บทความจากคนเสื้อเหลืองถึงคนเสื้อแดง
โดย วิทยา วชิระอังกูร
การถกแถลงแบ่งปันความคิดระหว่างสองเรา ไม่ว่าจะทางโทรศัพท์ หรือในวงน้ำชากาแฟ และเหล้าเบียร์ในบางโอกาสที่เป็นมาโดยต่อเนื่องช้านาน แม้จะเป็นความคิดต่างขั้วขัดแย้งกันอย่างสุดโต่ง แต่สายสัมพันธ์แห่งมิตรไมตรีอันยาวนานก็ยังคงแน่นแฟ้นไม่แปรเปลี่ยนไปเลย นี่หรือเปล่าหนอ ที่น่าจะเรียกว่าเป็นวิวาทะแบบประชาธิปไตยมากกว่าที่เห็นที่เป็นอยู่ในรัฐสภาไทยในปัจจุบัน ที่อภิปรายถกเถียงกัน แบบมุ่งเอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง
ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่นับวันจะกลายเป็นความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ฉันหวนคิดไปว่า วิธีการอารยะสนทนาที่เคยใช้ได้ผลในการแก้ไขปัญหาสำคัญระดับโลก น่าจะพอเป็นทางออกของสังคมไทยแทนการเผชิญหน้าแบบเอาเป็นเอาตายกันอยู่ในขณะนี้ ฉันไม่รู้ว่าเธอจะพอเห็นคล้อยตามในส่วนนี้บ้างหรือไม่ และเธอพอจะนึกทบทวนหวนคิดถึงครั้งที่โลกเราเผชิญกับความน่ากลัวของสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกากับหัวโจกค่ายคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออกอย่างสหภาพโซเวียตได้หรือไม่
ความน่าสะพรึงกลัวต่ออาวุธร้ายนิวเคลียร์ ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพร้อมจะกดปุ่ม ทำลายล้างมนุษยชาติ หรืออาจทำลายล้างโลกมนุษย์ทั้งโลกนี้ ให้พินาศเป็นผุยผงไปในพริบตาเดียว
ความยืดเยื้อของสงครามเย็น (Cold War) สร้างสภาวะความตึงเครียดต่อเนื่องยาวนานถึง 46 ปี (ค.ศ. 1945 - 1991) สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นประเทศอภิมหาอำนาจ (Super Power) ซึ่งต่างมีอุดมการณ์และพันธกิจที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว คือสหรัฐอเมริกานิยมลัทธิประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ส่วนสหภาพโซเวียตนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์แบบสังคมนิยม ซึ่งต่างฝ่ายก็เผยแพร่ลัทธิความเชื่อเพื่อหาแนวร่วมจากประเทศต่างๆ และต่างฝ่ายก็มีแสนยานุภาพเป็นระเบิดนิวเคลียร์ ที่เผชิญหน้ากันอย่างพร้อมจะเอาเป็นเอาตายตลอดเวลา
มีความพยายามที่จะยุติสงครามเย็นอันน่ากลัวลงให้ได้นับครั้งไม่ถ้วน ในเวทีทางการทูตและบนโต๊ะประชุมเจรจาในสารพัดรูปแบบ แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย เพราะว่ากันว่า เวทีทางการทูตก็กลายเป็นสนามรบของสงครามเย็นในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีแต่การสร้างภาพ ตระเตรียมงานหลังฉาก เอาชนะคะคานกันด้วยการเสนอระเบียบวาระการประชุมที่ยอกย้อนซ่อนเร้น เป็นการทำสงครามจิตวิทยา เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบแบบไม่ยอมลดราวาศอกแก่กันและกัน
ความล้มเหลวบนโต๊ะประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ต่างฝ่ายเบื่อหน่ายที่จะใช้วิธีการเผชิญหน้าเช่นนี้อีกต่อไป และเกิดแนวคิดเสนอแนวทางใหม่ โดยจัดให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายพบปะพูดคุยกันส่วนตัวแบบไม่เป็นทางการ
และจุดเปลี่ยนของโลกสงครามเย็นก็บังเกิดขึ้น ในยุคสมัยของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) แห่งสหรัฐอเมริกา กับประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachyoy) ที่ทั้งสองได้พบปะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว แบบอารยะสนทนา (dialogue) ณ สถานที่ตากอากาศเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ เรคคาวิค (Reykjavik) ประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์
โดยภายหลังการพบปะครั้งสำคัญนั้น ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ได้เปิดเผยว่า การได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนสนทนาแบบเงียบๆ สองต่อสอง ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไร้พิธีการ ทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ การสนทนาเป็นไปแบบธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่ง ทั้งคู่ต่างได้เปิดเผยมุมมองแลกเปลี่ยนจุดยืนซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด และความหวาดกลัวของทั้งสองประเทศ ต่ออาวุธร้ายนิวเคลียร์ จนในที่สุด ต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกัน ในอันที่จะป้องกันและกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ และหาทางนำสันติภาพและความสงบสุขกลับคืนแก่โลกในฐานะที่เป็นผู้นำโลกทั้งสองฝ่าย กอร์บาชอฟยอมรับว่า การพบปะสนทนากับเรแกนครั้งนั้น ทำให้เขาได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดและมุมมองของคู่กรณีอย่างสหรัฐอเมริกา และเริ่มมีทัศนคติเปลี่ยนไปจากเดิม
ไม่น่าเชื่อว่าบทสนทนาเล็กๆ เรียบง่าย แบบอารยะสนทนา ระหว่างผู้นำโลกสองค่ายในครั้งกระนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ และนำไปสู่การประกาศจุดยืนร่วมกันในการแก้ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของยักษ์ใหญ่ ทั้งสองประเทศ ในเวลาต่อมา (Daniel Yankelovich 1999)
ฉันเขียนทบทวนเรื่องนี้ให้เธอฟัง เพราะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับสงครามแบ่งขั้วสีในบ้านเมืองของเรา ที่นับวันจะเผชิญหน้าและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเอาเป็นเอาตายต่อกันได้อยู่ตลอดเวลา นึกถึงเรื่องการแก้ปัญหาสงครามเย็นในอดีตของโลกขึ้นมาได้ ก็เลยลองนำมาบอกเล่าแลกเปลี่ยน เผื่อเธอและฝ่ายคนเสื้อแดงที่ยึดกุมอำนาจรัฐอยู่ จะพอมองเห็นทางออกที่จะแก้ไขหรือผ่อนคลายความแตกแยกในสังคมบ้านเราขณะนี้ได้ ไม่มากก็น้อย
วันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ฉันได้ติดตามการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถ่ายทอดสดผ่านทางทีวีดาวเทียมช่องเอเชีย อัพเดท ตลอดเวลา ชอบข้อความที่เขียนเป็นฉากเวทีว่า “80 ปี ยังไม่มีประชาธิปไตย” แต่ไม่ชอบการปราศรัยของแกนนำคนเสื้อแดง ที่ยังคงใช้วิธีก้าวร้าว ด่าทอ และกล่าวคำอาฆาตมาดร้ายข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงกันข้ามด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ปลุกระดมคนเสื้อแดงให้เคียดแค้นชิงชังฝ่ายอำมาตย์ เหมือนที่เป็นมาแบบเดิมๆ ทุกเวที และที่ฉันรู้สึกรับไม่ได้อย่างมากๆ ก็คือมีการจัดนิทรรศการ โดยทำบอร์ดนิทรรศการหัวข้อ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” แล้วเอาภาพถ่าย พร้อมระบุชื่อ นามสกุล ของบุคคลต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยที่เห็นต่างและไม่สนับสนุนคนเสื้อแดง เสมือนหนึ่งเป็นการขึ้นบัญชีดำบุคคลเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างท่านมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี ด้วย ซึ่งการกระทำอย่างนี้ มันขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่คนเสื้อแดงเรียกร้องและโหยหา อย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลย แสดงว่า เนื้อแท้แล้วคนเสื้อแดงก็ไม่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างที่เรียกร้องต้องการ ใช่หรือไม่?
พฤติกรรมที่ส่อเจตนาเยี่ยงนี้ มีปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด เธอยังคิดจะโต้แย้งพิทักษ์ปกป้องขบวนการคนเสื้อแดง แบบที่วิวาทะกับฉันมาโดยตลอดอีกไหม?
และเธอคิดว่า ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ยังพอจะมีโอกาสได้ใช้รูปแบบวิธีการ “อารยะสนทนา” เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกได้หรือไม่อย่างไร? วานเพื่อนช่วยตอบที
ด้วยความปรารถนาดี จากเพื่อนคนเสื้อเหลือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น