...+
▼
วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555
การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร : หลักไมล์ในการสร้าง ‘ครัวโลก’ ของทุกคน
โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 22 กรกฎาคม 2555 20:32 น.
หลักไมล์หนึ่งซึ่งประเทศไทยควรไปให้ถึงคือการผลักดันให้เกิดนโยบายการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนและประเทศ ด้วยปัจจุบันพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นต้นธารการผลิตอาหารและเป็นปัจจัยสำคัญหรับความอยู่รอดของเกษตรรายย่อยไม่เพียงอยู่ในมือกลุ่มทุนทั้งระดับบรรษัทยักษ์ใหญ่ และประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วที่รุกคืบเข้ามาทำเกษตรผ่านรูปแบบการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรพันธสัญญา (contract farming) และการแย่งยึดที่ดิน (land grab) เพื่อผลิตอาหารป้อนประเทศตนเองเท่านั้น ทว่ายังถูกนโยบายภายในประเทศทางเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักก่อมลพิษร้ายแรงจนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเบียดขับพื้นที่การเกษตรให้ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย โดยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมไม่มากนักสำหรับเกษตรกรรายย่อย
เกษตรกรจำนวนมหาศาลสูญเสียที่ดินราวร้อยละ 59.73 มีที่ทำกินไม่เพียงพอและต้องเช่าที่ดินทำกิน ส่วนหนึ่งเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับภาครัฐและเอกชนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินเพื่อทำการเกษตร นอกเหนือไปจากปัญหาคลาสสิกซึ่งรุมเร้าชั่วนาตาปี ตั้งแต่ปัญหาที่เกษตรกร 6.3 ล้านคนเป็นหนี้สินรวมกันกว่า 8 แสนล้านบาท จำนวนมากมีสถานะแบบทาสในเรือนเบี้ยที่ยากไถ่ถอนความเป็น ‘ไท’ และเกษตรกรร้อยละ 39 ตรวจพบมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดในขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัย
ไม่นับการที่ยิ่งนานวันอาชีพเกษตรกรยิ่งขาดศักดิ์ศรี พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเดินตามรอยความยากจน อายุเฉลี่ยของเกษตรกรเข้าสู่วัยชรา ขาดแรงงงานและคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่ออาชีพ
ดังนั้นทางหนึ่งซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปในเส้นทางการเป็นครัวโลก (kitchen of the world) ด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มยอดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเกษตรกรรายย่อยอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ประชาชนผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงชุมชนและประเทศชาติมีความมั่นคงทางอาหารแม้ว่าจะเปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่สินค้าเกษตรและอาหารจะทะลักเข้ามาในไทยด้วยราคาที่ถูกกว่า ทว่าอาจขาดมาตรฐานความปลอดภัยและทำลายอาชีพเกษตรกรรมนั้นก็คือการสร้างเสริมศักยภาพความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยโดยมุ่งประเด็นด้านการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเป็นสำคัญ
ด้วยขณะที่ภาคเกษตรกรรมไทยกำลังถูกกำหนดทิศทางการพัฒนาจากบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรที่มีผลกำไรมหาศาลระดับโลก จากการเอื้อประโยชน์ทางนโยบายและกฎหมายของรัฐที่นอกจากจะส่งเสริมการเกษตรตามแบบที่บรรษัทครอบงำเทคโนโลยีและครอบครองปัจจัยการผลิตแล้ว ภาครัฐยังมักอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษร้ายแรงและแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นให้สามารถเข้ามาลงทุนในพื้นที่ที่เป็นแหล่งทำการเกษตรหรือแหล่งอาหารของชุมชนอีกด้วย ดังสถานการณ์ที่ภาคใต้และภาคตะวันออกกำลังเผชิญหน้ากับการรุกเข้ามาของอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่ถ้าหากเข้ามาตั้งได้ไม่เพียงแหล่งอาหารจะถูกทำลาย สุขภาวะด้านร่างกาย สังคม และสิ่งแวดล้อมก็ต้องสูญสลายไปจากพื้นที่ถาวร
ทั้งนี้ในสถานการณ์สู้รบระหว่างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยชุมชน และประเทศชาติมีความมั่นคงทางอาหารกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ทำลายแหล่งอาหารและการขยายอาณาจักรของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรที่ครอบครองพื้นที่การเกษตรไว้ในอาณัติจำนวนมหาศาลตามแนวคิดทุนนิยมที่แสวงหากำไรสูงสุดโดยฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทยที่จะต้องสร้างกระบวนการกำหนดพื้นที่ผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองความชอบธรรมทางนโยบายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในระดับชุมชนและประเทศขึ้นมาให้ได้ในฐานะ ‘หลักไมล์’ (milestone) ทางนโยบายที่ทั้งรัฐบาลและขบวนการทางสังคมจักต้องบรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อหยุดยั้งการทำลายแหล่งอาหารและเบียดขับพื้นที่เกษตรกรรมให้กับอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องรู้เท่าทันวาทกรรมวิสัยทัศน์การเป็น ‘ครัวโลก’ ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรที่ความเป็นครัวโลกหมายถึงความมั่นคงขององค์กรมากกว่าความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ทุกคนด้วย
มิเช่นนั้นความแหลมคมของการแย่งชิงทรัพยากรอาหารจะทำให้พื้นที่ผลิตอาหารและแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่มีเหลือไม่มากนักของประเทศไทยหมดไปแน่นอน ตลอดจนสร้างสภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นในไทยถาวรเพราะไม่สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ หรือไม่ก็มีจำนวนเพียงพอ แต่ทว่าราคาแพงเพราะผลิตผลเกือบทั้งหมดอยู่ในมือบรรษัทอันเนื่องมาจากระบบเกษตรพันธสัญญาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลืนกินเกษตรกรอยู่นั้นทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจรที่มีที่ดินอยู่ในมือมหาศาลมีอำนาจเหนือตลาด มีอำนาจเจรจาต่อรองเหนือรัฐ และมีอำนาจกำหนดราคาขายผลผลิตแก่ผู้บริโภคและปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต
อีกด้านหนึ่งซึ่งรุนแรงไม่แพ้กันก็คือความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารกำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากการเปิดช่องของกฎหมาย และการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐด้านการลงทุนที่ส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในผืนแผ่นดินไทยได้โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษี การถือครองทรัพย์สิน และการจัดเก็บกำไร โดยไม่เคยตระหนักว่าสิทธิประโยชน์ที่บรรษัทเหล่านั้นได้ไปไม่ได้สร้างประโยชน์แก่คนในประเทศแท้จริง เศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ไม่ได้รับการพัฒนานัก คนท้องถิ่นไม่ได้มีงานมากขึ้น นอกจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ทำที่พักอาศัยราคาถูกให้คนงานในโรงงานที่ได้ค่าจ้างแสนถูกได้พักอาศัย
ในผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดกับชุมชนจากการเข้ามาของอุตสาหกรรมหนักได้ทำให้ผู้คนในชุมชนหลอมรวมตัวกันเป็นขบวนการทางสังคมเพื่อต่อกรกับการกอบโกยทรัพยากรโดยทิ้งมลพิษร้ายแรงไว้เบื้องหลัง เกิดการเรียนรู้ใช้เครื่องมือวิชาการอย่างการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment : CHIA) เพื่อพลิกสถานการณ์เสียเปรียบในสมรภูมิรบของการพัฒนากระแสหลัก ดังเช่นการต่อสู้ของชาว อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์กับอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) เพื่อรักษาแหล่งอาหารไว้ให้ชุมชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศและโลกผ่านการประมงทำปลาทู การทำเกษตรมะพร้าวอินทรีย์และสับปะรด
หรือกรณีการต่อกรกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ใช้ข้อมูลจากกระบวนการ CHIA คัดง้างผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอาศัยประเด็นด้านการเกษตรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ขายได้ทั้งในและต่างประเทศปีละหลายล้านบาทเพราะผ่านมาตรฐานสหพันธ์อินทรีย์นานาชาติ (IFOM) และมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) และสวนมะม่วงคุณภาพส่งออก มะขามเปียกแกะเมล็ด และผักพื้นบ้าน เป็นกลไก ในขณะเดียวกันก็นำเสนอชุดข้อมูลการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมและมลพิษร้ายแรงที่จะตามมาถ้าตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นมาได้อันจะทำให้สุขภาพชุมชนล่มลงและระบบเกษตรอินทรีย์ที่ลงหลักปักฐานมานานล่มสลายลงด้วย
ด้วยเหตุนี้นอกจากการหนุนเคลื่อนทางนโยบาย (policy advocacy) อย่างแข็งขันเต็มศักยภาพของภาคประชาสังคมในการผลักดันนโยบายการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารแล้ว ระดับชุมชนท้องถิ่นเองก็ต้องนิยามอัตลักษณ์ตัวตนว่าเป็นฐานทรัพยากรอาหารสำคัญของชุมชน ประเทศ และโลก ในฐานะ ‘ครัวโลก’ ด้วย โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือชุมชน CHIA เป็นสำคัญ ดังที่หลายชุมชนกำหนดอนาคตตนเองและสังคมโดยการเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการวางแผนพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านประเด็นเคลื่อนไหวด้านการเกษตรและอาหารเพื่อกรุยทางสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นมา
ด้วยในที่สุดแล้วแม้ไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารเป็นลำดับต้นของโลก แต่ตราบใดยังปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารไม่ได้ทั้งในระดับโนยายและปฏิบัติการ ตราบนั้นความเป็นครัวโลกที่มีอาหารหลากหลาย อร่อย และมีคุณค่าโภชนาการ ก็จะเป็นได้แค่นโยบายขายฝันทางการเมืองและวิสัยทัศน์บรรษัทที่ทำกำไรจากการค้าการลงทุนมากกว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร (food security) ที่ทุกคนทุกชุมชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่เท่านั้นถ้าไม่กำหนดการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเป็น ‘หลักไมล์’ ในทางนโยบาย ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคและปวารณาตัวเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงพลเมืองโลกก็จะสูญเสียที่มั่นถาวรเพราะแม้แต่คนในประเทศเองก็ยังอาจอดอยากปากแห้งจากภาวะข้าวยากหมากแพงได้!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น