...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้อาชีพนักบินมีความเสี่ยงสูงเป็น “โรคปวดหลัง”




       ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลงานวิจัย “อาการปวดหลังเรื้อรัง” พบง่ายในสังคมสมัยใหม่ที่มักทำงานโดยอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ “อาชีพนักบิน” และ ผู้ที่ทำงานในสำนักงาน คนขับรถ คนงานในโรงงาน ฯลฯ ส่งผลให้ร่างกายขาดความยืดหยุ่น แนะควรทำกิจกรรม Stretching หรือการเหยียดยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลัง หรือเล่นโยคะและเล่นกีฬาก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลังได้
     
       รศ.ดร.ประวิตร เจนวรรธนกุล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคปวดหลังส่วนล่างในนักบินที่ขับเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ชาวไทย กล่าวถึงโรคปวดหลังว่า ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดที่บริเวณหลังส่วนล่างหรือบั้นเอวเท่านั้น ไม่แผ่หรือลามไปที่อื่น มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อเกร็งหรือข้อต่อกระดูกสันหลังมีปัญหา แต่หากมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวร่วมกับอาการปวดร้าวลงไปที่ก้น หรือบางคนอาจร้าวลงไปถึงบริเวณน่องและข้อเท้า จะมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นหรือเคลื่อน หรือเส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทันที เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่า สำหรับการนั่งแม้จะดูเป็นกิจกรรมที่ไม่หนัก แต่ความจริงแล้วส่งผลเสียต่อหลังหลายประการ เนื่องจากปกติแล้วกระดูกสันหลังจะเว้าไปข้างหน้า แต่ขณะนั่งมันจะเว้าไปข้างหลัง ทำให้กระดูกสันหลังบิดผิดรูปไป อีกทั้งการนั่งเฉยๆ เป็นเวลานานยังทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง ส่วนของกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อก็ได้รับสารอาหารน้อยลงอีกด้วย
     
       รศ.ดร.ประวิตร เปิดเผยถึงผลงานวิจัยดังกล่าวว่า มีที่มาจากการที่นิสิตนักกายภาพบำบัดซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ได้มีโอกาสดูแลนักบินจำนวนหนึ่งและพบว่ามีนักบินจำนวนมากที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง จึงสนใจทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ประกอบกับตนมีความสนใจเกี่ยวกับโรคปวดหลังอยู่แล้ว จึงร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นเพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังในนักบิน
     
       กลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เป็นกัปตันที่ขับเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ชาวไทยจำนวน 708 คน โดยใช้การวิจัยแบบตัดขวางและแบบสอบถาม ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 56รายงานว่าตนเองมีปัญหาโรคปวดหลังในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจเล็กน้อย เนื่องจากหากมีอาการปวดหลังในขณะขับเครื่องบินจะเป็นการรบกวนร่างกายและสภาพจิตใจของนักบินไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพในการขับเครื่องบินได้



       “ส่วนปัจจัยที่สัมพันธ์กับอาการปวดหลังพบว่ามี 2 กลุ่มปัจจัยคือ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคง่ายขึ้นได้แก่ การประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนหรือตกหลุมอากาศในระหว่างการบินบ่อยครั้ง โดยมีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากความเครียดที่สูงขึ้นทันที ซึ่งความเครียดมีส่วนสำคัญต่ออาการปวดหลังเป็นอย่างยิ่ง หรือการกระแทกอย่างรุนแรงระหว่างตกหลุมอากาศทำให้ข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังแพลง การยกกระเป๋าสัมภาระบ่อยๆ เนื่องจากนักบินมักจะนั่งตลอดการบินเป็นเวลาหลายชั่วโมง ร่างกายจึงไม่ยืดหยุ่น เมื่อต้องมาหิ้วของหนักก็ทำให้บาดเจ็บง่ายขึ้น การอยู่ในห้องบังคับการที่มีเสียงดังมากเป็นเวลานานและการมีความรู้สึกว่างานนักบินเป็นงานที่มีอันตรายมากทำให้เกิดความเครียด และปัจจัยป้องกันโรคปวดหลัง ได้แก่ การออกกำลังกายเป็นประจำ และระยะเวลาการพักระหว่างเที่ยวบินที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการทำงานและป้องกันอาการบาดเจ็บได้"
     
       รศ.ดร.ประวิตร กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการวิจัยต่อไป ขณะนี้กำลังสนใจศึกษาเกี่ยวกับอาการปวดหลังในผู้ที่ทำงานในสำนักงาน เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ทำให้สูญเสียเงิน เวลา และทรัพยากรไปกับการรักษาเป็นจำนวนมาก จึงต้องการศึกษาหาวิธีการป้องกันโรคปวดหลังสำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานนานๆ โดยกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันโดยการขยับร่างกายบ่อยๆ ในระหว่างวัน นอกจากนี้ยังได้คิดท่าบริหารง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านขึ้นเพื่อทดสอบดูว่าจะสามารถป้องกันอาการปวดหลังได้หรือไม่
     
       “สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการปวดหลังควรป้องกันด้วยการดูแลสภาพร่างกายให้ดี เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาปวดหลังของผู้ที่นั่งนานๆ คือร่างกายขาดความยืดหยุ่น จึงควรทำกิจกรรม Stretching หรือการเหยียดยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลัง หรือเล่นโยคะและเล่นกีฬาก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลังได้ ส่วนผู้ที่เป็นโรคปวดหลังแล้ว เมื่อเกิดอาการปวดก็ไม่ควรให้ความสนใจกับมันมากเกินไป ให้พยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ แต่ลดระดับความหนักของกิจกรรมลงมาเล็กน้อย และควรงดกีฬาบางชนิดที่ออกแรงมาก เช่น เทนนิส วิ่ง ฟุตบอล ฯลฯ จนกว่าอาการจะทุเลา แต่หากเป็นกีฬาเบาๆ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ฯลฯ ก็สามารถทำได้และจะส่งผลดีต่อโรคปวดหลังอีกด้วย ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหลังจะหายเองภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่หากยังไม่หายก็ควรปรึกษาแพทย์” คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับนักบินและผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดย รศ.ดร.ประวิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น