...+
▼
วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
สามัญญผลสูตร
พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วง ของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ คืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ เดือน ๑๒ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลดีของความเป็น สมณะ ที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่าเคยไปถามครูทั้ง ๖ มาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ไปตอบเรื่องขนุน จึงต้องกลับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑. ผู้เคยเป็นทาส หรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่ พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่าไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม ตรัสสรุปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
๒. คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่ออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
๓. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมในแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต มีสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุ ฌานที่ ๑ นี่ก็เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน
๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒
๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓
๖. ได้บรรลุฌานที่ ๔
๗. น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เป็นด้วยปัญญา (ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วิญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ ( วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เป็นแจ้ง)
๘. นิรมิตร่างกายอื่นจากการนี้ได้ (มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ)
๙. แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดินเป็นต้น ( อิทธิวิธิ)
๑๐.มีหูทิพย์ได้ยินเสียงใกล้ไกล ที่เกินวิสัยหูของมนุษย์ธรรมดา (ทิพยโสต)
๑๒.ระลึกชาติในอดีตได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
๑๓. เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ (เรียกว่าทิพยจักษุ หรือ จุตูปปาตญาณ คือ ญาณรู้ความตายและความเกิดของสัตว์)
๑๔.รู้จักทำอาสวะคือ กิเลสที่หมักหมม หรือ หมักดองในสันดานให้สิ้นไป (อาสาวักขยญาณ)
แล้วตรัสสรุปในที่สุดแห่งทุกข้อแม้ว่า เป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันสูงกว่ากันเป็นลำดับ (เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้ง ๑๔ ข้อนี้เป็นหมวด ๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือ พ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือ ผลข้อ ๑ กับข้อ ๒
หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือ ผลข้อ ๓, ๔, ๕, ๖.
หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้ อาสาวักขยญาณ
พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเลื่อมใส ปฏิญญาพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ทรงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา (คือพระเจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขมา
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม (เป็นพระโสดาบัน)
สรุปหลักธรรมในสามัญญผลสูตรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
การละกิเลสคือนิวรณ์ ๕ คือ
๑. กามฉันท์ ความอยากได้อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่าความพอใจในกาม) หรืออภิชฌา
ความเพ่งเล็งอยากได้ หมายถึงความอยากได้ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณืต่าง ๆ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้
๒. พยาบาท คือ ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูก
ใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย การคิดร้าย มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่าง ๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่ เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ
๓. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็นถีนะ ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ กับมิทธะ ความเซื่องซึม เฉื่อยชา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึม ๆ เฉา ๆ ที่เป็นไปทางกาย จิตที่ถูกอาการทางกายและทางใจอย่างนี้ครอบงำย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งาน จึงไม่อาจเป็นสมาธิได้
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็นอุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่า พล่านไป กับกุกกุจจะ ความวุ่นวายใจ รำคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ ย่อมพล่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่เป็นสมาธิ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจสงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับสิกขา เป็นต้น พูดสั้น ๆ ว่าคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้มีคุณค่า มีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลจริงหรือไม่ คิดแยกไปสองทาง กำหนดไม่ลง จิตที่ถูกวิจิกิจฉาขัดไว้กวนไว้ให้ค้างให้พร่าลังเลอยู่ ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ
การบรรลุฌาน ๘
๑.รูปฌาน ๔ ได้แก่
ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ประกอบ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๒. อรูปฌาน ๔
อากาสานัญจายตนะ คือ ฌานที่กำหนดอากาศ
วิญญาณัญจายตนะ คือ ฌานที่กำหนดวิญญาณ
อากิญจัญญายตนะ คือ กำหดภาวะที่ไม่มีสิ่งใด ๆ
เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ เลิกกำหนดสิ่งใด ๆ โดยประการทั้งปวง
อ้างอิง
สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 6. มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2525
คำสำคัญ (keywords): สมณะ, สามัญญผลสูตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น