พระราชาทรงรับบาตร เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา พระศาสดาทรงดำริว่า

"ทานของพระราชาครั้งนี้เป็นประดุจห้วงน้ำใหญ่ มหาชนมีจิตเลื่อมใสหรือไม่หนอ ทรงทราบวารจิต คือความคิดของอำมาตย์ทั้งสองแล้วทรงทราบว่า ถ้าจะทรงทำการอนุโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชา ในครั้งนี้ ศีรษะของกาฬอำมาตย์จะต้องแตกเป็น 7 เสี่ยง ส่วนชุณหอำมาตย์จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล"

ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์นั้น จึงตรัสพระคาถาเพียง 4 บาทเท่านั้น อนุโมทนาทานของพระราชาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเสด็จไปสู่วัดเชตวัน

ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า "ไม่กลัวหรือที่ช้างดุร้ายอย่างนั้นยืนถือเศวตฉัตรให้"

พระองคุลิมาลตอบว่าไม่กลัว ภิกษุทั้งหลายจึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า พระองคุลิมาลพยากรณ์อรหัตผล อวดตนว่าเป็นอรหันต์ ไม่กลัวช้างดุร้ายเห็นปานนั้น พระศาสดาตรัสรับรองว่า พระองคุลิมาลไม่กลัวจริง

ส่วนพระราชาปเสนทิ ทรงน้อยพระทัยว่า ได้ถวายทานอันมโหฬารปานนั้น แต่พระศาสดาทรงอนุโมทนาเพียง 4 บาท พระคาถาเท่านั้น น่าจะมีอะไรที่ไม่สมควรในทานอยู่บ้าง พระศาสดาคงจะทรงขุ่นเคืองพระทัยเป็นแน่แท้

พระราชารีบเสด็จไปสู่วิหารเชตวัน ทูลถามพระศาสดาในเรื่องนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า พระราชาได้ทรงกระทำชอบทุกอย่าง ทานนั้นได้นามว่า "อสทิสทาน" แต่ที่ทรงอนุโมทนาน้อย ก็เพราะหวังอนุเคราะห์กาฬอำมาตย์ ตรัสเล่าความคิดของอำมาตย์ทั้งสองให้พระราชาทรงทราบ

พระราชาทรงกริ้วกาฬอำมาตย์ตรัสว่า "เราให้ทานมากจริง แต่เราให้ของๆ เรา มิได้เบียดเบียนอะไรท่านเลยไฉนท่านจึงเดือดร้อนปานนั้น"

ดังนี้แล้วทรงเนรเทศกาฬอำมาตย์ออกจากแคว้น ตรัสเรียกชุณหอำมาตย์เข้าเฝ้า ตรัสถามว่า จริงหรือที่มีความคิดอนุโมทนาทานที่พระองค์ทรงกระทำแล้ว เมื่อ ชุณหอำมาตย์ทูลรับว่าจริง ทรงชอบใจและเลื่อมใสจึงทรงมอบราชสมบัติให้เขาครอง 7 วัน และให้ถวายทานได้ตามประสงค์ โดยทำนองที่พระองค์เคยทรงถวายมาแล้ว

พระราชาเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาอีกทูลว่า "พระองค์ทรงดูการกระทำของคนพาลเถิด เขาเหยียดหยามทานที่ข้าพระองค์ถวายแล้วถึงปานนี้ (ทรงหมายถึงกาฬอำมาตย์)"

พระศาสดาตรัสว่า

"คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ คนพาลไม่สรรเสริญทาน ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทานอยู่ จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า เพราะการอนุโมทนานั้น"



ที่มา
http://www.dhammajak.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น