...+

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สังขตธรรมและอสังขตธรรม


สังขตธรรมและอสังขตธรรม

คำว่า “สังขตะ” แปลว่า มีเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้มีขึ้น ระหว่าง ธาตุ ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ = จิต) จึงกลายเป็นธาตุผสมระหว่างธาตุเหล่านั้น

คำว่า “อสังขตะ” แปลว่า ไม่มีเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้มีขึ้น หมายถึง แม่ธาตุที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม ที่ยังไม่มีเหตุปัจจัยให้เข้าผสมปรุงแต่งกัน จึงรักษาคุณสมบัติของตนเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย

ดังนั้น คำว่า “สังขตธรรม” จึงมีความหมายว่า เป็นธรรมที่มีขึ้น โดยมีเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

และคำว่า “อสังขตธรรม” ก็มีความหมายตรงกันข้ามคือ เป็นธรรมที่มีอยู่ โดยมิได้มีเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้เกิดขึ้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้=จิต) ซึ่งเป็น ธาตุประธานของสังขตธรรม ทั้งปวงในโลกนี้

ถ้าไม่มีธาตุ ๖ เป็นธาตุประธานอยู่แต่เดิมแล้ว บรรดาสรรพสิ่งของทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตรวมทั้งภูเขา ต้นไม้ พืชพันธุ์ุไม้ ฯลฯ ย่อมไม่มีอย่างแน่แท้

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ย่อลงเหลือธาตุ ๔ เรียก มหาภูตรูป ๔ เป็นธาตุผสมปรุงแต่งกันให้เกิด รูป – รูป คือ อารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ความนึกคิดทางใจ)

และ วิญญาณธาตุ เป็น ธาตุประธานที่ปรุงแต่งกับมหาภูตรูป ๔ ให้เกิดเป็น นาม ๔ ประการ – นาม คือ อาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

กล่าวโดยข้อเท็จจริงแล้ว แม่ธาตุแต่ละอย่างที่กล่าวนี้ ไม่ได้ดำรงตัวอยู่โดยอิสระในโลก และไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่รวมตัวกันเป็น ธาตุผสม หรือ สังขตธรรม เสมอ เมื่อแตกสลายจากสิ่งหนึ่งเมื่อใด ก็จะต้องเข้าผสมกันกลายเป็นธาตุผสมอย่างอื่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้หมายความว่า บรรดาสรรพสิ่งของทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ย่อมมีธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) รวมตัวเข้าผสมเหมือนกันหมด จะต่างกันก็ที่จำนวนธาตุ หรือส่วนผสมของแต่ละธาตุ รูปร่าง ทรวดทรง วรรณะ สัณฐาน ลักษณะ สมบัติ และกิริยาอาการเท่านั้น ในพุทธศาสนาเรียกธาตุที่ผสมกันว่า สังขารธรรม หรือ สังขตธรรม

สรุปแล้ว ตัวแม่ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้=จิต) เป็นธาตุที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เดิม ซึ่งต่างก็รักษาคุณสมบัติของตัวเองไว้ทุกกาลสมัย ไม่มีการเปลี่ยนแปรหรือดับตายหายสูญไปไหน ใครๆจะทำให้แต่ละธาตุเพิ่มหรือลดปริมาณไปจากเดิม,ไม่ได้เลย เป็นธาตุแท้ที่ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่ง จึงเรียกว่า อสังขตธรรม.

※ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ หน้า ๔๕-๔๖

อ่านเรื่องธาตุ ๖ จากหนังสือธรรมประทีป ๙ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น