...+
▼
วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
พรหมชาลสูตร
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางจากกรุงราชคฤห์ ไปเมืองนาลันทาพร้อมกับพระสงฆ์ประมาณ 500 รูป ในการเดินทางนั้น มีนักพรตสองคนเดินทางตามหลังมา คือ สุปปิยปริพาชก และพรหมทัตตมาณพ ซึ่งเป็นอาจารย์และศิษย์ถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า คือ สุปปิยปริพาชกผู้เป็นอาจารย์ กล่าวติพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตตมาณพกล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
พระภิกษุที่เดินทางอยู่ด้วยนั้น บางส่วนที่ได้ยินคำกล่าวติพระพุทธเจ้าของสุปปิยปริพาชก ก็นำเรื่องนี้มาสนทนากันในเวลาใกล้รุ่ง ที่ศาลานั่งเล่น พระพุทธเจ้าเมื่อได้ทราบคำสนทนาของภิกษุ ก็เสด็จไปตรัสถามว่านั่งประชุมสนทนากันเรื่องอันใด
เหล่าภิกษุกราบทูลว่ากำลังคุยกันถึงเรื่องของ สุปปิยปริพาชก และ พรหมทัตตมาณพ ที่ถกเถียงกันเรื่องติ และชมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่…”
แล้วก็ตรัสถามต่อว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายนั้นขุ่นเคืองในคนที่ว่ากล่าว จะพึงรู้ได้อย่างไร ว่าที่เขากล่าวตินั้น พูดถูกหรือผิดประการใด
“ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายทูลตอบ
พระพุทธเจ้าจึงว่า
“แม้คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติในพระรัตนตรัยก็ตาม ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำไหนที่ไม่จริง บรรดาภิกษุที่ได้ยินได้ฟัง ก็ควรแก้ให้เห็นว่าไม่จริงเพราะอะไร คำติเหล่านั้นไม่มีในพระรัตนตรัยเพราะเหตุไร แต่หากคนพวกอื่นกล่าวชมพระรัตนตรัย ภิกษุทั้งหลายนั้นก็ไม่ควรเบิกบานใจ กระเหิมใจในคำชมนั้น ถ้าเบิกบานใจ ดีใจ กระเหิมใจในคำชมนั้นๆ อันตรายจะพึงมีแก่ภิกษุทั้งหลายได้ หากว่าใครกล่าวชม บรรดาภิกษุควรตรึกตรองให้เห็นว่าเป็นจริงเพราะเหตุไร”
แล้วทรงตรัสถึงจุลศีล
“ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั่นมีประมาณน้อยนักแล ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล ที่ว่าเป็นเพียงศีลนั้น เป็นเช่นนี้ว่า { จุลศีล }(1) ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ (2) เว้นขาดจากการลักทรัพย์ (3) ละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ (4) ละการพูดเท็จ (5) ละขาดจากคำส่อเสียด (6) ละคำหยาบ (7) เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ (8) เว้นจากการพรากพืชคาม (พืชที่เขาตัดมาแล้ว แต่ยังงอกได้) และภูตคาม (ต้นไม้ ใบหญ้าที่งอกจากดิน) (9) ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล (10) เว้นขาดจากการฟ้อนรำ (11) เว้นขาดจากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกาย (12) เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่อันสูงใหญ่ (13) เว้นขาดจากการรับเงินทอง (14) เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ (15) เว้นการรับเนื้อดิบ (16) เว้นจากการรับสตรีและกุมาร (17) เว้นการรับทาส (18)(19)และ(20) เว้นจากการรับสัตว์ที่นำมาบริโภค หรือลากจูงได้ (21) เว้นการรับไร่นาและ ที่ดิน (22) เว้นจากการเป็นทูต (23) เว้นการซื้อขาย (24) เว้นการโกงด้วยเครื่องตวงวัด (25) เว้นการรับสินบน (26) เว้นจากการจองจำ ตีชิง กรรโชก
{ มัชฌิมศีล } (1) เว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม และรายละเอียด (2) เว้นจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ และรายละเอียด (3) เว้นการดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล ทั้งรายละเอียด (4) เว้นจากการเล่นพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และรายละเอียด (5) เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่อันสูงใหญ่ พร้อมรายละเอียด (6) เว้นจากการประกอบการประดับร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว พร้อมรายละเอียด (7) เว้นขาดจากติรัจฉานกถา (คำพูดในเรื่องอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางสวรรค์ และนิพพาน มี 27 เรื่อง) (8) เว้นขาดจากการกล่าวคำแก่งแย่ง แข่งดีกัน (9) เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้ คือ รับเป็นทูตแทนตัวคนโน้นคนนี้ (10) เว้นขาดจากการพูดหลอกลวง หว่านล้อม แสวงหาลาภ
{ มหาศีล } (1)(2)(3)(4)(5)(6) และ (7) เว้นจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา ตัวอย่างเช่น เป็นหมอทำนายทายทัก ทำพิธีทางไสยศาสตร์ พยากรณ์ดวงชะตา วันเวลา ปรุงยาทำเสน่ห์ บนบาน ขับผี เป็นต้น (มีการบรรยายติรัจฉานวิชาไว้อย่างละเอียด ว่ามีอะไรบ้าง)”
เหตุเพราะพระสมณโคดมมีจุลศีล(ศีลทั่วไป) มัชฌิมศีล(ศีลทั่วไปที่ลงรายละเอียดปลีกย่อย) และมหาศีล (เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนายทายทักต่างๆ ดูฤกษ์ยาม พยากรณ์ ทำพิธีบนบาน ร่ายมนต์ขับผี ปรุงยาต่างๆ เป็นต้น) คนทั่วไปจึงกล่าวชม
…ธรรมที่เป็นข้อดีที่พึงนำมากล่าวชม เป็นที่ลึกซึ้งกว่าศีลเป็นไฉน?
แล้วยังกล่าวต่อไปถึงเรื่อง ทิฎฐิ 62 ประการว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกแลที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน?”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฐิ(ความเชื่อ ความเห็น) บัญญัติไปต่างๆ เช่น บัญญัติว่าอัตตา และโลก มีบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ มีทิฎฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหา มีทิฐิว่า อัตตาและโลก เกิดขึ้นลอยๆ มีทิฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา และ ไม่มีสัญญา ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรน ของคนมีตัณหา เพราะมีผัสสะ(สัมผัสทั้ง 6) เป็นปัจจัย หากเขาเหล่านั้น เว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก ที่ถูกต้องแล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง 6 (สัมผัสทั้ง 6 {รูป ,เสียง ,กลิ่น ,รส ,ผิวสัมผัส ,อารมณ์}) ย่อมเสวยเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะมีตัณหาจึงเกิดอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงเกิดภพ เพราะมีภพจึงเกิดชาติ เพราะมีชาติจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส (ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ และโทษ แห่งผัสสายตนะทั้ง 6 กับทั้งอุบายอันเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น(ที่มีทิฐิ 62 ข้างต้น) เพราะเหตุว่า สมณพราหมณ์ที่มีทิฐิเหล่านั้น ถูกทิฐิเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ เปรียบเสมือนชาวประมงผู้ฉลาด ใช้แหตาถี่ทอดลงยังหนองน้ำอันเล็ก เขาคิดอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ๆ ในหนองนี้ ถูกแหครอบไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ติดอยู่ในแห ฉันใดก็ฉันนั้น”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้วยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จักเห็นตถาคตได้ ก็เพียงชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต เปรียบเสมือนพวงมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้ว ผลใดผลหนึ่งที่ติดกับขั้วอยู่ ก็ย่อมติดขั้วหลุดไปด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น”
จบพรหมชาลสูตร
คำถาม พรหมชาลสูตร-คนติคนชม
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า เสด็จดำเนินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ในครั้งนั้นสุปปียปริพาชกกับพรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์ ก็ได้เดินทางไกลในเส้นทางเดียวกัน ตามหลังมาห่างๆ ระหว่างทางนั้น อาจารย์กับศิษย์ได้โต้เถียงกัน คือ อาจารย์กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนศิษย์กล่าวชม
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เข้าไปประทับแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทธยานอัมพลัฏฐิกา สุปปียปริพาชกกับศิษย์ก็ได้เข้าพักแรม ณ ที่ใกล้ๆกัน ซึ่ง ณ ที่นั้น อาจารย์กับศิษย์ก็ได้โต้เถียงกันในเรื่องเดิมอีก
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ภิกษุหลายรูปได้มานั่งประชุมกันอยู่ ณ ศาลานั่งเล่น และขณะที่กำลังสนทนากัน ถึงเรื่องที่สุปปียปริพาชกกับศิษย์ได้โต้เถียงกันนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับ ณ ที่นั้น และตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า กำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า กำลังสนทนากันถึงเรื่องที่ สุปปียปริพาชกกล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์กล่าวชม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น