...+

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

นักวิจัย ม.มหิดลเผยแอมเฟตามีนมีผลทำสมองเสื่อม

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ปัญหายาเสพติด” เป็นปัญหารุนแรงระดับชาติและระดับโลกที่ก่อตัวเรื้อรังมานาน ส่งผลเสียต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศสูญเสียกำลังคน กำลังทรัพย์ไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลจำนวนผู้ติดยาเสพติดของสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุขที่รวบรวมจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการลงทะเบียนพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดจำนวน 87,123 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ติดยาเสพติดประเภทยาบ้าจำนวนถึง 71,215 คน

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีผู้ติดยาเสพติดประเภทยาบ้าเป็นจำนวนสูงสุด “ยาบ้า” จัดเป็นยาเสพติดในกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamines) เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ร่างกายตื่นตัว มีพละกำลังมากเป็นพิเศษ แต่ในทางตรงกันข้ามหากร่างกายได้รับสารเหล่านี้มากเกินไปก็จะทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว โหดร้าย มีอาการหวาดระแวง จิตหลอน นำมาซึ่งเหตุการณ์รุนแรง และอาชญากรรมต่างๆ

ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์
ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี ๒๕๕๔ จากสภาวิจัยแห่งชาติ เรื่อง “กลไกของแอมเฟตามีนในการทำลายเซลล์ประสาทก่อให้เกิดสมองเสื่อม” ว่า งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในสาขาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคือ สามารถค้นพบได้ว่า สารเสพติดแอมเฟตามีน (Amphetamines) เป็นพิษต่อระบบประสาทโดปามีน (Dopamine) ซึ่งอาจทำให้มีการพัฒนาไปเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสันได้เมื่อมีอายุมากขึ้น เท่ากับว่า ผู้ที่เสพติดสารแอมเฟตามีนมีโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมสูงกว่าคนปกติทั่วไป





"ผู้ที่เสพสารเสพติดแอมเฟตามีน ในระยะแรกจะมีความรู้สึกเคลิ้มสบาย รู้สึกร่างกายพร้อมที่จะทำงาน เพราะเกิดการหลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์พึงพอใจ เป็นสารที่ทำให้เกิดความสุข แต่หากร่างกายหลั่งสารโดปามีนมากไป สารโดปามีนจะกลายเป็นสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเซลล์สมอง เช่นเดียวกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันก็มีสาเหตุเกิดจากเซลล์ประสาทโดปามีนถูกทำลายเช่นกัน โดยจากการทดลองฉีดสารแอมเฟตามีนในหนูทดลองพบว่า เซลล์ประสาทส่วนที่เรียกว่าโดปามีนนั้นถูกทำลาย จึงคาดการณ์ได้ว่า ผู้ที่เสพสารเสพติดแอมเฟตามีนมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคพาร์กินสันได้ในอนาคต"

นับได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้สามารถทำให้เราทราบถึงผลของสารแอมเฟตามีนที่มีต่อสมอง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มที่เสพติดอยู่ หรือที่กำลังคิดจะลองเสพให้ตระหนักถึงผลเสียนี้ รวมถึงเยาวชนที่ใช้สารแอมเฟตามีนเพื่อการลดน้ำหนัก หรือแม้กระทั่งกลุ่มทางการแพทย์ที่ใช้สารแอมเฟตามีนในการรักษาโรคของเด็กที่เป็น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) หรือโรคไฮเปอร์ ให้ระวังถึงผลเสียต่อสมองที่จะเกิดขึ้นได้



นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ ยังได้กล่าวถึงสารซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ที่พบในยาประเภทลดน้ำมูกว่า ความจริงแล้วสารซูโดอีเฟดรีนนั้น ออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ประสาทโดปามีน เช่นเดียวกับสารแอมเฟตามีน เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานยาลดน้ำมูกที่มีสารซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนประกอบอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความเคยชิน ก็จะสามารถทำให้เกิดการเสพติด และเมื่อร่างกายมีการหลั่งสารโดปามีนมากเกินไป สารโดปามีนก็จะกลายเป็นสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเซลล์สมอง ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมหรือพาร์กินสันได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่หากจะให้สารซูโดอีเฟดรีนออกฤทธิ์เทียมสารแอมเฟตามีนจะต้องใช้ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ๔๐ เท่าจึงจะทำให้มีผลลัพธ์เท่ากัน

"จากข้อมูลข้างต้นเท่ากับว่า สารซูโดอีเฟดรีนไม่ได้เป็นเพียงสารตั้งต้นที่นำไปผลิตเป็นยาเสพติดได้เท่านั้น แต่หากเป็นสารที่ทำให้เสพติดได้ด้วยตัวมันเองชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรบริโภคยาด้วยความระมัดระวัง ใช้ยาอย่างรู้เท่าทัน รับประทานยาเมื่อต้องการรักษาโรค และหากมีอาการที่ทุเลาลงหรือบรรเทาไปแล้วก็ควรจะหยุดการใช้ยานั้นๆ วิธีที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง"

อนึ่งงานวิจัยเรื่อง “กลไกของแอมเฟตามีนในการทำลายเซลล์ประสาทก่อให้เกิดสมองเสื่อม” นี้ นอกจากจะศึกษาความเป็นพิษของสารแอมเฟตามีนที่มีต่อเซลล์ประสาททำให้สมองเสื่อมหรือโรคพาร์กินสันแล้ว หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ทำการศึกษาการป้องกันการตายของเซลล์ประสาทโดปามีนพบว่า “เมลาโทนิน” มีคุณสมบัติการกำจัดสารอนุมูลอิสระ ป้องกันการตายของเซลล์ประสาทโดปามีนอันเนื่องจากสารเสพติดแอมเฟตามีนได้

นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ต่อไป เกี่ยวกับเรื่องระบบประสาทและสมองอันเนื่องมาจากการเสพสารเสพติดที่เป็นอันตรายเช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น