...+
▼
วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555
2 กลุ่ม SME นครศรีฯ ลงขันเกือบ 1 พันล้านสร้าง I-Biz Avenue สู้เชนจ์สโตร์
นครศรีธรรมราช - ไอ-บิซ อเวนิว พลิกมิติการลงทุนในต่างจังหวัด สร้างเครือข่ายคอมมูนิตีมอลล์ในพื้นที่กว่า 24 ไร่ ด้วยการลงทุนเกือบ 1 พันล้านบาท โดยการร่วมทุนใหญ่ระหว่างกลุ่มเพชรไพลิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มปลีกแอนด์เพลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจไอทีในนครศรีธรรมราช สร้างโอกาส SME ในต่างจังหวัดหนีเชนจ์สโตร์สยายปีกบี้ธุรกิจไอทีภูธร ทำตลาดป่วนไร้เสถียรภาพด้านราคาขาย
นายศรีโรจน์ อนุตรเศรษฐ์ หุ้นส่วนและผู้บริหารโครงการไอ-บิซ อเวนิว เปิดเผยว่า การลงทุนในพื้นที่กว่า 24 ไร่ ริมถนนพัฒนาการคูขวาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ใช้งบประมาณเกือบ 1 พันล้านบาท โดยโอกาสที่สำคัญที่เราเชื่อมั่นคือ ศักยภาพในการลงทุน และประชาชนมีกำลังซื้อสูง สภาพ GPP ของจังหวัดมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชมาเป็นเวลานานแล้ว
“เราจึงได้ลงทุนเพื่อให้เป็นย่านธุรกิจการค้าแห่งใหม่ที่มีความทันสมัย มีความสะดวกสบายในการเดินทาง ที่จอดรถ เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ลานโล่งที่มีความยาวกว่า 500 เมตร ที่คาดหวังว่าจะเป็นแหล่งของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยในพื้นที่โครงการนั้นจะมีทั้งไอทีมอลล์ พลาซ่า และโรงแรม อาคารพาณิชย์ถึง 145 ยูนิต ไอ-บิซฟูดปาร์ค และไอบิซ อเวนิว เป็นแหล่งของกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้อย่างครบวงจร” ผู้บริหารรายนี้กล่าว
นายศรีโรจน์ อนุตรเศรษฐ์ หุ้นส่วนและผู้บริหารโครงการไอ-บิซ อเวนิว ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนของตลาดไอทีโดยภาพรวมของนครศรีธรรมราช ได้หดตัวลงประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ปรับตัวจากทิศทางด้านบวกที่เติบโต โดยเฉพาะในแวดวงด้านการศึกษา ผู้ใช้ในบ้าน แต่หลังจากที่สินค้าประเภทแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนระดับแนวหน้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าประเภทนี้ขยายตัวขึ้นหลายเท่า
“แต่ในส่วนของกล้องถ่ายรูปดิจิตอลประเภทคอมแพกต์ โน้ตบุ๊ก พีซี ชะลอตัวอย่างรุนแรงถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าเลือกใช้งานถ่ายรูปเล็กน้อยได้จากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยเฉพาะแท็บเล็ตที่ออกมามากหลากหลายยี่ห้อ รวมทั้งความแตกต่างด้านราคาจากไม่กี่พันบาทไปจนถึงเกือบ 3 หมื่นบาท ส่วนเดิมการตัดสินใจเลือกซื้อโน้ตบุ๊กจะเปลี่ยนไปใช้แท็บเล็ต กล้องคอมแพกต์ราคา 2-7 พันบาทการขายนิ่งมาก”
นายศรีโรจน์ อนุตรเศรษฐ์ ยังกล่าวต่อและว่า ปัจจัยอีกส่วนที่สำคัญคือ ลักษณะที่ว่า “ขายของฉลาดในราคาที่โง่” เป็นการแข่งขันที่สำคัญ ลักษณะของผู้ค้าประเภทขายเร็วอย่างเชนจ์สโตร์ต่างๆ ที่ขยายตัวออกมาจากกรุงเทพฯ มาลงในต่างจังหวัดมากขึ้น ได้ทุ่มตลาดด้านราคาอย่างรุนแรง ส่งเสริมการขายให้มียอดจำหน่ายมาก ขณะที่ผู้ค้าท้องถิ่น หรือผู้ค้ารายย่อยซื้อน้อยเป็นส่วนสำคัญ
“ผู้ผลิต หรือเวนเดอร์ต่างๆ ไม่ได้ดูแลผู้ค้ารายย่อยแบบเราที่เรียกว่ารีเทลล์ ลืมไปว่าพวกเราคือ กำลังหลักสำคัญในการเปิดตลาดภูธร ตลาดต่างจังหวัด พอตลาดในกรุงเทพฯ แน่น เชนจ์สโตร์ได้บุกต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างทางราคาสินค้าไอทีในต่างจังหวัดบิดเบือน ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อได้มองราคาสินค้าเป็นหลัก ส่วนนี้จึงทำให้ SME ในต่างจังหวัดยืนอยู่ไม่ได้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดจึงพยายามปรับตัว” นายศรีโรจน์กล่าวในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น