...+

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บุญและความหมายแห่งบุญ ๓ ระดับ







บุญ...และความหมายแห่งบุญ ๓ ระดับ

 ๑. เราทำบุญก็เพื่อประโยชน์สุขปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ)

 คือ เพื่อให้เกิดลาภบริวาร สถานภาพความเป็นอยู่ ความสุข คำชมเชย
 สนองตอบกลับมา นั่นคือคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจที่ดี
 และการยอมรับที่ดีจากสังคมรอบข้างที่เราอยู่

 ที่สุดก็เพื่อให้คนเรารู้จักเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกันฉันพี่น้อง
 คนที่เดือดร้อนก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ไม่ถูกทอดทิ้ง
 มีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีความสุข

 เพราะคนเราในโลกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน
 จะอยู่แบบตัวใครตัวมันไม่ได้

 ๒. เราทำบุญเพื่อประโยชน์สุขที่สูงขึ้น (สัมปรายิกัตถะ)

นั่นคือในระดับจิตที่สูงขึ้นไป
 เพื่อเราจะได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง

 ให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม มีคุณธรรม
 มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุดใจด้วยศรัทธา
 ภาคภูมิใจ อิ่มใจ แกล้วกล้ามั่นใจในชีวิตที่ได้ทำบุญ
 โดยกินความรวมถึงจุดหมายต่อมาเมื่อละโลกนี้ไปแล้วด้วย

 ๓. เราทำบุญเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถะ)

คือ ประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต

 ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
 รู้เท่าทันคติธรรมดาของโลกของสังขารธรรม
 ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต
 มีจิตเป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใส
 ไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต
 หรือการพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักในชีวิต
 ไม่ถูกบีบคั้นโดยความยึดมั่นของตนเอง เย็นสว่างไสวโดยสมบูรณ์




ความมุ่งหมายของบุญทั้ง ๓ ระดับนี้

 เราจะเห็นได้จาก พิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่มุ่งประโยชน์ทั้ง ๔ ด้าน
 ได้แก่ ด้านวัตถุ หรือความเป็นอยู่ ด้านสังคม
 ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่เกื้อกูลกัน
 ความสัมพันธ์ด้านจิตใจ และด้านปัญญา
 ทั้งหมดนี้ล้วนมีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตและสังคม
 อันไม่อาจขาดด้านใดด้านหนึ่งไปได้

พูดง่ายๆ คือ พิธีกรรมทางพุทธศาสนามุ่งให้เกิดประโยชน์ครบถ้วน
 อย่างเป็นองค์รวมตามความมุ่งหมาย

 ประโยชน์ทั้ง ๔ ด้านนี้เรายังเห็นได้จากประเพณีพิธีกรรมของชุมชน
 เช่น ลอยกระทง บุญบั้งไฟ
 กล่าวคือ ไม่เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายอนุรักษ์ลำน้ำ
 หรือเพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงเท่านั้น

 ยังเอื้อให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในชุมชน
 และมีกิจกรรมทางศาสนาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิต
 รวมทั้งมีการปลูกฝังตอกย้ำทัศนคติที่เคารพธรรมชาติ และจิตสำนึกต่อชุมชน
 ซึ่งล้วนเป็นคติที่สำคัญในการดำเนินชีวิต

โดยสรุปแล้ว ปุถุชนคนเราทำบุญก็เพื่อ "ตัวเอง"
 แต่คงดีกว่าถ้าเราทำบุญเพื่อ "พัฒนาจิต"
 และคงดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราทำบุญเพื่อพัฒนา "สติปัญญา" ไปด้วย
 และคงดีที่สุด ถ้าเราช่วยกันทำบุญทุกรูปแบบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
 เพื่อช่วยเหลือสังคมให้สงบสุข และดีไปด้วยพร้อมๆ กัน

 

(ที่มา : “ฉลาดทำบุญ : รวมเรื่องน่ารู้คู่มือทำบุญให้ถูกวิธี, พิมพ์ครั้งที่ ๖๗ (ฉบับปรับปรุง). ,
 สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศูนย์ส่งเสริมการให้
 และการอาสาเพื่อการส่งเสริมสังคม (ศกอส.) (National Centre for Giving and Volunteering (NCGV.) , หน้า ๒๓-๒๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น