คลื่นสมองกับพลังพิเศษในตัวคุณ
โดย Dhammachak social network เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 เวลา 16:59 น. ·
ปาริฉัตต์ ศังขะนันทน์ เรียบเรียง
จากการศึกษาคลื่นสมองของคนเราในอดีต เคยเชื่อกันว่า คลื่นสมอง และ สารที่หลั่งจากสมองนั้น
เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถบังคับ หรือ ควบคุมกระบวนการได้
แต่ปัจจุบันได้มีการทดลองและตรวจวัดคลื่นสมองด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พบว่า
มนุษย์สามารถควบคุมคลื่นสมอง และ สารที่หลั่งจากสมองได้
หากมี การฝึกฝนทางจิต ให้ควบคุมสภาวะอารมณ์และจิตใจได้
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่อง เหนือธรรมชาติ หรือ เร้นลับหาคำอธิบายไม่ได้
แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ ในขณะที่เราดำเนินชีวิตประจำวันตามปรกติ
พื้นฐานความเข้าใจ เรื่องคลื่นสมอง และ กลไกการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกันนี้
จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้โลกภายในตัวเอง และมองเห็น ประโยชน์ของการจัดการกับ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของเรา
นับเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตที่ทุกคนทำได้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ภาวะของคลื่นสมอง ที่เหมาะสมจะช่วยเปิดพื้นที่
การเรียนรู้ในสมองของเรา ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
และรับข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์มีประสิทธิภาพสูงมากในการทำกิจกรรมหรือ
สร้างสรรค์ผลงาน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับแหล่งกำเนิดพลังงานชีวิตที่ธรรมชาติให้ มาในตัวตนของพวกเราทุกคน
ภาวะของคลื่นสมอง
คลื่นสมอง เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งได้มาจากการส่ง สัญญาณเคมีทางชีวภาพในร่างกายมนุษย์
การวัดพลังงานไฟฟ้าบริเวณสมองด้วย เครื่องมือ Electroencephalogram (EEG) ทำให้นักวิจัยทาง ประสาทวิทยา และ นักวิทยาศาสตร์
ได้ค้นพบ ความจริงว่า การเลือกตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกมีผล โดยตรง ต่อสภาวะภายใน
ที่เป็น คลื่นสมอง เราสามารถอ่านค่าผลของ การวัด และแบ่งคลื่นสมองของมนุษย์ตามระดับความสั่นสะเทือน หรือความถี่ ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
EEG คลื่นสมอง เบต้า, อัลฟ้า, ธีต้า, และเดลต้า
MRI EEG
1. คลื่นเบต้า (Beta brainwave) มีความถี่ประมาณ 14-21 รอบต่อวินาที (Hz) เป็นช่วง คลื่นสมองที่เร็วที่สุด
เกิดขึ้นใน ขณะที่สมองอยู่ใน ภาวะของการทำงาน และ ควบคุมจิตใต้สำนึก (Conscious Mind) ในขณะตื่นและรู้ตัว เช่น การนั่ง ยืน เดิน ทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ในกรณีที่จิตมีความคิดมากมายหลายอย่างจาก ภารกิจประจำวัน วุ่นวายใจ สับสน หรือฟุ้งซ่าน
และสั่งการสมองอย่างไม่เป็นระเบียบ ความถี่ของคลื่นช่วงนี้อาจสูงขึ้นได้ถึง 40 Hz
โดยเฉพาะคนในที่มีความเครียดมาก อยู่ในภาวะเร่งรีบบีบคั้น ตื่นเต้นตกใจ อารมณ์ไม่ดี โกรธหรือดีใจมาก ๆ
สมองจะมีการทำงานใน ช่วงคลื่นเบต้ามากเกินไป ในขณะที่หากไม่มีคลื่นเบต้าเกิดขึ้นเลย มนุษย์จะไม่สามารถเรียนรู้
หรือทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ในโลกภายนอก
ปรกติสมองคนเรา จะมีเส้นทางอัตโนมัติ ในการรับรู้ความรู้สึก ที่ทำให้สั่งการได้โดยไม่ต้องใช้เวลาใน
การใคร่ครวญมากนัก ความเป็นอัตโนมัตินี้ ส่วนใหญ่จะมีประโยชน์อยู่ในระดับหนึ่ง และเป็นเรื่องกลาง ๆ สำหรับชีวิต
ช่วยย่นย่อ จดจำ เรื่องราวจำเจ ที่ต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำให้ดำเนินไปได้ บางส่วนเป็นไป เพื่อประโยชน์ต่อการรอดพ้น
จากอันตรายในสถานการณ์คับขัน เช่น การดึงมือออกทันที เมื่อบังเอิญไปสัมผัสของร้อนจัด
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ “อารมณ์ของมนุษย์” ก็มีเส้นทางอัตโนมัติเช่นเดียวกัน แต่คนส่วนใหญ่ มักจะไม่ได้ควบคุม และปล่อยให้ความเป็นอัตโนมัตินี้ทำงานมากเกินไปจากความเคยชินในการป้อน ข้อมูลซ้ำ ๆ ของเราเอง โดยมากเป็นความอัตโนมัติ ในทางลบที่มีมากเกินไป ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ ถูกส่งผ่านเข้าไปสู่ การทำงานของ ส่วนรับความรู้สึกในสมอง ที่เรียกว่า ’อะมิกดาลา’ (Amygdala) ซึ่งเป็น สมองชั้นกลาง ใกล้กับ ก้านสมอง และ มีความสามารถใน การเก็บข้อมูล ด้านอารมณ์จำนวนมาก ๆ ไว้
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า เราใส่ข้อมูลด้าน ”บวก”หรือ”ลบ” มากน้อยแค่ไหน ก็จะทำให้ สมองจดจำ และ ตอบสนองในทิศทางนั้น
หากเราปล่อยให้ความอัตโนมัตินี้ ทำงานตามลำพัง โดยไม่ฝึก กำหนดรู้
ก็จะทำให้เรา ติดกับดักของอารมณ์ ที่ไม่ดี อยู่ตลอดเวลา สมองของเราจะทำงานอยู่แต่ใน เฉพาะช่วงคลื่นเบต้า
ซึ่งในโหมดนี้ถือว่า เป็นโหมดปกป้อง มีทั้งเบต้าอ่อน และแก่ แก่หมายถึงความถี่สูง
มีผลให้ความคิดถดถอยจากสภาวะปกติ และทำงานอยู่ในฐานความกลัว มีลักษณะต้านทาน ความเปลี่ยนแปลง
บางคนจะหยุด และปิดการเรียนรู้ เพราะเกิดความเครียด สภาวะนี้สมองจะหลั่งฮอร์โมนด้านลบ ออกมามากเกินไป
นำไปสู่ ปฏิกิริยาเคมีที่ทำร้ายส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ เช่น อะดรีนาลีน คอร์ติซอล เป็นต้น
2. คลื่นอัลฟ่า (Alpha brainwave) มีความถี่ประมาณ 7-14 รอบต่อวินาที (Hz) ความถี่ ของคลื่นที่ต่ำลงมานี้ ก็คือ
เป็นคลื่นสมองที่ปรากฎบ่อยในเด็กที่มีความสุข และในผู้ใหญ่ที่มีการฝึกฝนตนเองให้สงบนิ่งมากขึ้น
อาจหมายถึง สภาวะที่จิตสมดุล อยู่ใน สภาวะสบายๆ มีการช้าลงด้วย การใคร่ครวญ ไม่ด่วนตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยอารมณ์อันรวดเร็ว
เวลาที่ความถี่น้อยลง หมายถึงว่า เราจะคิดช้าลง เป็นจังหวะ เป็นท่วงทำนอง คมชัด ให้เวลาแก่จิตในการไตร่ตรองและมีความคิดเป็นระบบขึ้น
สภาวะที่สมองทำงาน อยู่ในคลื่นอัลฟ่ายังพบอยู่ใน หลายๆ รูปแบบ เช่น ขณะที่กล้ามเนื้อ หรือ ร่างกายผ่อนคลาย ช่วงเวลาที่ง่วงนอน ก่อนหลับหรือหลับใหม่ๆ เวลาทำอะไรเพลินๆ จนลืมสิ่งรอบๆ ตัว เวลาสบายใจ เวลาอ่านหนังสือ หรือ จดจ่อกับกิจกรรมใด ๆ อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง และการเข้าสมาธิ ในระดับภวังค์ที่ไม่ลึกมาก
จากลักษณะดังกล่าว ช่วงคลื่นอัลฟ่า จะเป็นประตูไปสู่ การทำสมาธิในระดับลึก และถือว่า เป็นช่วงที่ดีที่สุด ในการป้อนข้อมูล ให้แก่ จิตใต้สำนึก สมองสามารถเปิดรับข้อมูลได้อย่างเต็มที่ และ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นสภาวะที่ จิตมีประสิทธิภาพสูง
ในทางการแพทย์ และ จิตศาสตร์ เองก็ถือว่า สภาวะนี้เป็น หัวใจของการสะกดจิต เพื่อการบำบัดโรค โดยหากจะตั้งโปรแกรมจิตใต้สำนึก
ก็ควรทำใน ช่วงที่คลื่นสมองเป็นอัลฟ่า
ในคนทั่วไปเอง ก็ควรฝึกฝนตนเองให้ สมองทำงานอยู่ใน ช่วงคลื่นอัลฟ่า เป็นประจำเช่นเดียวกัน เพราะจะช่วยสร้าง ความผ่อนคลาย ร่างกายจะไม่ทำงานอยู่บน ฐานแห่งความกลัว หรือ วิตกกังวล แต่จะมองชีวิต อย่างสนุกสนาน
มีความรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรืออยากสำรวจโลกแบบเด็ก ๆ แต่คนส่วนใหญ่ มักจะขาดการฝึกฝนให้ตนเอง มีคลื่นสมองชนิดนี้
และมักปล่อยให้อารมณ์อัตโนมัติตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ขาดการคิดใคร่ครวญ
ด้วยระยะเวลาอันเหมาะสมก่อน หากเรามีการฝึกฝนจิตให้ตื่นรู้เช่นเดียวกัน กับแนวทางการปฏิบัติธรรม ในพุทธศาสนา
คลื่นอัลฟ่านี้จะถูกบ่มเพาะให้เข้มแข็งขึ้น สามารถรื้อโปรแกรมอัตโนมัติเก่า สร้างโปรแกรมอัตโนมัติใหม่ ๆ ได้
3. คลื่นเธต้า (Theta brainwaves) มีคลื่นความถี่ประมาณ 4 - 11 รอบต่อวินาที (Hz) เป็นช่วงคลื่นที่สมองทำงานช้าลงมาก
พบเป็นปรกติในช่วงที่คนเราหลับ หรือมีความผ่อนคลายอย่างสูง แต่ใน ภาวะที่ไม่หลับคลื่นชนิดนี้ ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น ขณะอยู่ในการภาวนาสมาธิที่ลึกในระดับหนึ่ง การเข้าสู่สภาวะนี้ จะใกล้เคียงกับ คลื่นสมองในสภาวะอัลฟ่า คือ มีความสุข สบาย ลืมความทุกข์ แต่จะมีความปิติสุขมากกว่า
สภาวะนี้มีความเชื่อมโยงกับ การเห็นภาพต่าง ๆ สมองในช่วงคลื่นเธต้า จะเปรียบเสมือน แหล่งเก็บแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในความจิตใจส่วนลึกของเรา จึงเป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind) อันเป็นการทำงานของเนื้อสมองส่วนใหญ่ของมนุษย์
ระดับพฤติกรรมภายใต้ความถี่ของของคลื่นเธต้า เป็นลักษณะที่บุคคล คิดคำนึงเพื่อแก้ปัญหา พบได้ทั้งลักษณะที่รู้สำนึก และไร้สำนึก ปรากฏออกมาเป็น ความคิดสร้างสรรค์ เกิดความคิดหยั่งเห็น (Insight) มีความสงบทางจิต และมองโลกในแง่ดี
เกิดสมาธิแน่วแน่และเกิดปัญญาญาณ มีศักยภาพสำหรับ ความจำระยะยาวและ การระลึกรู้
4. คลื่นเดลต้า (Delta brainwaves) มีความถี่ประมาณ 0 – 4 รอบต่อวินาที(Hz) เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด
สภาวะนี้จะทำให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลายในระดับที่สูงมาก เป็นคลื่นสมองที่ทำงานเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็น จิตไร้สำนึก (Unconscious mind)
เช่น ในขณะที่ร่างกายหลับลึกโดยไม่มีการฝัน หรือ เกิดจากการเข้าสมาธิลึกๆ ในระดับฌาน
ในช่วงนี้คลื่นสมองแสดงให้เห็นว่า ร่างกายกำลังดื่มด่ำกับ การพักผ่อนลงลึกอย่างเต็มที่ เปรียบได้กับการประจุพลังงานเข้าสู่ร่างกายใหม่ ผู้ที่ผ่านการหลับลึก ในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดี จะรู้สึกได้ถึงความสดชื่นกระปี้กระเปร่ามากเป็นพิเศษ
เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ที่นอนหลับไม่ค่อยสนิท และสำหรับผู้ที่ทำสมาธิอยู่ในระดับฌานลึก ๆ เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็จะยังคงติดรสแห่งปิติสุข ทำให้เกิดความสุขใจ มีใบหน้าผ่องใสเต็มอิ่ม ไปด้วย ความสุขสดชื่นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้สมองยังแบ่งการทำงานออกเป็นซีกซ้าย และซีกขวา และคลื่นสมองทั้งสองด้าน ยังมีการขึ้นลงเป็นอิสระต่อกัน ทำให้ความถี่ แตกต่างกัน
แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ในระหว่างการฝึกจิตทำสมาธิ จะส่งผลต่อการปรับความถี่ของสมองทั้งสองด้าน ให้ขึ้นลงเหมือนกัน
กราฟของคลื่นสมองทั้งสองด้านมีรูปร่างคล้ายตุ๊กตา เป็นลักษณะที่เรียกว่า Synchronization
ซึ่งการเกิด Synchronization นี้ จะทำให้เกิดพลังจิตที่เพิ่มขึ้นในมนุษย์ เป็นภาวะพิเศษแห่งการตื่นรู้ของจิต (Awakened Mind)
นักวิชาการทางการแพทย์ และผู้ศึกษาและพัฒนาจิตเพื่อ สุขภาพ กล่าวว่า “ เมื่อเราสามารถเข้าไปสู่ ’จิตใต้สำนึก’ หรือถึงระดับ ’จิตไร้สำนึก’ ได้บ่อยๆ โดยที่มี ‘จิตสำนึก’ กำกับอยู่ ก็จะ ’จำได้’ และสามารถลงไปสู่แหล่งข้อมูลมหาศาลได้บ่อยมากขึ้นเร็วมากขึ้น
ข้อมูลที่ได้จาก ’จิตใต้สำนึก’ และ ’จิตไร้สำนึก’ นั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะออกมาในลักษณะที่เรียกว่า ‘ญาณทัศนะ’ ( Intuition ) หรือ ‘ ปิ๊งแว๊บ ’ หรือ ‘ ยูเรก้า ’ ซึ่งเป็นชุดภาษาอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่คำพูด แต่มีความพอเหมาะพอดีแบบที่คาดไม่ถึง “
.....เราได้เรียนรู้ว่า ขณะที่สมองทำงานอยู่ในช่วงคลื่นอัลฟ่า เธต้า และเดลต้า จะช่วยให้เราผ่อนคลายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่สภาวะ ปัจจุบัน เกือบทุกสิ่งรอบตัวต่างเต็มได้ด้วยความเร่งด่วน
นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เราก็อยู่ใน โลกแห่งความเร่งรีบเสียแล้ว ชีวิตมีแต่การบ่มเพาะว่า ทุกอย่างต้องรวดเร็ว หากช้าจะไม่ทันการณ์ สมองของคนส่วนใหญ่ จึงทำงานอยู่ใน เฉพาะช่วงคลื่นเบต้า เป็นหลัก
ในขณะเดียวกันเรา ก็ปล่อยให้ การสั่งการของโปรแกรมอัตโนมัติ ทางอารมณ์ ทำงานไปตามยถากรรมแบบดีบ้างไม่ดีบ้าง คุ้มดีคุ้มร้ายสุดแต่ว่าจะมีอะไรเข้ามากระทบ เราขาดการฝึกฝนจิต ให้มีความชำนาญใน การคิดอย่างใคร่ครวญก่อนตอบสนอง
.จะเห็นว่า ในทางปฏิบัติ เรื่องสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้เราปรับคลื่นสมองได้ คือ เราต้องรู้ตัวและฝึกการรับรู้อารมณ์ให้ได้ก่อน
มีเทคนิค ที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา
จากหนังสือชื่อ “บายพาสอารมณ์” ของ นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ได้ให้แนวคิดว่า
ตลอดเวลาที่เราตื่นกันอยู่ประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวันนั้น เราเคยสนใจลมหายใจของเราหรือไม่
ง่ายๆ แค่ว่ารู้ตัวว่า เราหายใจเข้า รู้ตัวว่าเราหายใจออก ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางใหม่ของปฏิกิริยาชีวเคมีในสมองแล้ว
การฝึกรับรู้ลมหายใจ นี้เป็น แบบฝึกหัดเริ่มต้นแบบง่ายๆ ในขณะที่การฝึกรับรู้อารมณ์จะยากกว่า แต่ถ้าเราฝึกตัวรู้เรื่อง ลมหายใจ ได้ก็เสมือน ได้พัฒนาช่องทางการรับรู้อื่นด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา(อานาปานสติภาวนา) โยคะ ซี่กง จึงเน้นความสำคัญเรื่อง การฝึกลมหายใจเหมือนกัน
ในการฝึกรับรู้อารมณ์ นี้ นพ.วิธาน แนะนำว่าให้ลองเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีสมมติว่ามีตัวเราอีกคนหนึ่ง กำลังเฝ้าดูตัวเรา คนที่ที่กำลังมีอารมณ์นั้น ๆ หากเป็นอารมณ์ในทาง ”บวก” หรืออารมณ์ ”กลาง” ๆ ก็ให้เฝ้าดูและดื่มด่ำกับอารมณ์นี้อย่างรู้ตัว ไม่หลงระเริงไปกับมัน
แต่ถ้าเป็นอารมณ์ ”ลบ” ก็เพียงเฝ้าดูอีกเช่นกัน เสมือนหนึ่ง การชำเลืองดูลูกน้อย ที่กำลังทำผิด โดยที่ไม่ไป ทะเลาะด้วย พยายามให้ความสำคัญกับตัวเราคนที่เฝ้าดู อย่าไปโฟกัสกับตัวเราคนที่กำลังเกิดอารมณ์โกรธ วิตกกังวล หรือ อารมณ์ไม่ดีอยู่ในขณะนั้น
ด้วยหลักการของพลังงานมีขึ้นลง ไม่จำเป็นต้องระเบิดเพื่อระบายอารมณ์ ในที่สุดตัว เราคนที่กำลังโกรธ จะค่อยๆ คลายไปเอง การสร้างเส้นทางใหม่ของอารมณ์นี้จะค่อยๆเปลี่ยนพลังด้านลบออกไปเป็นพลังด้าน บวก เพียงเฝ้าดูแบบยิ้มๆ เท่านี้เอง
วิธีนี้ทางพุทธศาสนามีมากว่าสองพันปีแล้ว และเป็นเส้นทางที่ได้ผลดีมาก แต่เราต้องใช้ความพยายามในการฝึกฝนบ่อยๆ ต้องใช้เวลา
อาจได้บ้างไม่ได้บ้างในระยะแรก ๆ แต่ถ้าทำบ่อย ๆ จะเกิดความชำนาญขึ้นเอง โดย นพ.วิธาน ให้ข้อคิดว่า ทุกวันนี้ เราต่างมีเวลา สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างเส้นทางใหม่ให้กับอารมณ์ของเราเอง และเทคนิคใน การเฝ้าดูอารมณ์ ของตนเองนี้ เปรียบเสมือนการ”ล้างพิษหรือดีท็อกซ์”ของจิตใจที่ดีมากวิธีหนึ่ง
ความเข้าใจกลไก การทำงานแห่งโลกภายในตนเอง มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตใจและคุณภาพภายใน และเป็นเรื่องที่ไม่ได้แยกขาดจากการดำเนินชีวิตของเราแต่อย่างใด
เมื่อนำไปประกอบกับ วิชาความรู้ ที่เราศึกษาเพิ่มเติม จากโลกภายนอก จะทำให้ความรู้ของมนุษย์เกิดความสมดุล สามารถระลึกรู้และใช้ปัญญากำกับได้ ดังนั้นไม่ว่าใคร จะมีบทบาทอยู่ใน หน้าที่ใดในสังคม ก็จะสามารถเลือกใช้วิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มาประสานเชื่อมโยงกันอย่างชาญฉลาด ภายใต้ความเมตตา และจิตสำนึกต่อส่วนรวม
..........................
การฝึกรับรู้ลมหายใจ-รับรู้อารมณ์ (อานาปานสติสมาธิิภาวนา)
http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?t=97
นำมาจาก : http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?t=612
Credit: http://www.novabizz.com/NovaAce/Physical/Brainwave.htm
ขายส่งกล้องวงจรปิด ถูกสุดในภาคตะวันออก 081-5691442
ตอบลบติดกล้องวงจรปิด เริ่มต้น 800 บาท กรุงเทพ ชลบุรี พัทยา ระยอง สัตหีบ
รับหน้าร้อน ติดแอร์เริ่มต้น 4,000 บาท 086-0891644
ล้างแอร์ 500 บาท ชลบุรี พัทยา ระยอง สัตหีบ
ติดตั้งระบบ CALL Center จาก SimCard