...+

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาล : ใช้กลไก PR รัฐอย่างไร จึงจะเป็นผลดีต่อประชาชน โดย ไพศาล อินทสิงห์


   ขึ้นชื่อว่า เป็นรัฐบาล ไม่ว่าใครย่อมหวังผล 2 อย่าง 1) ผลงาน 2) ผลทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายถึงเสถียรภาพ ได้รับคะแนนนิยม และมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกเมื่อครบวาระ หรือเลือกตั้งใหม่
      
       ผลทางการเมือง อาจมาจากหลายทาง แต่ทางหนึ่ง เป็นอื่นไปไม่ได้ ก็คือ ต้องมาจากการมีผลงานโดดเด่น โดนใจประชาชน
      
       “ผลงานส่งผลทางการเมือง ”
      
       ที่สำคัญ ผลงานนั้นคนต้องเห็น ต้องรู้ จับต้องได้ สัมผัสได้ด้วย คำถาม คือ ทำอย่างไรให้คนเห็น ให้คนรู้ เป็นอื่นไปไม่ได้เช่นกัน ต้องใช้กลไกการประชาสัมพันธ์(PR)
      
       จะ PR ให้คนเห็นผล(งาน)ได้ รัฐบาลต้องทำ(งาน)ก่อน ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี จึงสำคัญในฐานะผู้นำนโยบาย
      
       นโยบายขับเคลื่อนสู่ผลงาน นโยบาย=ต้นทาง ผลงาน=ปลายทาง ผลงานจะโดนใจได้ นโยบายต้องโดนใจก่อน วันนี้พรรคการเมืองต่างๆ จึงต้อง “แข่งนโยบาย”
      
       ที่บอกว่า จะให้คนเห็นผลงาน ต้อง PR นั้น รัฐบาลมีกลไกประชาสัมพันธ์ของรัฐที่สำคัญอยู่ 3 ทาง(ระดับ)
      
       หนึ่ง กลไก PR ที่อยู่ข้างบนสุด คือ โฆษกรัฐบาล
      
       สอง ถัดลงมาเป็นโฆษกกระทรวง
      
       ขณะที่มีกลไก PR ถัดลงมาอีกอันหนึ่ง อยู่ล่างสุด สำคัญไม่น้อยไปกว่า 2 อันข้างบน ก็คือ “ประชาสัมพันธ์ของกรม” หรือ “โฆษกกรม” (บางกรมจะแต่งตั้งให้มีโฆษกกรม เช่น โฆษกกรมสุขภาพจิต เป็นต้น)
      
       เล่น PR 3 ระดับนี้ได้ ก็ครบวงจร เปรียบ PR รัฐบาล ดั่งส่วนยอดของพีระมิด ถัดลงมา PR กระทรวงอยู่ตรงกลาง และฐานพีระมิด PR กรม เป็นส่วนที่กว้างที่สุด
      
       ส่วนที่กว้างที่สุด เป็นฐานค้ำยันพีระมิดฉันใด ก็เป็นฐานค้ำยันกระทรวง และรัฐบาลฉันนั้น กรมจึงสำคัญ
      
       แต่รัฐบาลมักจะลงมาไม่ถึง แทนที่จะได้เปรียบกลับไม่ได้ เนื่องจากสัมผัสอยู่ข้างบน พูดถึงเฉพาะโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวงไม่ค่อยได้พูดถึงประชาสัมพันธ์ของกรมเท่าใด ผู้เขียนเห็นอย่างนั้น ไม่ทราบผู้อ่านเห็นอย่างที่ผู้เขียนเห็นหรือเปล่า ไม่แน่ใจ? ซึ่งผู้เขียนมองว่า น่าเสียดายโอกาส
      
       กรม ถือเป็นแขนขา เป็นมือไม้ในการทำงานให้รัฐบาลเต็มๆ หนุนนำนโยบายรัฐบาลเป็นภารกิจ งานโครงการต่างๆ
      
       หากดูภารกิจของกรมจะเห็นว่า กระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศ สัมผัสสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ประชาชน เข้าถึงทุกอณูรากหญ้าของประเทศ
      
       มีความโดดเด่นเฉพาะด้านของแต่ละกรมกันไป ต่อจิ๊กซอร์รวมทุกกรม ก็ครอบคลุมนโยบายรัฐบาลทุกด้าน
      
       ผลงานกรม= ผลงานกระทรวง =ผลงานรัฐบาล
      
       ใส่นโยบายลงไปพื้นที่แล้ว จะไหลรื่น สำเร็จมาก สำเร็จน้อย เป็นมรรคเป็นผลออกมาเท่าใด ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติที่เป็นแขนขา มือไม้นี่แหละ โดยเฉพาะอธิบดี ในฐานะผู้นำองค์กร
      
       ทั้งผู้มีส่วนหนุนนำอธิบดี ซึ่งก็คือ ประชาสัมพันธ์ของกรมนี่เอง ไม่ใช่ใครที่ไหน ทำงานเป็นทัพหน้า เคียงคู่ขนานไปกับอธิบดี
      
       เฉกเช่นโฆษกกระทรวง ทำงานเคียงคู่ขนานไปกับรัฐมนตรี
      
       เฉกเช่นโฆษกรัฐบาล ทำงานเคียงคู่ขนานไปกับนายกรัฐมนตรี
      
       ถ้าเล่น PR เป็น : กรมสำเร็จ กระทรวงได้ รัฐบาลรับ (คะแนนนิยม)
      
       จึงมีคำถามชวนคิด : หากรัฐบาลลงมาสัมผัสประชาสัมพันธ์กรม-โฆษกกรม(บ้าง) จะดีหรือไม่ ประการใด จะใช้กลไก PR รัฐอย่างไร ถึงจะเป็นผลดีต่อประชาชน หากผนึก เชื่อมโยง และประสานกลไก PR ทั้ง 3 ระดับให้เข้มข้น ใกล้ชิดกันมากขึ้นล่ะ จะดีมั้ย?
      
       เสริมกัน ย้ำกัน หนุนนำ หนุนส่งกัน!!
      
       ยังมองว่า หากทำได้ คงจะเป็นพลัง PR ที่น่าสนใจไม่น้อย สร้างการเข้าถึงประชาชนมิติใหม่ เพื่อให้ทันปัญหาความต้องการ และสถานการณ์ที่นับวันจะซับซ้อน และยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องหวังผลงาน และหวังผลทางการเมือง
      
       ไม่เชื่อลองดูจากข่าวประท้วงของชาวสวนยางนับพันคน ปิดถนนสายเอเชีย บริเวณแยกบ้านท่าน้ำแห้ง ต.คลองไทร อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เรียกร้องรัฐบาลประกันราคายางแผ่นดิบ กก.ละ 120 บาท ทำให้เส้นทางสายใต้รถติดยาวกว่า 20 กม. (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ลว. 12 ก.ค.55)
      
       ขณะที่ชาวสวนยางจากอำเภอต่างๆ ใน จ.นครศรีธรรมราช รวมตัวกันปิดถนนสายเอเชียทั้ง 4 เลน ประท้วงราคายางพาราตกต่ำที่บริเวณสี่แยกบ้านหนองดี สาย 41 ทุ่งสง-สุราษฎร์ธานี (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ลว. 17 ก.ค.55)
      
       อีกทั้งชาวเชียงดาว จ.เชียงใหม่ กว่าพันคนรวมตัวปิดถนนประท้วงรัฐบาล เรียกร้องขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างถนนมานานตั้งแต่ปี 2548 เหลืออีก 6 กม.ไม่เสร็จสักที 8 ปีแล้ว ทำให้การสัญจรไปมายากลำบาก เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ลว. 7 ก.ค.55)
      
       ไหนจะค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง โดยองค์กรเครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.วังวน นาเกลือ และ ต.บางสัก (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ลว. 18 ก.ค.55)
      
       หนำซ้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ต้านรัฐจัดการปัญหาเรื่องน้ำทั้งระบบของประเทศที่มีการประมูล หรือทีโออาร์ 3.5 แสนล้านบาท ยังมีแผนวาระซ่อนเร้น หมกเม็ดในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมอันมีค่ามหาศาลอย่างมาก (ข่าวจาก นสพ.ส่วนกลางฉบับหนึ่ง ลว. 18 ก.ค.55)
      
       แค่ 5 เรื่องนี้ก็เหนื่อยแล้ว จะแก้ไขกันอย่างไร จะ PR กันอย่างไร ใช้กลไก PR รัฐอย่างไร ขอยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจผู้อ่าน ยกเรื่องลบ เรื่องบวกเราไม่ห่วง(ขณะที่เขียนบทความนี้ บางปัญหาจบไปแล้ว)
      
       มองในมุม PR ต้องใช้ประชาชนเป็นตัวตั้ง เห็นใจเกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ เห็นใจชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากถนนที่ก่อสร้างไม่เสร็จ 8 ปีแล้ว เห็นใจประชาชนผู้สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนจากการประท้วงปิดถนน เห็นใจชุมชนกลัวผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
      
       การประชาสัมพันธ์ คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา รับรู้เข้าใจความต้องการ เขาเดือดร้อนจริง ไม่เช่นนั้นเขาไม่ออกมาประท้วง
      
       ขณะที่ก็เห็นใจรัฐบาล กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้วย จะมีวิธีการ หรือหาทางออกร่วมกันอย่างไร?
      
       แง่คิด ก็คือ PR พอจะมีกลวิธีรู้ก่อนล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า จะมีการประท้วง? เพราะประท้วงแล้วคุมไม่ได้ มีโอกาสบานปลาย ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ใครๆ ถ้ารู้ก่อน จะได้ชิงแก้ปํญหาก่อน จะแก้อย่างไรอยู่ที่ศิลปะผู้นำ โดย PR อาจเสนอแนะ
      
       ไม่เช่นนั้น ก็จะเป็น Routine ตามแก้ หลังปิดถนนทุกครั้ง เพราะไม่ทันปัญหา ไม่ดักปัญหา แม้การแก้ปัญหาเป็นผลงาน แต่คงไม่ค่อยประทับใจคนดูเท่าไร
      
       จะแก้ก่อนหรือหลังปิดถนน?
      
       มีม็อบบ่อยๆ ใช่ว่าจะดีเมื่อไหร่ ภาพประเทศดูปั่นป่วน ยิ่งในยุคใหม่นี้สื่อไทย สื่อเทศรายงานข่าวไปทั่วโลก ปิดกั้นก็ไม่ได้ เสียภาพลักษณ์ประเทศ นักลงทุนต่างชาติก็ไม่อยากมาลงทุน กระทบเศรษฐกิจ ปากท้อง รายได้ การจ้างงาน ฯลฯ
      
       ต้องใช้กลไก PR รัฐ โดยการเช็กข่าว สำรวจข้อมูล ฟัง พบปะพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง รับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เกษตรกร ฟังจากสื่อ
      
       จาก 5 เรื่องที่ยกมา เชื่อว่าประชาสัมพันธ์กรม ประชาสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องน่าจะเข้าถึง หรือนักประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ที่ประจำจังหวัดนั้นๆ น่าจะรู้ดีกว่าใคร เพราะอยู่ในพื้นที่
      
       รู้แล้ว โทร.ประสานโฆษกรัฐบาลได้มั้ย ไม่แน่ใจ? หรือประสานโฆษกกระทรวงได้หรือเปล่า เพื่อให้ข่าวสารถึงผู้บริหารพิจารณา ตรงนี้สำคัญเพราะจะทำให้การแก้ปัญหารวดเร็ว ทันการณ์
      
       ก่อนปัญหาบานปลาย อาจสั่งให้หยุด ศึกษาเพิ่มเติม ช่วยเหลือด่วน ชะลอ ขยายเวลา เลื่อนโครงการ พับแผนชั่วคราว กระทั่งยกเลิกโครงการ เป็นต้น อย่างไหนจะเป็นผลดีและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม ก็ต้องตัดสินใจ
      
       ขึ้นชื่อว่า การบริหาร ไม่ว่างานอะไร องค์กรใด รัฐบาล กระทรวง กรม หรือหน่วยงานอื่นๆ ย่อมต้องมีปัญหา เป็นของคู่โลก แต่หากเลือกได้ ควรใช้กลไก PR
      
       PR พร้อมทำหน้าที่แผ้วถางทางสร้างความเข้าใจ อะไรที่เป็นปัญหา ถ้าเข้าใจกันเสียแล้ว ที่ยากก็ง่าย ที่ง่ายก็ง่ายยิ่งขึ้น
      
       “ความเข้าใจประชาชนต้องมาก่อน” อย่างอื่นยังทีหลัง ไม่ว่างบประมาณ คน เครื่องไม้เครื่องมือ สำคัญแค่ไหนยังมาทีหลัง เพราะถ้าส่งข่าวสาร PR ออกไป เจอต้าน ประชาชนไม่เอาด้วย มีงบ คนพร้อม เครื่องมือพร้อม ก็ทำอะไรไม่ได้
      
       แต่หากเห็นด้วย ก็หนุนขาดใจเช่นกัน
      
       PR รัฐบาล PR กระทรวง PR กรม จึงสำคัญ
      
       การบริหารงานองค์กรใดๆ ใช้การประชาสัมพันธ์เป็นฐานมีแต่ได้ และโอกาสสำเร็จสูง เพราะตรรกะของการประชาสัมพันธ์ คือ ให้คำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง
      
       คิดเล่นๆ ถ้านโยบาย งานโครงการใดๆ รวมถึงการแก้ปัญหาให้ประชาชน หากไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างทุ่มเท เอาจริงเอาจังจากส่วนฐานพีระมิด อ่อน PR ข่าวสารเข้าไม่ถึงประชาชน ไม่สำเร็จเท่าที่ควร ย่อมส่งผลกระทบขึ้นไปถึงกระทรวง และรัฐบาล
      
       ดีไม่ดีอาจไม่รอด ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ก็เป็นไปได้
      
       PR กรม จึงเป็นฐานให้รัฐบาลที่มีความหมายยิ่ง
      
       จะดีมั้ยหากนายกรัฐมนตรีจะประชุมข้าราชการที่ทำงานประชาสัมพันธ์ทุกกรมพร้อมกันสักครั้ง ในฐานะที่เป็นกลไก PR รัฐเพื่อให้นโยบาย ทิศทาง เป้าหมายการทำงาน PR
      
       รัฐบาลต้องการผลของการประชาสัมพันธ์อย่างไร ถึงไหน ขนาดไหน คุยกัน(บ้าง) จะทำให้ข้าราชการ PR ทุกกรม เห็นทาง PR จะเดินอย่างไร ก่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชน สื่อสารกันเอง(บ้าง)น่าจะดี นอกจากนักประชาสัมพันธ์รัฐได้ฟังนโยบาย PR แล้ว ยังมีโอกาสพบปะ พูดคุย ซักถาม ถามไถ่ท่านนายกฯ
      
       โฆษกรัฐบาล น่าเป็นเจ้าภาพจัดประชุมให้ท่านนายกฯ สื่อสารกับนักประชาสัมพันธ์กรม นักประชาสัมพันธ์ของรัฐทั้งระบบ ประชาสัมพันธ์กระทรวงทุกกระทรวง ประชาสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดทุกจังหวัด
      
       จากนี้ยกหูต่อสายถึงกันได้หมด ประชาสัมพันธ์กรม ประชาสัมพันธ์จังหวัด ประชาสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจขึ้นไปโฆษกกระทรวง โฆษกรัฐบาล กระทั่งสื่อสารจากยอดพีระมิดลงมาส่วนฐานเช่นกัน ทั้งสื่อสารไขว้ สื่อสารข้าม เพื่อความรวดเร็ว เน้นทันเกม ทันการณ์ ตอบโจทย์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน
      
       เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในงาน PR
      
       เชื่อว่า การได้พูด ได้คุย เห็นหน้าค่าตากัน ทำให้เกิดศรัทธาในการทำงาน จะเป็นการสร้างพลัง PR ที่มีศักยภาพเมื่อทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน การประชาสัมพันธ์ภาครัฐส่งผลดี และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
      
       เป็นกลไก PR รัฐมิติใหม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น