นับจากจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 120 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ยังคงยึดมั่นในปณิธานตามกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ...”
ดังนั้น ภารกิจด้านวิชาการและการค้นคว้าวิจัยของมหาวิทยาลัย จึงเป็นถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่ตั้ง เฉกเช่นกับงานวิจัยชุมชุนของมหาวิทยาลัยมหิดลที้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการก่อตั้ง “กลุ่มภารกิจวิจัยชุมชน ในปี 2553โดยมุ่งเน้นการยกระดับและขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนให้ชัดเจนมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมือของทุกคณะและสถาบันวิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่ว่า จะเป็น คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในการนำองค์ความรู้ในทุกศาสตร์และทุกสาขา มาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยกับคนในชุมชนเพื่อให้แก้ไขปัญหามีความยั่งยืนมากที่สุด โดยมีเป้าหมายให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ใช้ความรู้ความสามารถ เพื่อพัฒนาสังคมร่วมกับชุมชน ภายใต้การดูแลของ “ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คนปัจจุบัน
คลองมหาสวัสดิ์ งานวิจัยชุมชุนของม.มหิดล
ล่าสุดในปี 2554 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและวิจัยพื้นที่พุทธมณฑล โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล คือ ตำบลศาลายา ตำบลมหาสวัสดิ์ และตำบลคลองโยง ระดมทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญจากทุกคณะ ทุกสถาบัน ทำงานวิจัยแบบสหสาขาร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนพุทธมณฑล สร้างต้นแบบชุมชนยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการ กลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชุมชน เนื่องจากงานวิจัยชุมชนมีความแตกต่างจากการทำวิจัยในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกจากจากจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ยังเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาโดยมีประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง ในกระบวนการทำวิจัยชุมชน คนในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการตั้งโจทย์วิจัย กำหนดขอบเขตของปัญหา ร่วมคิดหาทางแก้ไขและลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
ข้าวตัง สินค้า OTOP ที่ม.มหิดลช่วยส่งเสริมของดีของชุมชน
“การที่คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัย นอกจากจะเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างตรงจุดแล้วยังเป็นการสร้างขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนในการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยมีนักวิชาการเป็นเพียงผู้สนับสนุน
งานวิจัยชุมชนจึงไม่ใช่แค่สร้างองค์ความรู้ แต่ถือเป็นงานวิจัยที่มีชีวิต มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างคนหรือสร้างนักวิจัยชาวบ้าน โดยกระบวนการทำงานคนในชุมชนก็จะได้เรียนรู้วิธีคิดและวิธีทำงานของนักวิจัย ซึ่งเราพบว่าหลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่ามันเป็นงานวิจัยอย่างหนึ่ง สำหรับมหิดลเราจึงเชื่อว่างานวิจัยชุมชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชุมชนสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาของตัวเองได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาในอนาคต”
กล้วยฉาบหลากรส ของดีชาวศาลายา
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยชุมชนกว่า 200 โครงการ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีประเด็นปัญหาที่แตกต่าง หลากหลายตั้งแต่ สุขภาวะ โภชนาการ การศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนทุนทางสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ล่าสุด ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มภารกิจวิจัยชุมชน ได้ริเริ่มงานวิจัยชุมชน ภายใต้โครงการพุทธมณฑล ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.ศาลายา ต.คลองมหาสวัสดิ์ และต.คลองโยง โดยเริ่มการจัดเวทีประชาคมพุทธมณฑลเพื่อสรุปโจทย์ปัญหาที่ชุมชนต้องการวิจัยและแก้ไข ไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา และยังอยู่ในระหว่างดำเนินการจนปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นการทำงานใน 2 ระยะ ได้แก่ 1. การทำงานในระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูชุมชนจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี2554 2. การทำงานในระยะยาว เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาจากโจทย์ที่ตั้งโดยชุมชน อาทิ การกำจัดผักตบชวาซึ่งกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำและเป็นอุปสรรคในการสัญจร หรือ การบริหารจัดการน้ำของชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคต
“การที่เราเลือกทำงานกับ 3 ตำบลในโครงการนี้ นอกจากเป็นชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งอยู่ ในเวลาเดียวกันเรามองว่าทั้ง 3 ตำบลนี้มีทุนทางสังคมที่สูงมาก และเป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ทั้งด้านทางประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตในแบบดั้งเดิม เราเชื่อว่างานวิจัยชุมชนจะช่วยเสริมพลังให้คนในชุมชนเข้มแข็งขึ้นซึ่งถือสิ่งสำคัญในการรักษาทุนทางสังคมเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งจะช่วยให้ทิศทางการพัฒนาชุมชนเป็นไปตามความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง” รศ.ดวงพร กล่าวในที่สุด
“นายประทุม สวัสดิ์นำ” หรือ “ลุงทุม”
ด้านตัวแทนชุมชนคลองมหาสวัสด์ อย่าง “นายประทุม สวัสดิ์นำ” หรือ “ลุงทุม” ผู้ผูกพันกับคลองสายนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ จนปัจจุบันอายุ 77 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจที่มหาวิทยาลัยให้ความช่วยเหลือชุมชนมาโดยตลอด
“รู้สึกดีใจที่มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นความสำคัญของชุมชน มาเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ทำให้พวกเรามีวิถีชีวิตทีดีขึ้น ลบความเชื่อที่ไม่ดีออกไป และที่สำคัญงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นงานที่เกิดขึ้นจริง ลงพื้นที่สำรวจพร้อมกับชาวบ้าน พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ระหว่างภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน พร้อมกับความรู้ใหม่ของทางมหาวิทยาลัย สามารถช่วยให้ชุมชนเราดีขึ้น ซึ่งมันก็ดีขึ้น จริงๆ เราไม่ต้องการอะไรจากมหาวิทยาลัย ขอแค่อยู่เป็นเพื่อน และไม่ทอดทิ้งเราก็พอ”
นางจงดี เศรษฐอำนวย หรือ “พี่แจ๋ว”
เช่นเดียวกับนางจงดี เศรษฐอำนวย หรือ “พี่แจ๋ว” ประธานกลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลไม้ ต.ศาลายา จ.นครปฐม เผยเช่นเดียวกันว่า ชาวบ้านชุมชนศาลายามีความรู้ หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ชุมชนเติบโตได้ดีขึ้น
“มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาช่วยฟื้นฟูสิ่งเก่าที่เราแทบจะไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลงอะไร จากนั้นเราก็ต่างร่วมมือไปมาเรื่อยๆ เหมือนมีกุหลาบมาปักในแจกันให้ภาพมันดูดีมากขึ้น และมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นก็คือ กุหลาบที่มาปักในแจกัน ในชุมชนของเราให้ชุมชนดูดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เราพูดได้เลยว่า เราไม่มีความรู้ เป็นชุมชนชนบทที่ห่างใกล้ความเจริญ แต่มหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาสอนให้เราใช้ความรู้รอบตัวที่เรามีอยู่ มาใช้ประโยชน์ ทำให้ชุมชนดี รวมไปถึงเด็กๆ นักศึกษาที่มาพร้อมกับอาจารย์ พวกเขาเหมือนลูกหลานเราคนหนึ่ง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น