...+

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิจารณาโลกตามความเป็นจริง พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


พิจารณาโลกตามความเป็นจริง

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

คัดลอกจาก: ธรรมจักษุ กุมภาพันธุ์ ๒๕๔๘

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 14955 โดย: mayrin 04 พ.ค. 48

พระพุทธศาสนาเจ้าสอนศาสนาเพื่อมุ่งหวังวัตถุประสงค์อันใด

ก่อนที่จะได้ฟังธรรมก่อนอื่นขอแสดงความยินดีที่พระคุณเจ้าและญาติโยมทั้งหลายได้

อุตสาห์พยายามเดินทางมาเยี่ยมเยียน เพื่อเป็นการแสดงซึ่งความเมตตาและความรัก

โดยวิสัยของพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์สอนให้มนุษย์เราทั้งหลายมีความรักและมีความนับถือ มีความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะอาศัยสัญชาติญาณของมนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูงพอที่จะเผื่อแผ่ความสุขไปยังสัตว์เดรัจฉานและสิ่งที่มีชีวิตได้ด้วย

พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติบทเมตตา ให้เราเจริญว่า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหตุ สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนมนุษย์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นผู้มีสุขกายสุขใจ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ทุกตัวตนจงมีสุข รักษาตนให้พ้นภัยทั้งสิ้นเถิด นี่เป็นความปรารถนาและเป็นพุทธประสงค์

ถ้าเราจะมีปัญหาถามตัวเองว่า พระพุทธเจ้าสอนศีลธรรมสอนศาสนา เพื่อมุ่งวัตถุประสงค์อันใด ถ้าเราจะยกศีล ๕ ข้อมาพิจารณาแล้วถือเป็นคำสั่ง

เราก็จะได้ความว่า พระพุทธเจ้าสั่งเราว่าอย่าฆ่ากันนะ อย่าเบียดเบียนกันนะ อย่าข่มเหงรังแกกันนะ พึงรักใคร่นับถือกัน ปรารถนาดีต่อกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ขึ้นบทต้น

ถ้าเราใช้สติปัญญาพิจารณาหน่อย เราก็จะได้ความว่า พระพุทธเจ้าทรงหวังดีต่อมวลมนุษย์โลกทั้งสิ้น โดยให้มนุษยโลกทั้งหลายจงปราศจากการเบียดเบียนข่มเหงรังแกซึ่งกันและกัน ให้มีความรักใคร่นับถือกัน อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ในเบื้องต้น

พระประสงค์ในเบื้องปลาย ก็เพื่อให้มนุษย์ทั้งหลายผู้มีจิตใจสูง นอกจากจะบำเพ็ญคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันและสัมปรายภพ ยังมีอุบายวิธีอบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

คือ ทำกาย วาจา และใจให้บริสุทธิ์สะอาด จนสำเร็จคุณธรรมขั้นพระอรหันต์ สำเร็จพระนิพพานเป็นที่สุด อันนี้เป็นวัตถุประสงค์อันสูงสุดของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานไว้

นักภาวนาอย่าลืมคำว่า “ชาติ”

เพราะอย่างนี้ เราจึงมีความสนใจในการทำสมาธิภาวนาสำหรับผู้ที่ยังติดอยู่ในโลก ก็สร้างประโยชน์ปัจจุบันซึ่งเรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ผู้ติดในโลกคือสวรรค์ก็สร้างบุญสร้างกุศล”

ผู้มุ่งหวังพระนิพพานก็บำเพ็ญสมถวิปัสสนาซึ่งเรียกว่า ภาวนา เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็เป็นนักภาวนา และเข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงจัดเจนและมีความเข้าใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมในการที่จะดำเนินภาวนาไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน และมีความรู้ความเข้าใจกันพอสมควร

แต่ใคร่ที่จะขอเตือนท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านจะเป็นนักภาวนา ก็ขออย่าให้รู้จักแต่นั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว ควรจะได้นึกถึงชาติคือแผ่นดินของเราด้วย

ชาติคือแผ่นดินของเรานี่เป็นที่อาศัยสำหรับนั่งภาวนา ถ้าเราไม่สำนึกถึงคำว่าชาติคือแผ่นดินของเราด้วย เผื่อว่าชาติคือแผ่นดินสลายตัวไป โดยที่ตกไปอยู่ในกำมือของคนอื่น ซึ่งเขาไม่เลื่อมใสในการภาวนา

แล้วพวกเราจะไปนั่งหลับตาภาวนากันอยู่ที่ไหน อันนี้ขอฝากนักภาวนาทั้งหลายไว้พิจารณาเป็นการบ้านด้วย

พระพุทธเจ้าสอนให้ดูโลกตามความเป็นจริง

พระพุทธเจ้าสอนให้เราภาวนา สอนให้เราปล่อยวางความยุ่งหรือความทุกข์ในโลก แต่อุบายที่จะทำให้เราปล่อยวางโลกและพ้นจากทุกข์ในโลกนี้ได้

พระองค์สอนให้เราดูโลกในแง่ความเป็นจริง จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ล่ะ แต่ว่ามีพุทธภาษิตพอที่จะยืนยันรับรองมตินี้ได้ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักธรรมวิจารณ์ซึ่งเป็นหลักสูตรธรรมขั้นนักธรรมชั้นเอก

เอถ ปสฺสถิมํ โลกํจิตฺตํ ราชรถูปมํ

ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ.

เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.

ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันวิจิตรบรรจง ดุจราชรถทรงของพระราชา ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ใครจักสำรวมซึ่งจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร

ในเมื่อเราพิจารณาตามหลักปริยัติในสูตรนี้ เราก็พอที่จะทำความเข้าใจได้แล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราหันหลังให้โลก

ให้หันหน้าไปดูโลก ลืมตามองดูโลก แล้วก็พิจารณาโลกในแง่แห่งความเป็นจริง ความเป็นจริงของโลกที่ปรากฏอยู่ ภาษาพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตาไม่เป็นตัวของตัว

ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้มีปรากฏการณ์ขึ้นในเบื้องต้น ทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ในที่สุดย่อมสลายตัว อันนี้เป็นกฏความจริง

ธรรมะคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นหลักวิชาการ เป็นทฤษฎี คือ สูตรที่จะทำให้ผู้ศึกษาปฏิบัติถือเป็นหลักค้นคว้า เพื่อดำเนินจิตเข้าไปสู่สภาวะความรู้จริง เห็นจริง

ทีนี้สิ่งที่เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ก็หมายถึงกายกับใจและทุกๆ อย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าเราไม่ดูโลกนี้ ไม่พิจารณาโลกนี้ เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราก็เป็นโลก เมื่อมันอยู่กับเรา เป็นเราอยู่โดยสมมติบัญญัติก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็คือโลกนี้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้ก็คือโลก

ตาของเราก็อยู่ในโลกนี้ สิ่งเหล่านั้นก็อยู่ในโลกนี้ ท่านลองคิดดูซิว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่มายั่วยุให้จิตของเราผิดปกติ คนตาบอด ไม่รู้จักว่ารูปสวยรูปงาม ก็ไม่รู้จักที่จะไปชอบหรือไปเกลียดรูปนั้น

คนหูหนวก ฟังเสียงไม่รู้เรื่อง ก็ไม่รู้ว่าเสียงดี เสียงเพราะ หรือเสียงไม่ดี คนหูดี ฟังแล้วเกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ซึ่งแล้วแต่เสียงนั้นจะเป็นเหตุ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ก่อกวนให้เราเกิดกิเลส หรือที่เรียกอย่างภาษาตลกๆ เขาว่า ยั่วกิเลส ก็คือสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี่เอง

ตัณหาเกิดที่ไหน ดับที่ไหน

พระพุทธเจ้าถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ตัณหาเกิดที่ไหนและดับที่ไหน” พระอานนท์ก็ทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมพระองค์ก็ทรงแสดงว่า

“ดูก่อนอานนท์ ตัณหาเกิดที่ทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพราะอาศัยสิ่งที่ผ่านเข้ามา คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์

ในเมื่อเราเกิดยินดี ก็คือกามตัณหา ถ้าไปยึดสิ่งนั้นคือภวตัณหา ถ้าเกลียดสิ่งนั้นก็เป็นวิภวตัณหา เมื่อตัณหาจะดับก็ดับอยู่ตรงที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง”

อุบายที่จะทำให้ตัณหาดับนั้นคือทำอย่างไร ทำสติอย่างเดียว สิ่งใดเกิดขึ้นทางตาทำสติรู้ ถ้าจิตเกิดความยินดียินร้าย พิจารณาหามูลเหตุว่าทำไมจึงยินดียินร้าย

เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็เหมือนกัน ในเมื่อสัมผัสเข้าแล้วเกิดความพอใจ ไม่พอใจ มาทำสติพิจารณาสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะไม่รู้จริงเห็นจริง

แต่เราเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ โดยธรรมชาติของจิตแล้ว ถ้าหากว่ามีสิ่งรู้แล้วมีสติระลึกอยู่กับสิ่งนั้น ในเมื่อตั้งใจ สนใจ เอาใจใส่ จดจ้องดูอยู่ตลอดเวลา เป็นการปฏิบัติคือการทำสมาธิ เป็นการเจริญสมถวิปัสสนาไปในตัว

เพราะสิ่งใดที่เราดูด้วยความมีสติสัมปชัญญะ ย่อมเป็นอุบายให้จิตสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมมีปีติ มีความสุข และมีเอกัคคตา เช่นเดียวกับการภาวนาอย่างอื่น

จุดหมายของการภาวนา คือ การสร้างพลังสติสัมปชัญญะ

เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายของการเจริญสมถวิปัสสนา ที่แน่ๆ ที่สุด อยู่ตรงที่ฝึกฝนอบรมให้มีสติสัมปชัญญะมีพลังเข็มแข็ง ซึ่ง เรียกว่า สติพละ

สติพละสามารถที่จะประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติเมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ สตินทรีย์ เมื่อสติพละเพิ่มกำลังขึ้นกลายเป็นสตินทรีย์ เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง

สามารถที่จะปฏิวัติตนไปสู่การค้นคว้าพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎแห่งความเป็นจริง เมื่อสตินทรีย์มีพลังแก่กล้าขึ้น จะกลายเป็นสติวินโย คือมีสติเป็นผู้นำ

กระชับแน่นอยู่ที่ดวงจิตของผู้ปฏิบัติไม่พรากจากกันตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด หลับ และตื่น สายสัมพันธ์แห่งสติสัมปชัญญะตัวนี้จะต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย

นักปฏิบัติที่ได้สติวินโย เวลานอนหลับลงไป แล้วก็รู้สึกว่าเขานอนไม่หลับ เพราะความหลับคืออาการที่จิตก้าวลงสู่สมาธิ เมื่อหลับสนิทแล้ว จิตตื่นขึ้นเป็นสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ รู้และสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือสติวินโย

นักปฏิบัติควรจะบำรุงสติให้ถึงขนาดที่ว่าเป็นสติวินโย สิ่งที่รู้เห็นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นไปในภายนอก โลกวิสัยของสามัญชนธรรมดา สิ่งนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

เรายึดเอามาเป็นอารมณ์พิจารณากรรมฐาน เป็นอารมณ์ปฏิบัติสมถวิปัสสนาได้ทุกอย่าง เพราะสิ่งทั้งหลาย เหล่านี้เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตรู้ สติระลึกอยู่ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตของผู้ปฏิบัตินั้นไปสำคัญมั่นหมายในความเปลี่ยนแปลง อนิจจสัญญาย่อมบังเกิดขึ้น คือสำคัญว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง

ในเมื่อเห็นความไม่เที่ยงอย่างแจ่มชัด จนสภาพจิตใจยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยงจริงๆ ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ จิตก็ย่อมรู้ทุกข์ รู้อนัตตาไปเอง

อันนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ในภายนอก แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติถือเป็นเครื่องพิจารณา เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ทำจิตให้ก้าวเข้าไปสู่ความสงบซึ่งเรียกว่าสมาธิ

แม้ว่าผู้ที่มีจิตสงบแล้วจิตเกิดสว่างขึ้น เห็นภาพนิมิตต่างๆ ปรากฏขึ้น เห็นภาพนรก สวรรค์ หรือเทวดา อินทร์พรหมยมยักษ์ หรือแม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถ

สามารถมีสติปัญญาพิจารณาธรรมทะลุปรุโปร่ง หรือมีอภิญญาสามารถที่จะมองเห็นจิตใจของคนอื่น สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิต เป็นแต่เพียงเครื่องระลึกของสติ

ถ้านักปฏิบัติไปสำคัญมั่นหมายเอาสิ่งนั้นว่าเป็นของวิเศษ ที่เราจะยึดไว้เป็นสมบัติ ก็เป็นการเข้าใจผิด แต่แท้ที่จริงสิ่งนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ

ถ้าผู้ภาวนามีสติสัมปชัญญะไม่หลงติดสิ่งเหล่านั้น เขาจะเกิดวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริง แล้วก็จะหายสงสัยในการปฏิบัติธรรม เป็นภูมิธรรมที่รู้จริงเห็นจริง

สติสัมปชัญญะนำไปสู่การรู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง

พูดโดยสรุปแล้ว การปฏิบัตินี่มุ่งจุดแห่งการสร้างสติสัมปชัญญะให้ดีขึ้น ในเมื่อสติสัมปชัญญะดีขึ้นแล้ว สติจะมีสรรถภาพประคับประคองจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่สมาธิ หรือดำเนินไปสู่การรู้ธรรมเห็นธรรม

ทีนี้การรู้ธรรมเห็นธรรมมีความหมายเพียงใดแค่ไหน การรู้ธรรมเห็นธรรมหมายถึงมีสติรู้เท่าทัน รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตในปัจจุบัน

แม้ว่าเราจะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ตาม ถ้าความคิดของเราเกิดขึ้น จิตมีสติกำหนดตามรู้ สามารถประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้ตลอดกาล

อันนี้คือสิ่งที่เราจะพึงได้จากการปฏิบัติธรรม เรามุ่งสู่จุดที่เรียกว่าสติสัมปชัญญะ ในเมื่อสติสัมปชัญญะ ตัวนี้กลายเป็นมหาสติ เป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เป็นสติวินโย ตัวสติสัมปชัญญะ จะกลายเป็นองค์แห่งปัญญา

ปัญญาตามความหมายในที่นี้ หมายถึงว่ามีสติสามารถรู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น ปัญญาจึงควรแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท

ประเภทหนึ่ง ได้แก่สติปัญญา ได้แก่ปัญญาที่เกิดจากการเรียน การรู้ การไต่ถาม การฟัง แต่ปัญญาอีกอันหนึ่งนั้นเป็นปัญญาเกิดจากสมาธิ ซึ่งเรียกว่า สมาธิปัญญา

เมื่อสติสัมปชัญญะตัวนี้ดี มีพลังเข้มแข็ง จิตสงบลงเป็นสมาธิ ปัญญาในสมาธิย่อมเกิด เพราะฉะนั้น จึงมีคำเตือนไว้ว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต

สาธุชนที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ควรจะได้ทำศีลของตนให้เป็นอธิศีล ทำจิตให้เป็นอธิจิต ทำปัญญาให้เป็นอธิปัญญา คือให้เป็นคุณธรรมอันยิ่งถึงพร้อมอยู่ที่ดวงจิต

เรียกว่าการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค หรือที่เรียกว่า มัคคสมังคี มัคคสมังคี รวมลงเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกายโน มัคโค ย่อมเป็นหนทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็นหนทางที่ดำเนินไปสู่การกำจัดซึ่งทุกข์โศก ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในจิต

ฌานในสมถภานาและฌานในการเจริญวิปัสสนา

ก่อนจะจบการบรรยายนี้ ขอพูดถึงเรื่องฌาน ฌาน ว่าโดยสรุปมีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ลักษณะของอารัมมณูปนิชฌานมีปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติดังนี้

ในเมื่อผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรืออยู่ในระดับแห่งฌานขั้นที่ ๑, ๒, ๓, ๔

ฌานขั้นที่ ๑ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๒ มี ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๓ มี สุข เอกัคคตา

ฌานขั้นที่ ๔ มี เอกัคคตา กับ อุเบกขา

ฌานประเภทนี้เรียกว่า ฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติมีสิ่งรู้อยู่ในจุดเดียว ถ้าจิตเพ่งอยู่ที่นิมิต ก็รู้อยู่ที่นิมิตอย่างเดียว ถ้าจิตเพ่งรู้อยู่ที่จิตก็อยู่ที่จิตอย่างเดียว

อาการแห่งความรู้หรือสิ่งต่างๆ ไม่ปรากฏขึ้น อันนี้เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน ฌานในสมถภาวนา

ประเภทที่ ๒ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน ลักขณูปณิชฌานภาวนาสามารถทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิได้เหมือนกัน แต่เมื่อจิตสงบนิ่งอยู่ในระดับฌานขั้นที่ ๔

ซึ่งมีแต่เอกัคคตากับอุเบกขา ลักษณะของจิตสงบ นิ่ง สว่างไสว วางเฉยเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา แต่พร้อมๆ กันนั้น มีบางสิ่งบางอย่างผ่านเข้ามาเป็นเครื่องรู้ของจิต

ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เหมือนตามกฎของธรรมชาติ บางทีจะมีปรากฏเหมือนๆ กับมีสิ่งผ่านเข้ามา เหมือนกับขี้เมฆ บางทีก็มีภาวะต่างๆ ปรากฏขึ้นในความรู้สึกของผู้ภาวนา

แต่ผู้ภาวนานั้นรู้เฉยอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ จิตผู้สงบนิ่งนิ่งอยู่ สิ่งที่ผ่านเข้ามาก็ผ่านเข้ามาเรื่อยๆ จิตรู้สิ่งนั้น แต่ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

สิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นมีความเปลี่ยนแปลง ยักย้ายไม่คงที่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา จิตก็ดูอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ แต่หากไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนี้ความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นแต่สงบ นิ่ง สว่าง แล้วก็รู้เห็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่รู้เห็นนั้นไม่มีภาษา สมมติบัญญัติว่าจะเรียกว่าอะไร ลักษณะอย่างนี้ ลักขณูปนิชฌาน เป็นฌานในการเจริญวิปัสสนา หรือเป็นการเจริญวิปัสสนาในฌาน

สติปัญญาและวิปัสสนาปัญญา

สภาวะความเป็นเองของจิตของพิจารณาสภาวธรรม ในขั้นที่เราตั้งเจตนาหรือตั้งใจ ค้นคิดพิจารณาสิ่งนั้นๆ เรียกว่าการพิจารณาโดยสติปัญญาธรรมดา เป็นปฏิปทาของนักปฏิบัติทุกคนจะพึงปฏิบัติเช่นนี้

แต่อาศัยการค้นคิดพิจารณานั้น จิตสามารถที่จะสงบลงเป็นสมาธิ มีปีติ มีความสุข และดำเนินเข้าไปสู่องค์ฌานตามขั้นตอนในระดับขององค์ฌานนั้นๆ

เมื่อจิตถึงฌานขั้นที่ ๔ แล้วจิตก็จะไปสงบนิ่งแล้วก็มีปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการค้นคว้าพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้น คือก่อนที่จิตยังไม่สงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว สิ่งนี้เข้าไปหนุนเนื่องให้จิตเกิดความรู้

แต่ในเมื่อจิตเกิดความรู้แล้ว จิตก็ไม่สำคัญมั่นหมายสิ่งนั้นน่าเป็นอะไร อันนี้คือสัจธรรมปรากฏในจิตใจของผู้ปฏิบัติในขั้นปรมัตถธรรม ซึ่งไปตรงกับคำในท้ายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า

ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมังสัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา อันนี้เป็นความรู้ของท่านอัญญาโกณฑัญญะ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็รับรองว่า ท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนาเป็นองค์แรก

การบรรยายธรรมะพอเป็นคติเตือนใจก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีอันเป็นบุญเป็นดวงจิตให้สำเร็จพระนิพพานโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น