...+

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สืบตำนาน “อุ้มพระดำน้ำ” สู่ประเพณีดีงามเมืองมะขามหวาน

สืบตำนาน “อุ้มพระดำน้ำ” สู่ประเพณีดีงามเมืองมะขามหวาน

ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมักจะมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอันเป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวเมืองและประชาชนทั่วไป อีกทั้งพระพุทธรูปแต่ละองค์ก็มักมีเรื่องเล่าถึงตำนานความเชื่อและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันปรากฏแก่ชาวเมือง และได้เล่าขานสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายมาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน

ดังเช่น “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักสิทธิ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีตำนานเล่าขานถึงความอัศจรรย์กลางลุ่มน้ำป่าสัก โดยองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่รูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเป็นแบบขอม การพบพระพุทธรูปองค์นี้เล่ากันว่า ชาวประมงคนหนึ่งได้ทอดแหหาปลาบริเวณคุ้งมะขามแฟบ ในแม่น้ำป่าสัก ในเวลานั้นมีลมพายุฝนฟ้าคะนองและกระแสน้ำวนเกิดขึ้น แต่เพียงชั่วครู่ก็เงียบหายไป น้ำที่ไหลเชียวก็หยุดนิ่ง และปรากฏเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำขึ้นมา สร้างความอัศจรรย์ให้แก่ชาวบ้านที่พบเห็น หลังจากนั้นชาวเมืองจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ และถวายนามว่าพระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องจากพระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของกษัตริย์นักรบสมัยขอมโบราณ


ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ขณะประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ



ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำมีมากมาย แต่เรื่องราวขององค์พระพุทธมหาธรรมราชามีความอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น เพราะเมื่อถึงวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ องค์พระก็ได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย และหลังจากการตามหาของชาวบ้านจึงได้พบองค์พระลอยอยู่ในแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกๆ วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เพื่อมิให้องค์พระต้องไปลอยอยู่ในแม่น้ำด้วยตัวเองอีกชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาไปประกอบพิธีดำน้ำ และได้กระทำสืบทอดกันมาด้วยความเชื่อและแรงศรัทธา จนทำให้เกิดเป็น “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ของทางจังหวัดเพชรบูรณ์สืบต่อมา

สำหรับผู้ที่จะอุ้มองค์พระดำน้ำนั้นก็คือเจ้าเมืองหรือพ่อเมือง หรือในสมัยปัจจุบันก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะประกอบพิธีพราหมณ์เพื่อเสี่ยงทายทิศทางในการอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนั้นก็ยังจะทำพิธีคัดเลือกบุคคล 4 คน ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาจากหลากหลายอาชีพเพื่อเป็นตัวแทนของ เวียง วัง คลัง นา หรือกรมการปกครองทั้งสี่ในอดีต มาดำน้ำพร้อมผู้ว่าฯ ในตำแหน่งสี่ทิศด้านข้างท่านผู้ว่าฯ และจะดำน้ำพร้อมกันทั้งหมด 6 ครั้ง ตามประเพณีที่สืบต่อกันมา ในขณะทำพิธีชาวเมืองเพชรบูรณ์จะมาร่วมแรงร่วมใจกันอธิษฐานให้บ้านเมืองมีความสุขสงบร่มเย็น


พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ



ปัจจุบัน พระพุทธมหาธรรมราชาประดิษฐานอยู่ในมณฑปของวัดไตรภูมิ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เฉพาะในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปีที่จะถูกอัญเชิญไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนั้น ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ยังได้ร่วมกันสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา เมื่อปี 2554 โดยพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ที่พุทธอุทยานเพชบุระ ใน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

สำหรับคำร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ที่ชาวบ้านได้พบนั้น นางจำนงค์สุข วีรพันธุ์ และนางสุรินทร์ มีเนตร แม่บ้านประจำพุทธอุทยานเพชบุระ ได้เล่าให้ฟังว่า หากใครปรารถนาเรื่องสุขภาพและหน้าที่การงาน ถ้ามาขอกับองค์พระก็จะสำเร็จกันทุกคน และมักจะแก้บนด้วยผลไม้ 9 อย่าง และหากวันไหนมีฝนตกหนักในยามค่ำ ชาวบ้านก็จะเห็นแสงที่ด้านหลังเศียรพระ เชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะองค์ท่านจะชอบน้ำ เมื่อฝนมาจึงได้เกิดความอัศจรรย์ให้คนได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับในปีนี้หากใครสนใจอยากมาร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ก็สามารถมาได้ตั้งแต่วันที่ 13-17 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก วัดโบสชนะมาร ซึ่งนอกจากจะได้มาเห็นประเพณีแห่งความศรัทธาแล้ว ก็ยังจะได้มากราบสักการะขอพรพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ และเป็นโอกาสดีที่จะได้ท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น