...+
▼
วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555
กรมเจ้าท่าจัดวันทางทะเลโลก รำลึก “100 ปี ไททานิค บนเส้นทางแห่งความปลอดภัยฯ”
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จัดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2555 ภายใต้ชื่องาน “100 ปี ไททานิค บนเส้นทางแห่งความปลอดภัยทางทะเล”
วันนี้ (26 ก.ย.) พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน “วันทางทะเลโลก” ประจำปี 2555 พร้อมด้วยนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ อธิบดีกรมเจ้าท่า โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีจัดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2555 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวว่า เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและร่วมมือกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) หรือ IMO ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่หลักในการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินเรือระหว่างประเทศ ในหัวข้อที่ IMO กำหนดในปีนี้คือ “One hundred years after the Titanic” หรือ “100 ปี ไททานิค บนเส้นทางแห่งความปลอดภัยทางทะเล” องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization)
หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IMO เป็นทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2491 และเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2502 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิก IMO ทั้งหลายในการกำหนดมาตรฐาน ข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล
ปัจจุบัน ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 170 ประเทศ และสมาชิกสมทบอีก 3 ประเทศ สำหรับประเทศไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก IMO ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2516 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรี IMO รวม 4 ครั้ง เมื่อปี 2548, 2550, 2552 และ 2554 ความมุ่งหวังของ IMO จะสัมฤทธิผลได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศสมาชิกต่างๆ ที่จะใช้ และบังคับใช้กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลอย่างเคร่งครัด
นายจำรูญ กล่าวอีกว่า วันทางทะเลโลกนับเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี ซึ่งองค์การทะเลระหว่างประเทศได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองมาเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้จัดในช่วงเดือนกันยายน เพื่อเป็นการส่งเสริม และเผยแพร่กิจกรรมการขนส่งทางน้ำให้ประชาชนโลกได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญ
สำหรับปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการจัดงานว่า “One hundred years after the Titanic” ดังนั้น คณะอนุกรรมการจัดงานฯ จึงได้กำหนดหัวข้อเป็นภาษาไทยว่า “100 ปี ไททานิค บนเส้นทางแห่งความปลอดภัยทางทะเล” เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์อุบัติภัยเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา “ไททานิค” เรือสำราญลำประวัติศาสตร์จมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ภายหลังที่พุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1912 ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างมหาศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการพัฒนามาตรการด้านความปลอดภัยในทะเล ก่อให้เกิดการจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ.1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้
สำหรับประเทศไทย ได้ตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 (ค.ศ.1913) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ให้เกิดความทันสมัยตามมาตรฐานสากลเป็นไปตามอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ โดยในปี พ.ศ.2525 ได้แก้ไข พ.ร.บ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การตรวจเรือให้เกิดความปลอดภัย และได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ฉบับที่ 15 พ.ศ.2528 ว่าด้วยเรื่องการตรวจเซอร์เวย์เรือ เพื่อแสดงว่าเรือลำนั้นได้รับการตรวจตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ และปรากฏว่าเป็นเรือที่อยู่ในสภาพปลอดภัย และเหมาะสมสำหรับการใช้ในช่วงระหว่างเวลาสิบสองเดือน หรือน้อยกว่านั้น
ซึ่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดงานวันทางทะเลโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจการด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการค้าโลก ทั้งในด้านการนำเข้า และส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทั้งในด้านบวก และด้านลบแก่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้
รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ได้แก่ คนปลอดภัย เรือปลอดภัย ท่าเรือปลอดภัย กรมเจ้าท่า จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาด้านพาณิชยนาวี ร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ การเสวนาเรื่อง “ความปลอดภัยในภาพรวมของ IMO” และ “ก้าวต่อไป...ประเทศไทยกับความปลอดภัยทางทะเล” เพื่อเน้นถึงบทบาทหน้าที่ การดำเนินการด้านความปลอดภัยของเรือ วิวัฒนาการ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยการเดินเรือจากอดีตถึงปัจจุบัน และพัฒนาต่อเนื่องไปในอนาคตสำหรับผู้ประกอบการด้านพาณิชยนาวี หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงานวันทางทะเลโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น