ธรรมะ 9 ตา
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ท่านพุทธทาสเป็นคนช่างคิดช่างประดิษฐ์ ทั้งประดิษฐ์คำและประดิษฐ์ธรรม ประดิษฐ์คำ หมายถึงคิดคำที่ "ขำ" ไม่ใช่ในความหมายขำขัน แต่ในความหมายคมขำ) เมื่อท่านออกจากวัดปทุมคงคา พระนคร กลับไปตั้งสำนักที่ไชยา ท่านติดใจสถานที่แห่งหนึ่งเป็นป่า มีต้นโมกกับต้นพลาขึ้นอยู่มากมาย จึงตั้งสำนักอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อคิดชื่อท่านก็ตั้งว่า โมกขพลาราม (โมกข-พล-อาราม) แปลว่าอาราม (หรือวัด) อันเป็นพลังแห่งการหลุดพ้น
คมขำดีไหมครับ เมื่อถามว่าทำไมท่านตั้งชื่อได้เหมาะเช่นนี้ ท่านตอบว่า ไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งปานนั้น บังเอิญป่าแห่งนี้มีต้นโมกกับตนพลาเยอะจึงเอามา "บวช" เสียเลยว่า "โมกขพล" เติมอารามเข้าไปก็เลยเป็นโมกขพลารามด้วยประการฉะนี้
ประดิษฐ์ธรรม เช่น หาทางอธิบายธรรมให้เข้าใจง่ายและเป็นที่ยอมรับในคนรุ่นใหม่ เช่นดึงนิพพาน ที่คนส่วนมากนึกว่าเป็นของสูง เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยจะพึงได้พึงถึง ถึงขนาดว่าเลยเถิดไปว่า ตายแล้วจึงจะนิพพานได้ ก็ชี้ให้เห็นว่านิพพานได้ในขณะนี้เดี๋ยวนี้ แล้วก็ "ลดเพดาน" ลงมาให้เห็นว่าการทำจิตให้ว่างจากกิเลส ไม่มีตัวกูของกูชั่วขณะก็เท่ากับถึง "นิพพานชั่วคราว"
ลดเพดานลงขนาดนี้ ก็ทำให้ใครที่คิดว่านิพพานเป็นเรื่องสูงเกินความสามารถ รู้สึกใหม่ว่าไม่สูงเกินกว่าตนจะเข้าถึงได้ ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติ
"ตัวกูของกู" ก็เช่นกัน ไม่มีใครกล้าแปลกกล้าใช้เพราะถือว่าเป็นคำหยาบ ไม่เหมาะ แต่หลวงพ่อพุทธทาสเจาะจงใช้ เพราะนอกจากตรงตามความหมายของศัพท์ (อหังการ มมังการ) แล้ว มันกระตุกใจ หรือ "โดนใจ" ไม่เลวทีเดียว
การบัญญัติ "ภาษาคน ภาษาธรรม" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้การอธิบายธรรมเป็นที่เข้าใจง่าย แม้ว่าจะมิใช่แนวใหม่ แต่การบัญญัติคำทำให้สื่อสารได้ดี ในคัมภีร์ท่านใช้ บุคลาธิษฐาน-ธรรมาธิษฐาน มันก็ฟังดูเบลอๆ อยู่ ฟังแล้วไม่ "เก็ต"
นอกจากนี้ยังขยันหาคำคล้ายๆ กันมารวมหมวดไว้ แล้วถือโอกาสบรรยายทีละคำตามลำดับ คำหนึ่งใช้เวลาเป็นปีกว่าจะบรรยายจบ ทำให้นึกถึงพระมหากัจจายนะสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสชมเชยว่า มีความสามารถขยายบทธรรมสั้นๆ ให้พิสดารได้
ท่านพุทธทาสภิกขุ
ถ้าหลวงพ่อพุทธทาสเกิดสมัยโน้น จะได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์ หรือไม่ก็ไม่รู้สิครับ คำที่ท่านใช้เวลาอธิบายปีละคำนั้นเรียกว่า "ธรรมะ 9 ตา" มีดังนี้
1. อนิจจตา
2. ทุกขตา
3. อนัตตตา
4. อิทัปปัจจยตา
5. สุญญตา
6. ธัมมัฏฐิตตา
7. ธัมมนิยามตา
8. อตัมมยตา
9. ตถตา
อนิจจตา คือความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ความแปรเปลี่ยน สังขาร (สิ่งผสมทั้งหลาย) ตกอยู่ในสภาพอนิจจตาทั้งสิ้น ไทยเราชอบพูดถึงสภาวะนี้ในความหมายของ "คุณศัพท์" (คืออนิจจังแปลว่าซึ่งไม่แน่นอน)
ทุกขตา คู่กับอนิจจตา แปลกัน (ตามตัวอักษร) ว่าความทนอยู่ไม่ได้ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นเสมอ ผู้รู้ท่านหนึ่งอธิบายอนิจจตากับ ทุกขตาให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า อนิจจตาหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏภายนอก (อัชฌัตตา ธัมมา) ทุกขตา หมายถึงความไม่สมบูรณ์บกพร่องอันเป็นเนื้อใน (พหิทธา ธัมมาป โดยอธิบายว่า ความบกพร่องความไม่สมบูรณ์ในตัวนั้นแหละ คือทุกขตา เมื่อบกพร่องไม่สมบูรณ์มันก็ย่อมเปลี่ยนในที่สุด (อนิจจตา)
อนัตตตา ความไม่มีตัวตน ความมิใช่ตัวตน อนัตตตา มีสองความหมายคือ
(1) ความไม่มีตัวตนถาวร (อาตมันถาวร) ดังที่ลัทธิฮินดูเชื่อกัน ว่าอาตมันเป็นสิ่งสัมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่เป็นนิรันดร ส่วนที่เปลี่ยนคือร่างกาย
ทฤษฎีตายแล้วไปเกิดใหม่เปรียบเสมือนคนที่ออกจากบ้านเก่าที่ถูกไฟไหม้ไปหาที่อยู่ใหม่ บ้านเป็นบ้านใหม่แต่คนยังคงเป็นคนเดิม ดังที่กฤษณะได้สอนอรชุนผู้ไม่อยากรบกับญาติพี่น้องของตนเพราะเกรงจะมีการฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบาป กฤษณะสอนว่า "ไม่มีผู้ฆ่าไม่มีผู้ถูกฆ่า" ดุจเอามีดฟันหยวกกล้วย เพราะอาตมันไม่มีใครฆ่าได้ พระพุทธศาสนาปฏิเสธแนวคิดอาตมันถาวรนี้ จึงเรียกว่าอนัตตตา
(2) ความมิใช่ตัวตน ในความหมายนี้ทรงแสดงไว้ในอนัตตลักขณสูตร ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบเข้าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานี้ มิใช่ตัวตนของใคร มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามธรรมดาของสังขาร เพราะถ้ามันเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เราสามารถบังคับหรือขอร้องให้มันเป็นอย่างนั้น อย่าไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงเชื่อว่า เป็นอนัตตตา
อิทัปปัจจยตา เป็นชื่อหนึ่งปฏิจจสมุปบาท หลักแห่งการเกิดขึ้นอาศัยกันของปัจจัยทั้งหลาย (Dependent Origination) วิธีจะเข้าใจอิทัปปัจจยตาให้ดูฟุตบอล ทีมฟุตบอลสองทีมแข่งกัน 11 คนของแต่ละทีม ต่างเป็น "ปัจจัย" ให้ทีมแพ้หรือชนะ การแพ้ชนะมิได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง ทุกคนต่างมีส่วนเสมอๆ กัน สมมติว่าทีม ก.ชนะทีม ข.1-0 ไม่ใช่เพาะเบอร์ 7 (สมมติ) เตะเข้าโกลของฝ่ายตรงข้าม หากเพราะทั้ง 11 คนเป็นปัจจัยช่วยกันและกัน จนเกิดชัยชนะขึ้น
มองให้ลึกไปกว่านั้น การรับพลาดของโกลของทีม ข.เป็นปัจจัยให้ชนะ หรือทั้ง 11 คน ของทีม ข.เป็นปัจจัยให้ชนะ
อ้าว ถ้าไม่มีทีม ข. เอ็งจะเล่นกับใคร ใช่เปล่า ? แล้วชัยชนะจะมีได้อย่างไร ?
สุญญตา ความว่างเปล่า ความศูนย์ คือสูญจากความมีตัวตน เวลาพระท่านพิจารณาสังขารโดยความเป็นสภาพศูนย์ หมายถึงพิจารณาเห็นความเป็นจริงว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวตนเราเขา นั้นที่แท้ไม่มี มีเพียงการประกอบเข้าแห่งธาตุสี่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เมื่อเห็นว่าว่างอย่างนี้แล้ว ท่านก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่าว่างจากตัวกูของกู
ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา คือ การที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับสลายไปเป็นกฎธรรมชาติหรือภาวะที่ยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็นกฎธรรมดาหรือกำหนดแห่งธรรมดา ไม่ขึ้นอยู่กับผู้สร้างผู้บันดาล
ไม่ขึ้นอยู่กับการเกิดขึ้นของศาสดาหรือศาสนาใดๆ
ดังพุทธวจนะว่า "ไม่ว่าตถคตทั้งหลาย (พระพุทธเจ้าทั้งหลาย) จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กฎธรรมชาติ กฎธรรมดานั้นก็ยังอยู่"
ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านคิดอย่างไรกับการที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง, ออกมาขับไล่ท่าน ท่านนายกเหลี่ยม เอ๊ยนายกแห่งประเทศไทย กล่าวสั้นๆ ว่า ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง ทำเอาผู้สื่อข่าวงงไม่รู้ว่าเป็นเช่นไร
ตถตา เป็นการอธิบายความที่สิ่งทั้งหลายเป็นเหตุปัจจัยแห่งกันและกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยมันก็เกิดขึ้นดำรงอยู่และเป็นไปตามกฎธรรมดา เมื่อหมดเหตุปัจจัยมันก็ดับ การที่มันจะเกิด จะคงอยู่หรือจะดับไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของใคร
ไม่ขึ้นอยู่กับการขอร้องอ้อนวอน หรือความต้องการของใคร
เมื่อเหตุปัจจัยมันสุกงอมแล้ว ไม่อยากไปก็จำต้องไป เพราะทุกอย่างเป็นตถตา = มันเป๋นจะอี้เอง แม่นกา ?
จะยืนยันอย่างไรว่าไม่ไม่
ช่อกุหลาบกำลังใจหลายหลากสี
กลางเสียงร้อง...สู้ สู้...อยู่มากมี
ตถตาชี้...มันเป็นเช่นนั้นเอง
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10214
แหล่งที่มา : www.dhammajak.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น