...+

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทำไมต้องบังคับให้เราเลือก...อุทยานหรืออุตสาหกรรม โดย บรรจง นะแส

ทำไมต้องบังคับให้เราเลือก...อุทยานหรืออุตสาหกรรม
โดย บรรจง นะแส

“ท่าเรือปากบารา และแลนด์บริดจ์ ควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่วันนี้ยังไม่เกิด ถือว่าช้ามากแล้ว ทั้งๆ ข้อมูลชี้ชัดว่า หากท่าเรือแห่งนี้เกิดจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมหาศาล นักลงทุนมองปราดเดียวก็รู้แล้วว่าคุ้มค่า ผมคิดว่ามันต้องเกิดขึ้นเร็วที่สุด ถ้าเราเคาะโครงการวันนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 5 ปี ผมไม่อยากเห็นเราเป็นเหมือนอดีต เช่น ทนใช้สนามบินดอนเมืองมานานตั้ง 25 ปี ทั้งๆ ที่ควรมีสนามบินใหม่นานแล้วท่าเรือปากบาราก็เช่นกัน” เป็นคำกล่าวของนักธุรกิจทีมมันสมองของพรรคเพื่อไทย ที่พูดถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา …

ผมจึงไม่แปลกใจต่อคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่แถลงชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อรัฐสภาว่า “นโยบายข้อที่ 6 เราจะจัดให้มีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน” ท่าเรือน้ำลึกปากบาราคือส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงนั่นเอง

“นักลงทุนมองปราดเดียวก็รู้ว่าคุ้มค่า” ช่างเป็นวาทกรรมที่แทงเข้าไปตรงดวงใจน้อยๆ ของพี่น้องในพื้นที่ที่ไม่ใช่นัก “ลงทุน” แต่เป็นแค่คนที่หาเช้ากินค่ำ และฝากปากท้องไว้กับผืนทะเลและหาดทราย ณ ชายฝั่งแห่งนั้นเสียเหลือเกิน มากไปกว่านั้น คือคำถามที่ว่าทำไมชาวบ้านในพื้นที่ถึงต้องถูกบังคับให้ต้องเลือกอยู่ตลอดเวลา

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีเวลาลงไปสตูล เพื่อไปดูว่าเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการ “เพิกถอน” สถานะความเป็นอุทยาน เพื่อหลีกทางให้กับการก่อสร้างให้เป็นเขตอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่คือท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตอนนี้ดำรงสภาพจริงๆ เช่นไร มีเหตุผลมากพอไหมที่เราจะเพิกถอนเพื่อหลีกทางให้กับการพัฒนาใหม่ให้เข้ามาแทนที่

ถ้าท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อยากเรียนคร่าวๆว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญคือเกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง ฯลฯ

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลประมาณ 494.38 ตร.กม. หรือ 308,987 ไร่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2526 และได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 มีความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม สถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า “อ่าวนุ่น” นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยอีกหลายเกาะ

ผมลงเรือที่ทำการอุทยานฯ อ่าวนุ่นไปยังเกาะลิดี ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการฯ ไปประมาณ 5 กม. และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กม. ลักษณะสำคัญของเกาะลีดีคือ มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตร.กม. มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว

เกาะที่สำคัญในเชิงของการเป็นชุมชนคือเกาะสุกร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่มาช้านานมีอาชีพหลักในการทำการประมงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันเกาะสุกรมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ห่างชายฝั่งเพียง 3 กม. มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง นอกจากนี้แตงโมที่เกาะสุกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดตรัง โดยภาพรวมในสายตาของผมมองว่าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ยังคงสภาพสวยงาม และไม่ควรถูกเพิกถอนเพื่อหลีกทางให้กับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

“ตามยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ของประเทศปี 2550-2554 ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีท่าเรือขนส่งสินค้าในฝั่งทะเลอันดามันเพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกฝั่งอันดามัน เพื่อเชื่อมโยงการค้าสู่ตะวันออกกลาง

ท่าเรือปากบาราเป็นยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ฝั่งอันดามัน ซึ่งจะรองรับสินค้าทางด้านภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคใต้ของไทย รวมไปถึงจีนตอนใต้ ซึ่งเราคาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีตู้สินค้าจากภายในประเทศประมาณ 200,000 ตู้ สินค้าจากจีนตอนใต้อีก 100,000 ตู้ หากท่าเรือปากบาราเสร็จสมบูรณ์จะมีสินค้ามาขึ้นที่ท่าเรือปากบาราเพื่อใช้แลนด์บริดจ์ผ่านไปอ่าวอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะน่าแชร์ได้ 10% หรือประมาณ 300,000 ตู้ ซึ่งเท่ากับท่าเรือปากบาราจะรองรับตู้สินค้าได้ไม่น้อยกว่า 600,000 ตู้ต่อปี ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล”

มูลค่ามหาศาลในสายตาของนักธุรกิจหรือนักลงทุนกับการที่สังคมไทยจะต้องสูญเสียอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สวยงามอย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราแล้ว เราจะต้องสูญเสียแหล่งประกอบอาชีพอื่นๆ ที่เขามีอยู่เดิมไม่ว่าอาชีพชาวประมง กลุ่มนักธุรกิจรายย่อยอย่างผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล เจ้าของเรือนำเที่ยว บังกะโล ร้านอาหารทะเล ฯลฯ ทำไมนะสังคมชุมชนท้องถิ่นจึงมักถูกบังคับให้ต้องเลือกอยู่เสมอ ที่สำคัญรัฐมักบอกว่าจะต้องเลือกในสิ่งที่เขากำหนดมาเท่านั้น..เสียดายและอาลัยหมู่เกาะเภตราจริงๆ ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น