...+

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สสจ.อุบลฯเตือนประชาชนระวังภัยจากโรคที่เกิดจากน้ำท่วมและเตรียมความพร้อมรับมือการเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี


by สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เตือนประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ระวังภัยโรคที่ตามมาภายหลังน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก ย้ำเตือนประชาชนในพื้นที่ประสบภัย อย่าถ่ายอุจจาระลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรกและอาจเกิดโรคระบาดง่ายขึ้นรวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยและได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยเตรียมการสนับสนุนชุดบรรเทาทุกข์ อาทิ ยาสามัญประจำบ้าน เสื้อกันหนาว ผ้าห่ม รองเท้าบูธ รวมทั้งเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัวแก่ประชาชนในภาวะดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ให้ดำเนิน งานมาตรการเข้มในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและทางสุขภาพจิต ตลอดจนให้สุขศึกษาแก่ประชาชนในการป้องกันอันตรายที่เกิดจากโรคที่มากับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า ไข้หวัดและภาวะโรคเครียด นายแพทย์สุรพร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินมาตรการในการดูแลประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในทุกพื้นที่ เน้นย้ำให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั้งโรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ จัดหน่วยประชาสัมพันธ์และออกให้บริการตรวจสุขภาพ ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ผู้ประสบภัยมักจะขาดแคลนในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ก็คือน้ำดื่ม น้ำใช้ ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มี ตราอย. หรือดื่มน้ำต้มสุก กินอาหารที่ปรุงสุกสะอาด ส่วนน้ำใช้นั้น สามารถนำน้ำท่วมมาปรับสภาพให้สะอาดและใช้ได้ โดยใช้สารส้มและคลอรีนเม็ด ใช้กับน้ำ 1 โอ่งมังกรใหญ่ โดยใช้สารส้มแกว่งน้ำให้ตกตะกอนก่อน และใส่คลอรีนเม็ด 1 เม็ด เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ จะทำให้น้ำสะอาดเท่าน้ำประปา ป้องกันโรคผื่นคัน โรคตาแดงได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด โดยจะต้องสวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการเหยียบเศษวัสดุ ทำให้เป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอในการให้สุขศึกษารวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าวทราบ ประกอบกับการเตรียมความพร้อมของจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 จังหวัดอุบลราชธานี , มณฑลทหารบกที่ 22, กองบิน 21 , ตชด, สถานีกาชาดที่ 7 อุบลราชธานี, ทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 , ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักชลประทานที่ 7 , เทศบาลนครอุบลราชธานี, อปท.ทุกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์ประชาบดี 1300 ศูนย์รับแจ้งรับบริจาค การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยและดินถล่ม ปี 2553 และสามารถโทรแจ้งเหตุในกรณีฉุกเฉินได้ที่ ศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ในการเตรียมให้ความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี รสสุคนธ์ มณฑา /ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น