...+

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระสิทธัตถะศักดินาฝ่ายชนกรรมาชีพแห่งอินเดีย



...................จึงในคืนวันเพ็ญวิสาขะบุรณมีแห่งเดือนพฤษภาคมบนอาสนใต้ร่มมหาโพธิ์แห่งเมืองพุทธคยา ทรงไตร่ตรองหาทางแก้ทุกข์ของมหาชนต่อไป ............... ความทุกข์ของมนุษย์ ทุกข์ของประชาชน มันเป็นข้อเท็จจริงทางสังคมในเวลานั้น ทุกข์เช่นนี้คนเดียวแก้ทุกข์ไม่ได้ มวลมนุษย์นั่นแหละต้องร่วมช่วยกันแก้ทุกข์อันนี้ พระองค์ทรงคิดต่อไปว่า ทุกข์ของคนเราเป็นเพียงผลของเหตุเท่านั้น หากเราแก้ทุกข์ตรงตัวทุกข์นั้นเอง แต่ไม่แก้ที่เหตุของมัน มันก็จะเกิดขึ้นมาให้เราแก้อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน แต่อะไรเล่าคือเหตุของทุกข์? เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์? พระสิทธัตถะได้ทรงมีมโนภาพถึงความฟุ่มเฟือยหรูหรา ในพระราชวัง และการแส่หาเพื่อได้ลิ้มรสตัณหาทั้งหลายที่คนเราต้องการในเวลาเดียวกันมโนภาพแห่งคนยากคนจน ได้เวียนวนเข้ามาสลับกับมโนภาพแห่งบรรดาเศรษฐีมหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่มั่วสุมอยู่แต่ในรสกาม
แน่แล้ว,ทรงนึกในพระหฤทัย ทุกข์เกิดจากการที่คนเรามีตัณหากัน ด้วยแรงผลักดันของตัณหา คนเราจะเข้าเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ครั้นแล้วมหาชนที่ไร้โอกาสจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และยากจนลง เพราะผลที่ทำได้ถูกเบียดเบียนขูดรีดเอาไปเสียเกือบหมด ทุกข์ของประชาชนจึงไม่ได้เกิดจากการเกียจคร้าน ไม่ได้เกิดจากบาปกรรมแต่ชาติก่อนดังคำของพราหมณ์ที่กล่าวอ้างนั้นเลย หากอยู่ที่คนทำไม่ได้กินคนกินไม่ได้ทำ เพราะคนทำเป็นทาส เป็นเสรีชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง คนกินเป็นเจ้าทาสเป็นนายทาสที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งปวงรวมทั้งตัวทาสนั้นเอง
เหตุใหญ่ของทุกข์มหาชนจึงเกิดจากตัณหาของชนชั้นปกครอง เกิดจากสงครามปล้นแผ่นดินปล้นสมบัติปล้นคนชนเผ่าอื่น เกิดจากนักบวช-พราหมณ์ที่ร่วมมือกันสอนธรรมที่บิดเบือน เพื่อประโยชน์ร่วมกันปกครอง ทำให้คนแตกแยกกันเป็นวรรณะต่างๆ มนุษยธรรมหรือความรักฉันท์พี่น้อง จึงเกิดขึ้นหาได้ไม่ ความร่วมมือระหว่างมนุษย์จึงพลอยไม่มีไปด้วย เมื่อขาดความร่วมมือระหว่างมนุษย์เช่นนี้ ทั้งทุกข์อันเกิดจากคนทำกับคนด้วยกัน ทุกข์อันเกิดจากความขาดแคลนของธรรมชาติ เลยไม่สามารถจะถูกกำจัดไปเสียได้
พระองค์ทรงไตร่ตรองแล้วเห็นว่า การแก้ทุกข์ของมหาชนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนั่นมันหมายถึงการปฏิวัติต่อชนชั้นปกครองทีเดียว พระองค์ย่อมทำไม่ได้ พระองค์คงทำได้เพียงการปฏิรูป พระองค์คงแก้ได้เฉพาะทุกข์ของเสรีชนชาวอารยันส่วนบุคคลอันเป็น เพื่อนร่วมเชื้อชาติของพระองค์ที่ยากจนเท่านั้น เป็นพวกที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์,ในวรรณะพราหมณ์หรือในวรรณะไวษยะ แต่ตกมาอยู่ในระดับเดียวกับศูทรซึ่งเป็นทาส เพียงเขาไม่ได้ถูกตรึงตรวนถูกโบยตี แต่มีเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหนได้เท่านั้น แต่มีฐานะยาก จนไม่มีสมบัติอะไรเลย ต้องทำงานหนักเยี่ยงทาสนั้นมีอยู่มากมาย ทางใดเล่าที่พระองค์จะช่วยเพื่อนชาวอารยัน ร่วมสีผิวของพระองค์ได้
พระองค์พบแล้ว มันคืออริยมรรค 8 ประการอันเป็นวิธีแก้ของพวกเขา และนี่ก็เป็นธรรมแต่ดั้งเดิมของชาวอารยันนั้นเองเมื่อยังอยู่เป็นชนเผ่าสมัยประชาธิปไตยบุพกาลซึ่งบัดนี้ลืมเลือนไปแล้วเพราะ ระบบศักดินาและระบบทาส พระองค์จำต้องรื้อฟื้นขึ้น อารยันธรรมหรืออริยมรรคอันมีสัมมาอาชีวะเป็นปฐม แต่สัมมาอาชีวะหรือการประกอบอาชีพอย่างไม่ขูดรีด ไม่เบียดเบียนไม่เอารัดเอาเปรียบนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ที่ถ่อง แท้คือสัมมาทิฐิ เป็นความรู้ในแรกในหลักอริยมรรค สัมมาทิฐิจะทำให้เกิดความนึกคิดที่ชอบ เกิดความดำริชอบ อันจะนำไปยังการกระทำที่ชอบ และการกล่าวที่ชอบ และครั้นแล้วด้วยความยั้งคิดและความพยายามที่ชอบ กิเลสตัณหาทั้งหลายจะปลาสนาการไปจากความมีอำนาจเหนือเรา และเช่นนี้แล้วจิตใจของเราก็จะหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง จากการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์จนๆด้วยกันที่ร่วมอยู่เป็นชนชั้นเดียวกัน แต่ส่วนศูทร ชาวพื้นเมืองผิวดำอันเป็นทาสนั้นพระองค์ทรงแตะต้องไม่ได้ ทาสคงเป็นทาสที่ต้องห้ามสำหรับพระองค์ไปเพราะสถาบันของพระองค์ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับองค์กรศาสนาเก่าได้ ด้วยวิธีปฏิรูปของพระองค์นี้แหละจึงทำให้พระองค์คงยืนอยู่ได้ในสังคมสมัยนั้น
เราต้องถือว่าพระศาสดาสิทธัตถะนี้เองที่ประมวลทุกข์ไว้เป็นระบบ ให้มีองค์ 4 ที่พระองค์ให้ชื่ออริยสัจ 4 และค้นพบปัจจยาการแห่งการเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ที่เรียกปฏิจจสมุปบาท นี่ต้องถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ทางปัญญาของพระบรมศาสดาสิทธัตถะทีเดียว
จึงเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสมัยนั้น เพราะมันเป็นการต่อต้านองค์การศาสนา องค์การปกครองของสมัยนั้นทีเดียว ต้องไม่ลืม,พระองค์เป็นศักดินา แต่สัจธรรมของพระองค์มีนัยยะคัดค้านศักดินา พระองค์กลับยืนอยู่ฝ่ายประชาชนผู้ถกกดขี่ขูดรีด เสรีชนชาวอารยันจึงอ้าแขนรับศาสนาธรรมของพระองค์ทันที แม้แต่ทาสผิวดำก็แอบชื่นชมพระองค์เพราะมันตรงกับความเชื่อของประชาชนผู้ทำงานแตะต้องอยู่กับสสารโลกตลอดเวลานั้น เขาเห็นมันอยู่ว่าวัฒนธรรมทางวัตถุทั้งปวงที่ชนชั้นปกครองเสวยสุขอยู่นั้น เขาเป็นผู้สร้างมันจากแรงงานของเขา ไม่ใช่พระเจ้าองค์ใดสร้าง พระองค์มีประชาชนยันอยู่เบื้องหลังพระองค์แล้ว เพราะธรรมของพระองค์ยืนอยู่ข้างประชาชน การสอนธรรมของพระองค์จึงดำเนินต่อไปได้
............................. ศาสนาพราหมณ์อับเฉาลง ชวาลาแห่งศาสนาพุทธลอยเด่นขึ้นแล้วทั่วดินแดนแห่งมหาภารตะ การแบ่งชนชั้นวรรณะทำทีจะเสื่อมลง แต่เพื่อการประนีประนอม พระพุทธองค์ทรงสอนว่า คนเราย่อมเป็นไปตามกรรมที่เขาทำ กษัตริย์เป็นกษัตริย์ได้เพราะการรับใช้ประชาชนในด้านการรบพุ่ง แต่จะไม่เป็นอะไรได้เลยด้วยการสืบสันตติวงศ์ พราหมณ์คือผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนจนมีปัญญาขึ้นมาแล้วและได้รับใช้ประชาชนในการเผยแผ่ความรู้ให้ ไวษยะคือผู้รับใช้กสิกรในการแลกเปลี่ยนสินค้า และศูทระนั้นหากหมายถึงคนถ่อยๆแล้ว ก็จะเป็นคนในวรรณะใดก็ได้ที่ประพฤติตนเลวทราม ในเวลาเดียวกันนี้ มหาชนส่วนใหญ่ย่อมเป็นมนุษย์ผู้รับใช้พวกกษัตริย์พราหมณ์และไวษยะ ทางด้านผลิตของกินและของใช้แลกเปลี่ยนกัน และด้วยประการฉะนี้ จึงไม่ได้เลวชาติกว่าใครเลยแม้แต่น้อย หากว่ามหาชนเหล่านี้จะเลื่อมใสมาบวชเป็นภิกขุในพุทธศาสนาแล้วไซร้ เขาก็เป็นคนที่สมควรถูกกราบไหว้ได้ตั้งแต่มหากษัตริย์ลงมาทีเดียว การแบ่งชั้นวรรณะจึงสั่นสะเทือนไปถึงรากเหง้า
การสอนอย่างนี้ คนเราย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา จิตหรือวิญญาณของเขาจะเป็นอย่างที่เขาประพฤติ แต่จะไม่เป็นสิ่งอันมีลักษณะถาวรอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบอาตมันของพราหมณ์
นี่ก็เป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของพระสิทธัตถะ ที่ปฏิเสธเรื่องการมีของ ตัวตน หรือ วิญญาณ อันเป็นเอกจากกาย พระสิทธัตถะกล่าวว่าตัวตนหรือวิญญาณของมนุษย์นั้นมีอยู่จริง แต่มีอยู่อย่างเกี่ยวพันกับร่างกายและสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะเปลี่ยนไปได้ในเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มันมิใช่สิ่งที่เป็นเอกมีอยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับสิ่งใด
หลักอนัตตาของจิตและสรรพสิ่งเป็นความยิ่งใหญ่ทางปัญญาของศาสดาพระสิทธัตถะที่ค้นพบ เพราะมันล้มความเชื่อในเทพเจ้า ของพราหมณ์ที่สร้างไว้ทั้งหมดทีเดียว คือ ไม่มีเทพเจ้าอันเป็น จิตอัตตา ที่แท้จริงเลย เป็นหลอกให้ทำบุญให้แก่พราหมณ์เท่านั้นเอง

วินิจฉัย แสงสว่างวัฒนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น