...+

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จิตอาสา“ชิสุห์ซ่า”รวมพลังช่วยหมาด้อยโอกาส อิ่มใจสร้างเครือข่ายคนรักสัตว์





วันหยุดที่ผ่านมา Life On Campus ได้ทราบข่าวดีจาก กลุ่มคนใจดี รักสัตว์ ที่รวมตัวกันเพื่อแบ่งบันความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับสุนัข ในนาม “จิตอาสา ชิสุห์ซ่า” (ชมรมคนรักชิสุห์ที่รู้จักกันผ่านทางเว็บไซต์และเฟสบุ๊คที่รวบรวมข้อมูลของสุนัขสายพันธุ์ชิสุห์) รวมตัวปฏิบัติภารกิจบำเพ็ญประโยชน์ เดินทางจากกรุงเทพมุ่งตรงเข้าช่วยดูแล ฉีดวัคซีนให้กับหมาด้อยโอกาสที่บ้านป้าน้อย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีหมาที่ถูกนำมาปล่อย หมาจรจัด หมาพิการ จำนวนประมาณ 300 ตัว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำกันมาต่อเนื่องทุกปี และปีนี้ก็เป็นปีที่ 6 แล้ว
     
        “อู๋”นายปรัชญา สายาจักร หัวหน้าแผนกสารสนเทศ บริษัทผู้ส่งออกข้าว และในฐานะหัวหน้ากลุ่มชิสุห์ซ่า กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มชิสุห์ซ่ามีจุดเริ่มต้นจากเมื่อ 6 ปี ที่แล้ว โดยได้สุนัขชิสุห์มาเลี้ยงและอยากจะค้นคว้าข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ และเมื่อได้ข้อมูลมาก็อยากจะแบ่งปันให้กับคนที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ด้วย ก็เลยจัดทำเว็บบอร์ดที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับสุนัขชิสุห์ ซึ่งก็มีคนให้ความสนใจและเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ จากแค่คุยกันผ่านคอมพิวเตอร์ก็เริ่มมีการนัดพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จนนำมาซึ่งความคิดที่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมโดยการช่วยสุนัข
     
       “ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนรักสัตว์มารวมตัวกันก็เลยไม่ยากที่กิจกรรมเพื่อการช่วยสุนัขด้อยโอกาสจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในปีแรกได้ไปช่วยสุนัขที่สถานสงเคราะห์เกาะสุนัข พุทธมณฑล จ.นครปฐม ปีที่ 2 ไปที่ภูตาหลวง สัตหีบ จ.ชลบุรี ปีที่ 3 ไปที่ศูนย์รักษ์สุนัข หัวหิน จ.ประจวบคีรีขัน ปีที่ 4 ไปที่ บ้านตวงรัก กบิณบุรี จ.ปราจีน ปีที่ 5 เว้นไปหนึ่งปีเนื่องจากน้ำท่วมหลายพื้นที่ของประเทศไทย และ ปีที่ 6 คือปี 2555 นี้ ได้มาที่บ้านป้าน้อย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะทำการเข้าไปช่วยดูแลเรื่องความสะอาด อาบน้ำสุนัข ฉีดวัคซีนรวม วัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันเห็บหมัด รวมถึงนำอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ไปมอบให้กับสถานสงเคราะห์สัตว์ โดยปัจจัยเหล่านี้มาจากผู้สนับสนุนหลัก อาทิ Hills, Pfizer , Jerhigh, และ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ที่อยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่การจัดกิจกรรมในปีแรก”
     
       และแน่นอนว่า งานนี้จะขาดสัตวแพทย์คนเก่ง อย่าง “จี” นายสัตวแพทย์จีรพัฒน์ เสริมวัฒนากุล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ร่วมทำหน้าที่ในการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า เมื่อเดินทางมาถึงก็เจอป้าน้อยและบรรดาน้องหมายืนยิ้มหวานรอต้อนรับ พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ กับสุนัขเกือบ 300 ตัว มีกรงแยกพักเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันสุนัขกัดกัน จากสุขลักษณะที่มองเห็นก็ค่อนข้างเป็นสถานที่ที่ดูแลความสะอาดได้ดี มีน้ำ มีอาหาร วางไว้ให้หลายจุด มีรั้วรอบขอบชิดป้องกันไม่ให้สุนัขหลุดออกไปข้างนอก การฉีดวัคซีนสุนัขในพื้นที่ที่เปิดโล่งแบบนี้ก็อาจจะมีการติดเชื้อจากฝุ่นผงในอากาศ อาจทำให้เกิดฝีตามมาได้ ซึ่งทั้งผู้ช่วยจับสุนัขและหมอจะต้องใส่ถุงมือ เช็ดทำความสะอาดผิวหนังสุนัขด้วยแอลกอฮอล์ก่อนฉีดวัคซีน และทำสัญลักษณ์โดยการแต้มสีที่หน้าสุนัขในตัวที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งในครั้งนี้ก็มีสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ และจากบริษัท เมเรียล (ประเทศไทย) จำกัด มาช่วยฉีดวัคซีน จากประสบการณ์ของหมอในการลงพื้นที่ช่วยดูแลสุนัขด้อยโอกาสทำให้ได้เห็นช่องว่างของสังคมระหว่างสุนัขที่มีบ้าน มีเจ้าของดูแลเอาใจใส่ กับสุนัขที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์เหล่านี้
     
       “ผมคิดว่าสัตว์ทุกตัวมีความคิดมีหัวใจ ถ้าคิดจะเลี้ยงสัตว์แล้วควรมีความรับผิดชอบ ถ้าไม่อยากให้มีลูกควรทำหมันให้สัตว์เลี้ยง และขอให้เลี้ยงสัตว์ด้วยใจรักจริงๆ ไม่ใช่แค่เห็นว่าลูกสุนัขนี้น่ารัก ซื้อมาเลี้ยงโดยไม่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสายพันธุ์ นิสัย ลักษณะ ซึ่งความพร้อมเหล่านี้จะนำไปสู่การทิ้งสัตว์เลี้ยงในอนาคตได้”
     
       สำหรับจิตอาสาวัยใส อย่าง “ผึ้ง” นางสาวศยามล สิทธิสาร นักษาศึกษาปริญญาเอกจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอ่ยว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาช่วยดูแลและฉีดวัคซีนให้สุนัขเหล่านี้ และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์กับกลุ่มชิสุห์ซ่า สุนัขที่นี่ก็มีทั้งสุนัขโต ลูกสุนัข สุนัขป่วย สุนัขพิการ ถึงแม้เค้าจะพูดไม่ได้แต่ดูจากการแสดงออกและแววตาแล้ว เค้าดีใจ เค้าอยากมีเพื่อนเล่น
     
       “เรารับรู้ได้ว่าสุนัขที่นี้อยากให้คนมาดูแล เพราะระหว่างฉีดวัคซีนก็มีเวลาในการวิ่งเล่นกันบ้าง พวกลูกสุนัขจะสนุกกันใหญ่ มาตะกุยตะกายไม่หยุด เห็นแล้วก็สงสาร นึกถึงวันที่เค้าไม่มีข้าวกิน วันที่ฝนตก วันที่อากาศหนาว และก็จะมีสุนัขพวกที่ไม่กล้าเข้าใกล้คน ไม่ไว้ใจคน อาจเพราะเคยโดนคนทำร้ายมาก่อน ซึ่งกลุ่มนี้จะจับตัวมาฉีดวัคซีนยาก ก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงทำวัคซีนได้เกือบครบทุกตัว”
     
       เช่นกัน “นก” นางสาวประภัสรา เหล่าประเสริฐ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มชิสุห์ซ่าผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ เผยถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า ได้ร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสุนัขด้อยโอกาสมาตั้งแต่ปีแรก คิดว่าการที่มีกลุ่มหรือหน่วยงานอื่นๆ ได้เข้าไปช่วยเหลือบ้านหรือสถานรับเลี้ยงสัตว์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือในแง่ของการจะได้มาซึ่งความสนับสนุนทั้งเงินและปัจจัยต่างๆ ก็จะมีมาอย่างสม่ำเสมอ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือเมื่อมีคนรู้ว่าที่นี่รับเลี้ยงสุนัขก็จะมีคนนำสุนัขและแมวมาปล่อยไว้เพิ่มมากขึ้น
     
        “อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า การช่วยเหลือสัตว์ด้อยโอกาสเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุอยู่ที่คนเลี้ยงที่ไม่มีความรับผิดชอบ เลี้ยงตามมีตามเกิด พอเลี้ยงไม่ได้ก็คิดว่าเป็นภาระ
     
       “แอ้” นางสาวนฤมล ร่วมสุข คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครของกลุ่มชิสุห์ซ่าเพื่อร่วมกิจกรรมช่วยสุนัขมาหลายครั้งแล้ว "ทุกปีจะทำการสำรวจว่าที่ไหนมีสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง และจะจัดทีมสำรวจเข้าไปดูสถานที่จริง ไปพูดคุยกับเจ้าของบ้าน เล่าถึงสิ่งที่พวกเราจะมาช่วยดูแลสุนัข ถ้าเจ้าของยินดีที่จะให้เราเข้าไปก็จะดำเนินการทำรายงานเสนอไปยังกลุ่มสปอนเซอร์ ซึ่งทุกครั้งที่ได้มาช่วยดูแลสุนัขด้อยโอกาสเหล่านี้ก็จะได้รับความสุขใจกลับไป และก็แอบหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีสุนัขไร้บ้านแบบนี้ เพราะพวกเค้าน่าสงสารจริงๆ ค่ะ"
     
       ด้าน “ป้าน้อย” นางคำพร ศิริมาตย์ เจ้าของบ้านสุนัขด้อยโอกาสแห่งนี้ เล่าว่า พึ่งจะย้ายมาอยู่ที่ปากช่องได้ไม่ถึงปี บ้านเดิมอยู่แถวๆ รังสิต แต่ปีที่แล้วโดนน้ำท่วม ก็เลยยกขบวนมากันทั้งหมาทั้งคน โดยได้รับทั้งน้ำใจจากการบริจาคเงิน สิ่งของ และอาหาร จากผู้มีจิตศรัทธาจนสร้างเป็นที่พักอาศัยให้กับน้องหมาเหล่านี้ได้
     
        “จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงสุนัขไม่มีเจ้าของก็มาจากความสงสารและรักสุนัข คอยซื้อข้าวแจกสุนัขจรจัดใกล้ๆ บ้านเป็นประจำ และก็จะมีคนใจบุญนำเงินมาให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารให้สุนัข ทำแบบนี้เรื่อยมาจนสุนัขแถวนั้นตามมาอยู่ที่บ้านด้วย และเมื่อปลายปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องย้ายที่อยู่อาศัยมาที่นี่ พร้อมกับพาสุนัขร้อยกว่าตัวมาด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้สุนัขไม่มีเจ้าของพวกนี้ได้มีบ้าน มีข้าวกิน ไม่ต้องเร่ร่อน คือความสุขของป้าน้อยและครอบครัว ถึงจะเหนื่อยและยังต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูแต่เมื่อเห็นสุนัขเหล่านี้ได้มีชีวิตที่ดีก็หายเหนื่อย”ป้าน้อยกล่าว
     
       ท้ายนี้ Life On Campus ขอแสดงความนับถือสำหรับน้ำใจของเหล่าจิตอาสาและร่วมเป็นกำลังใจให้กลุ่มชิสุห์ซ่า กลุ่มคนรักสัตว์ที่มีความตั้งใจจะช่วยเหลือสัตว์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งแรงกาย แรงใจ หรือการบริจาคเงิน ก็ล้วนแต่เป็นกุศลและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม โดยทุกวันนี้เชื่อว่ายังมีกลุ่มคนรักสัตว์แบบกลุ่มชิสุห์ซ่าอยู่อีกมากที่ยอมสละเวลาเพื่อช่วยเหลือสถานสงเคราะห์สัตว์แบ่งเบาภาระของรัฐบาล แต่ในทางกลับกันในสังคมก็ยังมีกลุ่มคนอีกมากมายที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์อย่างสุนัข ยังมีพวกที่ทารุณ ค้าขาย และบริโภคเนื้อสุนัขให้ได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ อยากให้มีกฎหมายเข้มงวดในเรื่องนี้แบบเอาผิดให้ได้ทั้งขบวนการออกมาเสียที และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องควบคุมปริมาณสุนัขให้ได้ สุนัขทุกตัวควรมีเจ้าของ และผู้ที่จะเลี้ยงสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็ต้องมีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น