ธรรม 4 ประการสำหรับพุทธบริษัทที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ดังนี้
มัจฉริยะ บุคคลที่มีความตระหนี่ ไม่ทำบุญให้ทานแก่ผู้ควรให้ วิบากนี้จะทำให้กลายเป็นหรือบันดาลให้เป็นผู้ขัดสน เป็นคนยากจนในทรัพย์สินสมบัติทั้งปวง ในภพชาติต่อ ๆ ไป อีกทั้งยังขวางกั้นทางปฏิบัติอันก้าวสู่มรรคผลอีกด้วย เหตุเพราะการให้ทานเป็นหนึ่งในบารมีที่เราต่างรับทราบกันดีว่า พระชาติสุดท้ายแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระเวสสันดร ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีนั่นเอง
ปริจาคะ เป็นธรรมข้อตรงข้ามกับมัจฉริยะ คือบุคคลที่มีการบริจาคทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ได้แก่ความไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มีความยินดีในการทำบุญกุศล ทำกรรมดีนั้นย่อมบันดาลให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินสมบัติทั้งชาตินี้และชาติหน้า อันนี้เป็นข้อปริจาคะของคฤหัสถ์
สำหรับปริจาคะของเหล่าผู้หวังการพ้นทุกข์นั้นมีดังนี้...
1.ธนปริจาโค การบริจาคทรัพย์ อันมีเงินทอง ทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา อันเป็นภาระร้อยรัด เพิ่มทุกข์ของตนให้มากไปกว่าขันธ์ห้าอันเป็นตัวทุกข์อยู่แล้ว
2.ตัณหาปริจาโค การบริจาคด้วยการละวาง ความรักลูกรักเมียออกจากใจ
3.ชีวิตปริจาโค การสละชีวิต เชื่อว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยลมหายใจ ลมเป็นของไม่มีสาระแก่นสารอะไร ร่างกายเป็นของบูดเน่าเป็นปฏิกูลไม่น่ายินดี ให้สละละออกจากใจ มุ่งบริจาคชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้น
4.ปุตตปริจาโค ลูกหลานเป็นตัวทุกข์ ให้ละออกจากใจเพื่อสลัดปวงแห่งความห่วงใย เพื่อการปฏิบัติสู่ความหลุดพ้น
5.ภริยาปริจาโค ภรรยาก็เป็นห่วงร้อยรัด ฉะนั้นการมุ่งสู่มรรคผลและนิพพาน ต้องสละด้วยชีวิตพรหม์จรรย์ คือการเว้นจากการครองเรือน
ทั้ง 5 ประการดังกล่าวคือข้อปริจาคะของผู้ต้องการผ่านทุกข์ตัดห่วงวัฏฏะของกระแสโลก มุ่งตรงสู่ความพ้นทุกข์ในแดนนิพพาน
อเวยยาวัจจะ บุคคลที่ไม่มีความช่วยเหลือไม่ขวนขวายในกิจที่ชอบ คือการไม่ขวนขวายในบุญกุศลของผู้อื่น และไม่เที่ยวบอกบุญบอกการกุศล วิบากนั้นจะบันดาลให้เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร และยากจะประกอบกิจการใด ๆ ให้สำเร็จได้โดยง่าย
เวยยาวัจจะ ตรงข้ามกับอเวยยาวัจจะ เป็นบุคคลที่มีการขวนขวายในกิจอันชอบ คือขวนขวายในการบุญการกุศลของคนอื่นให้มาร่วมบุญร่วมกุศล เพื่อประโยชน์แก่ชาติแก่ศาสนา กรรมดีนั้นจะบันดาลให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ด้วยญาติมิตรสหาย อีกทั้งข้าทาสบริวารก็มากมาย
ธรรมทั้ง 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ควรอย่างยิ่งที่เหล่าพุทธบริษัทควรนำมาพิจารณาและปฏิบัติตน เพื่อความสุขความเจริญแห่งชีวิตตนทั้งปัจจุบันและอนาคตชาติข้างหน้า
ถึงตรงนี้ต้องขอเสริมอีกนิดครับ พูดถึงเวยยาวัจจะนี้ คือการขวนขวายในกิจอันชอบ สามารถรวมได้ถึงการ ‘ริเริ่ม’ นำพาผู้คนกระทำในสิ่งอันควร คือความดีงาม ในศีล ทาน และภาวนา ซึ่งเป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน กับพุทธโอวาทก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน อันเป็นการตัดหนทางแห่งความประมาททิ้งเสียฉันนั้น!
ปัจจุบัน ธรรมข้อเวยยาวัจจะ มักถูกขวางกั้นด้วยความกลัว...คือกลัวว่าผู้อื่นจะกล่าวติฉินนินทา อีกทั้งด้วยความละอาย ละอายว่าผู้อื่นจะกล่าวว่าชอบนำความเดือดร้อนให้เสียเงินเสียทองเพื่อทำบุญอยู่เนือง ๆ
ทั้งสองประการดังกล่าว สามารถดับด้วยปัญญาธรรมในหมวดโลกธรรมแปด...คือมีลาภ...เสื่อมลาภ มียศ...เสื่อมยศ มีสุขย่อมมีทุกข์ เช่นกันกับมีสรรเสริญก็ต้องมีนินทาเป็นธรรมดาแห่งโลก ฉะนั้นผู้ใดสามารถก้าวทันโลกธรรมแปดประการด้วยความเข้าใจ ผู้นั้นย่อมสามารถก้าวผ่านทุกข์ทั้งปวงได้อย่างไม่ยากเย็น
อย่าละอายที่จะทำความดี แม้มีเสียงนินทาว่ากล่าว อย่ายินดีในคำสรรเสริญ เมื่อทำความดี แต่จงยินดี เพราะเราได้ทำหน้าที่ของการเป็นพุทธบริษัทที่ดี ดังพุทธดำรัสแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จำได้ว่า...ล่าสุดที่ได้กราบนมัสการหลวงปู่เสน ปัญญาธโร ในงานทอดผ้าป่าสามัคคีที่สำนักปฏิบัติธรรม ซอยเพชรเกษม 69 โดยมีชมรมพ่อค้าปลีก-ส่งเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ท่านได้เทศน์อบรมไว้ในวันนั้นเกี่ยวกับโลกธรรมแปดว่า...
“ลาภ ยศ...สุข สรรเสริญ เป็นของไม่เที่ยง เพราะเป็นของมีได้ก็เสื่อมได้...”
และหลวงปู่ยังทิ้งท้ายให้เป็นข้อคิดว่า...
“ในชีวิตของหลวงปู่ เห็นแจ้งในความจริงประการหนึ่ง ประการนั้นคือ ในครั้งแรกที่พบเห็นกัน ใครที่นินทาเรา หลังจากนั้นจะสรรเสริญเรา ขณะเดียวกันใครที่สรรเสริญเราตั้งแต่แรกที่พบหน้า ในที่สุดคนคนนั้นก็จะนินทาเราในเวลาอันใกล้”
ประโยคของหลวงปู่น่าจะเป็นไปโดยนัยที่ว่า ต่อให้ผู้อื่นนินทาว่ากล่าวเราอย่างไรก็ตาม หากเรามีความยึดมั่นในคุณความดี ทำประโยชน์ต่อศาสนาและสังคม ในที่สุดคนที่ว่ากล่าวนินทาก็จะมองเห็นและกล่าวสรรเสริญในภายหลัง ส่วนคนที่สรรเสริญเราเพียงแค่พบหน้าโดยปราศจากการไตร่ตรองใคร่ครวญความจริง บุคคลประเภทนี้ย่อมปราศจากหตุและผล...
...เช่นนั้น ก็จะสามารถกล่าวคำนินทาเราได้โดยง่ายเช่นกัน!
แต่กระนั้นทั้งสองประการไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญหรือนินทาก็เป็นเพียง ‘โลกธรรม’ โดยพื้น ไม่สามารถสร้างความระคายให้หัวจิตหัวใจของผู้ที่เจริญธรรมเข้าสู่ ‘โลกุตรธรรม’ ได้อย่างแน่นอน
สรุปคือ... การทำ ปริจาคะ และเวยยาวัจจะ เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท และไม่ควรสนใจต่อคำวิพากษ์ของใคร เพราะคำวิพากษ์ด้วยสรรเสริญและนินทา คือเรื่องของโลกธรรมทั้งแปด ใครทำความดีเช่นนี้แล้วไซร้ ไม่ต้องขอพรจากสิ่งใดก็สำเร็จในกิจที่ปรารถนาได้อย่างแน่นอน
ดังคำกล่าวของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต พระอรหันตเจ้ากลางกรุงฯ แห่งวัดเทพศิรินทร์ ที่แสดงไว้ชัดเจนว่า
“ทำดี...ดีกว่าขอพร!”
นั่นเพราะ... ‘กรรมดี’ เท่านั้นจะบันดาลให้เราท่านพบความสุขความเจริญดังพุทธภาษิตที่ว่า ‘กัมมุนาวัตตะตี โลโก’ ที่แปลว่า ‘สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม’ นั่นเอง
พบกันฉบับหน้าครับ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น