...+

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

สิ้นกันยายน เกษียณอย่างไรให้เกษม โดย วิทยา วชิระอังกูร




  เดือนกันยายนของทุกปี คือเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณแผ่นดินที่ทางราชการกำหนด และวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณของทุกปี ก็จะเป็นกำหนดวันสิ้นสุดอายุราชการ ของข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี  ที่เรียกว่า “เกษียณอายุราชการ” ซึ่งปีหนึ่งๆ ก็จะมีข้าราชการจำนวนไม่น้อย ทยอยกันเกษียณอายุราชการต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย
     
       ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว จึงคิดว่าตนเองพอจะมีประสบการณ์ที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษียณอายุราชการ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่วันนี้ หรือผู้ที่เหลืออายุราชการอีกไม่กี่ปี หรือแม้แต่ผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วเช่นเดียวกับผู้เขียน
     
       จำได้ว่าขณะอยู่ในราชการ ซึ่งทราบกำหนดชะตาชีวิตตนเองว่า เหลืออีกเพียง 2 ปีเศษก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ผู้เขียนเองยอมรับว่าในบางขณะรู้สึกกังวลใจ ว้าวุ่นไปต่างๆ นานา เมื่อนึกถึงวันที่จะต้องออกจากราชการ ที่ทำมาครึ่งค่อนชีวิต เพราะเคยรับรู้และเคยได้เห็นตัวอย่างความล้มเหลวของคนเกษียณอายุราชการรุ่นก่อนๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่อาจดำรงชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างปกติสุข และหลายคนก็ถึงกับจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร จนมีคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า คนที่เกษียณอายุราชการ ต้องประคับประคองชีวิตให้ผ่าน 63 ปีให้ได้ ชีวิตจึงจะอยู่รอดปลอดภัยยาวนานต่อไป ซึ่งมาทราบความจริงในภายหลังว่า 3 ปีหลังเกษียณ คือช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ทำใจกับชีวิตใหม่ สังคมใหม่ ที่แตกต่างกับการอยู่ในราชการอย่างสิ้นเชิง คนที่ทำใจยอมรับไม่ได้จึงมีผลต่อสภาพจิตใจและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในวัยชรา ทำให้อายุไม่ยืนยาว
     
       ผู้เขียนโชคดีที่ในช่วงเวลานั้น บังเอิญได้อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยเรื่อง “ตายก่อนตาย”  ซึ่งว่ากันว่า เป็นธรรมะระดับปริญญาเอกจากสวนโมกข์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ นำมาสอนอย่างค่อนข้างถี่ในช่วงหลังปัจฉิมวัยแห่งชีวิตของท่าน ทั้งในรูปคำเทศน์ ข้อเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง ผู้เขียนยอมรับว่าซึมซับไม่ได้ทั้งหมด ด้วยกิเลสที่ยังพอกพูนหนาเตอะตามประสาปุถุชนทั่วไป แต่ก็เข้าใจได้ถึงแนวทางวิธีคิด และได้นำมาปรับใช้กับตนเองเป็น “เกษียณก่อนเกษียณ” ซึ่งก็ได้ผลเป็นคุณูปการแก่ตนเองมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ
     
       ผู้เขียนได้แอบทดลองใช้ชีวิตแบบคนเกษียณอย่างเงียบๆ คนเดียว ก่อนเกษียณอายุราชการจริงถึง 2 ปีเศษ ซึ่งก็เป็นเสมือนหนึ่งการวางแผนชีวิตล่วงหน้าทั้งด้านความเป็นอยู่ เมื่อไม่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่มีเลขา ไม่มีคนขับรถ ไม่มีรถหลวง ไม่มีลูกน้องบริวาร ไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ฯลฯ รวมไปถึงวางแผนการใช้จ่ายเงินเมื่อรายได้ประจำเดือนหลังเกษียณจะต้องลดลงไปกว่าครึ่งอย่างแน่นอน การแอบทดลองใช้ชีวิตเสมือนหนึ่งเกษียณอายุแล้ว เป็นเวลา 2 ปี ทำให้เมื่อถึงวันเกษียณจริงๆ จึงไม่รู้สึกแปลกแยกเท่าใดนัก และทุกวันนี้ ก็ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างสุขเกษมตามอัตภาพ ใช้ประสบการณ์และสติปัญญาที่พอมีอยู่บ้าง คิดกลั่นกรองเขียนหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองตามถนัด โดยตั้งเป้าให้มีคุณค่าสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมบ้าง
     
       ดูแลสุขภาพตนเองด้วยการเล่นกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่มตามที่ชอบ สร้างสังคมใหม่ เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลากหลายกลุ่มหลากหลายวงการพอสมควร เป็นสังคมเพื่อนใหม่ที่นอกเหนือจากเพื่อนเก่า สังคมเก่าในวงการราชการ ที่นับวันจะห่างเหินและห่างหายไปตามสภาพถิ่นที่อยู่และอายุขัย พยายามวางตนเป็นที่พึ่งทางสติปัญญาแก่ลูกหลาน ที่มาขอรับการปรึกษาและเยียวยาในบางกรณีที่จำเป็น เวลาเหลือนอกจากนั้น ก็ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ที่อยากไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ตามประสาคนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร อย่างที่ผู้เฒ่าผู้แก่อำนวยอวยพรไว้ในวันแต่งงาน เมื่อ 40 ปีก่อนโน้น
     
       ว่าที่จริง ปัจจุบันทางราชการไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ก.พ. และหน่วยราชการต่างๆ ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะเตรียมการให้สำหรับผู้เกษียณอายุราชการในแต่ละปี เป็นการปัจฉิมนิเทศในรูปแบบการรวมกลุ่มเข้าค่าย การสัมมนาที่มีวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์มาให้คำแนะนำการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างค่อนข้างครอบคลุม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพอนามัย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้เกษียณอายุราชการทุกคน ที่ใส่ใจรับฟังรับรู้และนำไปปฏิบัติ
     
       แต่สิ่งหนึ่งที่คนวัยเกษียณจะต้องเผชิญกับความเป็นจริงของสังคมไทยในอดีตกับปัจจุบัน ก็คือ ในอดีตสังคมไทยอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังเดียวกัน หรืออาณาบริเวณที่ใกล้ชิดกัน ผู้สูงอายุได้ช่วยเลี้ยงดูลูกหลาน ขณะเดียวกันก็จะได้รับการดูแลจากลูกหลานเช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างทางสังคมแปรเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ก็กลายเป็นอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ตามลำพัง การดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งด้านการเงิน ด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการปรับตัวใช้ชีวิตประจำวัน ที่ย่อมแตกต่างจากการอยู่ในชีวิตการทำงานราชการอย่างสิ้นเชิง
     
       หลายคนทำใจกับชีวิตหลังเกษียณไม่ได้ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ที่เคยมีอำนาจมานาน มีบริวารและผู้คนเคารพนบนอบ ประจบประแจงเอาใจมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกในขณะรับราชการอย่างล้นพ้นเหลือเฟือ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่งยวดสำหรับคนเกษียณทุกคน ก็คือ ต้องไม่คร่ำครวญหวนหาอาลัยอาวรณ์อดีต ที่ไม่มีวันกลับคืนมาแล้ว ต้องอยู่กับปัจจุบันด้วยความยินดี พอดี และพอใจ ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดให้การดูแลเอาใจใส่ได้แค่ไหน ก็ยินดีในสิ่งที่ได้รับอย่าไปเรียกร้องต้องการเกินกว่าเหตุ ต้องฝึกหัดลดละอัตตาตัวตนลงทีละน้อย ทำปัจจุบันให้มีความสุขตามอัตภาพ และตามความเป็นจริง มองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง และมองไปข้างหลังอย่างภาคภูมิใจ หรือบางคนอาจจะต้องแอบสำนึกเสียใจในการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตนในอดีต ก็ย่อมกระทำได้และหันกับมาประกอบคุณงามความดี อุทิศตนต่อสังคมส่วนรวม เพียงแต่อย่าไปติดข้องอยู่กับอดีตจนบั่นทอนความเป็นอยู่ในปัจจุบัน
     
       ต้องเชื่อมั่นว่า การเกษียณ เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากหน้าที่การงาน ที่จำเจมานาน ไม่ใช่วันสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นวันเริ่มต้นแห่งอิสรเสรีภาพ ที่จะเลือกทำงานใหม่ที่ใจรักและอยากจะทำ ไม่ใช่การทำงาน “เพื่อเงิน” เพียงอย่างเดียว แต่ถ้างานที่เรารักทำแล้ว “ได้เงิน” ก็ถือเป็นผลพลอยได้ ที่ไม่ผิดกติกาอันใด ขอเพียงอย่างเดียว อย่าคิดง่ายๆว่า วัยเกษียณเป็นวัยพักผ่อน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ชีวิตเหี่ยวเฉา และร่วงโรยไปอย่างน่าเสียดาย ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำเพื่อสนองความสุขใจของตนเองในเบื้องต้น และถ้าสิ่งที่ทำด้วยใจรักนั้นจะเจือจานเผื่อแผ่ไปถึงสังคมส่วนรวมก็จะยิ่งเป็นประโยชน์สุขไม่เสียเปล่า
     
       เชื่อเถิดครับว่า การอยู่อย่างรักตนเองและรักผู้อื่น ทำตนให้มีคุณค่า ไม่เป็นภาระต่อผู้คนแวดล้อมและสังคมโดยรวม เสียสละทำคุณประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมบ้าง ตามกำลังสติปัญญา เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ชีวิตในวัยเกษียณอยู่อย่างเกษมสุข ราบรื่น และร่มเย็น ตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น