พยาบาลศาสตร์ มข.คิดค้นนวัตกรรม “ฝึกสมอง ชะลอความเสื่อม” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สาขานวัตกรรมออกกำลังกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ จากโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2555
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นนวัตกรรม “ฝึกสมอง ชะลอความเสื่อม” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สาขานวัตกรรมออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จากโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2555 โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สำหรับโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อขับศักยภาพทางด้านการคิดค้นนวัตกรรมของเยาวชนไทย และเพื่อสนับสนุนเยาวชนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ อีกทั้งเป็นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยเจ้าของผลงานประกอบด้วย นางสาวจตุพร พันธุ์พรหม นางสาวจารุญาณี คำหอม นางสาวทิวาพร พรหมงาม นางสาวเบญจวรรณ น้อยหา นางสาวพิชญากร สันชิด นางสาวรัตนาภรณ์ มีครไทย นางสาวศิวพร ศิวพลงาม นางสาวศิวพรรณ ศิวพลงาม นางสาวรัชยา สาธิตสิริกุล และอาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.เพ็ญจันทร์ เลิศรัตน์
นอกจากพวกเขาทั้ง 10 คน จะได้รับโล่พร้อมเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท ยังสร้างความภาคภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคณะพยาบาลศาสตร์ ทั้งยังดีใจที่ผลงานนวัตกรรมของพวกเขาได้รับความสนใจและได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย
เจ้าของผลงานเล่าถึงนวัตกรรม “ฝึกสมอง ชะลอความเสื่อม” ว่า สำหรับการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริหารสมอง ในการชะลอความเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุและผู้ที่เข้าสู่วัยสูงอายุ โดยใช้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมดังนี้ คือ การศึกษาสถานการณ์ภาวะสมองเสื่อม ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และแนวทางการบริหารสมองด้วยเกม ออกแบบที่ประดิษฐ์และทดลองใช้โดยผู้สูงอายุ ปรับแก้ตามข้อเสนอแนะและให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบนวัตกรรม นำไปทดลองใช้ในผู้สูงอายุในชุมชนสามเหลี่ยม 2 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และประเมินผลเป็นขั้นตอนสุดท้าย
“ผลงานประกอบด้วย เกมหมากโยน ที่จะช่วยฝึกสมาธิและกระตุ้นสมองในการประสานการทำงานระหว่างสายตาและมือ, เกมบันไดประเพณี ช่วยฝึกสมาธิและกระตุ้นสมองกลีบท้ายทอย จากการจัดลำดับความคิดจากสิ่งที่มองเห็น ทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองด้วยการคำนวณง่ายอย่างการบวกและลบเลข, เกมจับคู่ เป็นการลับคมสมองกลีบหน้า ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลาย การพูด การับรู้ภาษา การมีสมาธิ เกิดความรู้สึกนึกคิดและการคิดอย่างมีเหตุผล, เกมซูโดกุ ช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ด้วยการคิดแก้ปัญหา และสุดท้าย เกมเขาวงกต กระตุ้นสมองกลีบข้าง ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมและประมวลข้อมูล ความรู้สึกทั้งหลายและสมองเล็ก ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูล ประสานงานระหว่างอวัยวะต่างๆ ทำให้สมองได้ฝึกคิดและแสดงออกด้วยความรวดเร็ว” เจ้าของผลงานเล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น