...+

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

แพงทั้งแผ่นดิน โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง,สุวินัย ภรณวลัย

แพงโดนทั้งแผ่นดิน ไม่เลือกสีโดยเฉพาะคนจน

สิ่งที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งในรัฐบาลหุ่นโชว์นี้ก็คือสินค้ามีราคา “แพง” ขึ้นทั้งแผ่นดิน ไม่รู้จะนับเป็นความสามารถอีกประการหนึ่งรองจากการทำให้น้ำ “ท่วม” ทั้งแผ่นดินด้วยหรือไม่

ภาวะสินค้าหรือบริการมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็วเขาเรียกว่า เงินเฟ้อ ซึ่งดูไปแล้วก็สื่อความหมายไปด้วยกันทั้งสองคำเพราะ เงินเฟ้อ กับ สินค้าราคาแพง นั้นมีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจมีเงินมากกว่าสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้นสินค้าจำนวนเท่าเดิม เช่น รถ 1 คันจึงต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นกว่าก่อนมีเงินเฟ้อเพื่อซื้อหามา

ยิ่งคนมีเงิน (ที่มิใช่รายได้) ในมือมากขึ้นเท่าใด เงินเฟ้อยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะคนมีพฤติกรรมที่จะถือเงินในจำนวนที่คงที่ เช่น ร้อยละ 10 ของรายได้ หากได้รับเงินมามากขึ้น เช่น จากนโยบายประชานิยมที่มุ่งเพิ่มเงินในกระเป๋า ก็จะพยายามขจัดเงินส่วนเกินความต้องการถือเงินที่มีอยู่ออกไปโดยเปลี่ยนเงินเป็นสินค้าแทน เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่อยากถือเงินเพิ่มจึงหันไปถือสินค้าแทน ราคาสินค้าก็จะแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตทำได้ไม่ทันความต้องการเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ปริมาณเงินกับอำนาจซื้อของเงินจึงมักสวนทางกันอยู่เสมอ

เงินเฟ้อเป็นเรื่องของภาพกว้าง มิได้เจาะจงในสินค้าใด หากแต่หมายถึงสินค้าและบริการโดยรวมทุกๆ ชนิดในระบบเศรษฐกิจ การวัดเงินเฟ้อจึงมักใช้ดัชนีหรือตัวเลขร้อยละของการเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้าบริการโดยรวมเป็นเครื่องชี้

ข้อสรุปง่ายๆ ที่ค้นพบมาแล้วหลายร้อยปีก็คือ สินค้าราคาแพง หรือ เงินเฟ้อ มีสาเหตุมาจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่นักการเมืองที่อ้างสรรพคุณตนเองว่า “รู้มาก” เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีและเหล่าข้าราชการที่ไปร่ำเรียนมาสูงๆกลับไม่รู้แล้วหันมาคุมราคาสินค้าเป็นรายตัว/กลุ่มแทน โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันราคาสินค้าเพิ่มจากการกักตุนสินค้าหรือค้ากำไรเกินควรแทนที่จะไปแก้ที่ต้นเหตุคือมีเงินเข้ามาในระบบมากเกินไป

อย่าแสร้ง “โง่” การกักตุนเพื่อฉวยโอกาสหากำไรหรือใช้ “ธงฟ้า”ขายของถูกแข่งทำได้เฉพาะบางสินค้าที่ผู้ขายสามารถผูกขาดได้เท่านั้น ไม่สามารถทำได้ทุกสินค้า การแก้ที่ตรงนี้มันจะแก้เงินเฟ้อได้อย่างไรเพราะไม่ได้แก้ที่เหตุ

ภาพลักษณ์ของการแก้ไขสินค้าราคาแพงหรือเงินเฟ้อจึงผิดฝาผิดตัวมาโดยตลอด แทนที่จะเป็นผู้มีอำนาจเพิ่ม(ลด)เงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับกลายเป็นกระทรวงพาณิชย์แทน

เงินเฟ้อเป็นเช่นยักษ์ในตะเกียง หากไม่ปล่อยออกมาก็ไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ดังนั้นเงินเฟ้อในระดับต่ำๆ ในระยะแรกจึงมักถูกเพิกเฉยไม่สนใจควบคุมเพราะไม่คิดว่าจะมีผลเสียสักเท่าใด แต่เมื่อยักษ์เงินเฟ้อนี้หลุดออกมาได้เมื่อใดก็สามารถขยายผลร้ายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในด้านหนึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้คนไม่อยากถือเงินแต่เลือกถือสินค้าแทนเงิน ในอีกด้านหนึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แรงงานจึงหันมาต่อรองเพิ่มค่าจ้าง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มราคาสินค้า หมุนวนเป็นวงจร ค่าจ้าง – ราคาสินค้าอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

คนไทยยังไม่เคยหอบเงินที่มีน้ำหนักมากกว่าสินค้าที่จะไปจ่ายตลาด แต่คนในซิมบับเวในปัจจุบัน เยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือดูเขมรเป็นตัวอย่างก็ได้ ต่างล้วนมีประสบการณ์มาแล้ว ราคาสินค้าเช้าหากไม่ซื้อบ่ายอาจต้องซื้อในราคาใหม่ที่สูงกว่าเดิม

แล้วใครที่สามารถเพิ่มเงินในปริมาณมากๆ เข้ามาในระบบหากมิใช่รัฐบาล เงินเป็นแสนล้านสามารถเพิ่มเข้าระบบอย่างง่ายดายรวดเร็วจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่เพิ่งผ่านสภาฯ ไป คนในสังคมไม่ใช่เหตุเพราะพฤติกรรมการถือเงินไม่ได้เปลี่ยนได้โดยง่ายหากไม่มีอะไรมากระทบ นโยบายประชานิยมที่มุ่งเพิ่มเงินในกระเป๋า เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนในโครงการรถบ้าน การประกันราคาสินค้าเกินจริงต่างๆ นี้แหละที่เป็นสาเหตุหลัก

ตอนนำเสนอนโยบายเพื่อหาเสียงก็มักปกปิดหลีกเลี่ยงว่าจะเอาเงินจากที่ใดมาทำ เงินในกระเป๋าจึงเพิ่มพร้อมกับเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มมากกว่า บวกลบแล้วอาจจนกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะเงินมีอำนาจซื้อไม่เหมือนก่อนมีนโยบายประชานิยม ข้าวแกงรัฐบาลหุ่นโชว์นี้จึงแพงกว่ารัฐบาลอื่น

ดังนั้นแทนที่จะเก็บภาษีอย่างเปิดเผยว่าจะนำเงินภาษีไปใช้ทำอะไร แต่หลบเลี่ยงใช้การ “กู้” เงินแทน ทั้งปิดบังวัตถุประสงค์การใช้เงินแล้วยังเปิดโอกาสให้มีปริมาณเงินเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก

โดยเปรียบเทียบ การ “กู้” เงินของรัฐบาลที่เลวน้อยที่สุดคือการกู้จากเอกชนโดยการขายพันธบัตรเพราะไม่ได้ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มเนื่องจากเป็นเพียงการโยกย้ายเงินที่เอกชนมีมาให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินแทน แต่ที่เลวร้ายมากที่สุดก็คือการ “กู้” เงินจากธนาคารกลางเพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเนื่องมาจากธนาคารกลางไม่ได้รับฝากเงินและไม่มีเงินทุนแต่มีอำนาจสร้างเงิน การเพิ่มทรัพย์สินที่มาจากการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่รัฐบาลเอามาขายให้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล มีผลทำให้ธนาคารกลางต้องเพิ่มปริมาณเงินที่เป็นหนี้สินเพื่อมาชำระมูลค่าพันธบัตร

ดังนั้นธนาคารกลางจึงเป็นข้อต่อที่สำคัญ เนื่องจากเป็นหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจในการสร้างเงินซึ่งเป็นอำนาจที่นักการเมืองอยากได้แต่ไม่อยากรับผิดชอบ ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกออกจากกันระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

การรักษาเสถียรภาพด้านราคาหรือการควบคุมเงินเฟ้อที่เป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลางจึงทำไม่ได้ หากต้องเข้ามามีบทบาทในการสนองตอบต่อการเพิ่มปริมาณเงินจากนโยบายการคลัง เช่น การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลโดยการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารกลางรับซื้อ ซึ่งจะทำให้ควบคุมดูแลเงินเฟ้อไม่ได้เพราะควบคุมปริมาณเงินไม่ได้นั่นเอง

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการปฏิเสธการช่วยรัฐบาลเพิ่มปริมาณเงินในระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็นแม้จะเป็นหน่วยงานของรัฐแต่ก็ไม่สามารถทำตามคำสั่งของรัฐบาลได้ทุกเรื่อง ในสหรัฐฯ ผู้ว่าการระบบธนาคารกลาง (เนื่องจากมีธนาคารกลางอยู่หลายแห่ง) แม้จะเสนอชื่อโดยรัฐบาลแต่จะได้ทำงานหรือไม่อยู่ที่การรับรองของสภาฯ มีระยะเวลารับตำแหน่งที่แน่นอน มีงบประมาณเป็นของตนเองนอกเหนือไปจากพันธกิจรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระการดำเนินการของธนาคารกลาง

ที่มาของเงินเฟ้ออีกประการหนึ่งก็คือ การคาดคะเนของคนเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คนในสังคมมีพฤติกรรมการคาดคะเนที่แตกต่างกันไป ง่ายที่สุดอาจคาดคะเนจากข้อมูลหรือพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนี้ ความเป็นอิสระของธนาคารกลางยิ่งมีบทบาทสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงความสามารถในการทำตามคำพูดหรือพันธกิจนั่นเอง

ประเทศไทยในอดีตแม้ว่าผู้ว่าการฯ จะถูกแต่งตั้งหรือปลดออกโดยอำนาจรัฐมนตรีคลังแต่เพียงผู้เดียวแต่การดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองอยู่ที่ “บารมี” หรือ charisma ที่ผู้ว่าการฯ มีจากประพฤติปฏิบัติของตนเองเป็นสำคัญ เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือในอีกหลายๆ ท่าน แม้จะไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง แต่การลาออกโดยไม่แจ้งสาเหตุก็เป็นท่าไม้ตายที่สำคัญ เพราะเป็นการสื่อสารต่อสังคมว่าถูกแทรกแซงจนไม่อาจดำเนินการตามพันธกิจรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่กล้าแทรกแซงการดำเนินงานแม้ในช่วงเผด็จการ

วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเกิดอะไรขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนหน้านั้น ประพฤติปฏิบัติของผู้ว่าการฯ เป็นอย่างไรในกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เอาความขัดแย้งหรือประโยชน์ส่วนตัวมาอยู่เหนือประโยชน์ของชาติหรือไม่ ทุกคนชอบอ้างอาจารย์ป๋วยว่าเป็นผู้ใกล้ชิดหรืออาจารย์เลือกมาเอง แต่ไม่ค่อยมีใครทำตามอย่างประพฤติปฏิบัติที่ดีของอาจารย์ป๋วยสักเท่าไร หมาขี้เรื้อนจึงนิยมเอาหนังราชสีห์มาคลุมให้ดูดี

เมื่อขาด “บารมี” เพราะประพฤติปฏิบัติของตนเอง และไม่กล้าใช้ท่าไม้ตายเพราะตนเองได้ตำแหน่งมาโดยมิใช่จากความสามารถของตนเอง ความเป็นอิสระของธนาคารกลางก็ไม่เกิด ผลวิบัติต่อเศรษฐกิจไทยก็เป็นไปอย่างที่เห็น

ในปัจจุบันแม้จะมีการปรับแก้กฎหมายรองรับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จากกรณีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระแทนดูจะเป็นบททดสอบที่ผู้ว่าการฯ ในยุคที่มีกฎหมายรองรับความเป็นอิสระสอบไม่ผ่าน

เงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงานในรัฐบาลหุ่นโชว์ในช่วง ส.ค. 54 ถึง ม.ค. 55 อยู่ในระดับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนระหว่างร้อยละ 2.66-2.92 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.83 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือราคาแพงขึ้นกว่าปีก่อนช่วงเดียวกันร้อยละ 2.83 โดยเฉลี่ย ในขณะที่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงเดียวกัน (ส.ค. 53 ถึง ม.ค. 54) ราคาแพงขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.20

ความแตกต่างระหว่างสองรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกันที่ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว อย่าคิดว่ายังน้อยหรือ “เอาอยู่” เพราะการเพิ่มอย่างรวดเร็วในอัตรานี้ไม่ช้าไม่นานคงเกินกว่า “เป้าหมายเงินเฟ้อ” ที่ตั้งไว้ ยักษ์เงินเฟ้อก็จะอาละวาด

ในขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ปริมาณเงินกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกับที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้เงินเฟ้อกลับถูกปรับให้อยู่ในช่วงขาลง ตรงกันข้ามกับในช่วงอภิสิทธิ์ที่แม้เงินเฟ้อต่ำกว่าแต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น

ไม่อยากถามแต่ก็ต้องถามว่าภาวะราคา “แพง” ทั้งแผ่นดินในขณะนี้เกิดขึ้นจากอะไร? เป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยยินยอมเสียอิสระให้ฝ่ายการเมืองแต่ไม่ยอมเสียตำแหน่งจริงหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น