...+

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรื่อง มะพร้าวนาฬิเกร์

อธิบายแก่สมาชิกพุทธสมาคม ฯ ประชุมและพักแรมอยู่ที่ค่ายธรรมบุตร
สนทนาระหว่างพักการประชุมที่ลานหญ้า บน เขื่อนสระนาฬิเกร์, ในสวนโมกขพลาราม

๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๑



ที่
นัดกันมานั่งตรงนี้ ก็ใคร่จะพูด เรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์ คือให้นึกถึงปู่ย่าตายาย ว่าท่านมีความสนใจในธรรมะมาก คอยสอดส่องแง่คิดเกี่ยวกับธรรมะมากกว่าพวกเรา ฉะนั้น ในบทกล่อมลูก เช่นบท"มะพร้าวนาฬิเกร์"นี้มันจึงเกิดขึ้น. บทกล่อมลูกแบบปักษ์ใต้ ไม่เหมือนกับภาคกลางหรือภาคเหนือ หรือภาคอื่น ; มันเป็นทำนองเฉพาะ, แล้วก็ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องเป็นราว.

บทกล่อมลูกตามแบบพื้นเมืองนี้จะเหมือนกันหมด ตั้งแต่ชุมพรลงมาถึงไชยา ไปจนถึงนครศรีธรรมราช พัทลุง ; สงขลาไม่ค่อยมี. อาตมาพยายามสอบสวนดู มีใครไปใครมา ได้พยายามสอบถามคนแก่ ๆ ดู ให้ร้องบทกล่อมลูกให้ฟัง ; มันเหมือนกันจนรู้สึกว่า มันเป็นของถ่ายทอดถึงกัน. มันคงจะอยู่ในลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมอะไรด้วยเหมือนกัน มันจึงถึงกัน และเหมือนกัน ; เช่นบทเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์นี้ ที่หลังสวนก็มี, ที่ชุมพรก็มี, ล่างลงไปทางกาญจนดิษฐ์ ทางนครศรีธรรมราชก็มี.

ในบทกล่อมลูกประมาณ ๕ – ๖ ร้อยบทนั้น มีบทธรรมะสูงสุด ในทำนองโลกุตตระนั้นอยู่หลายบท, แล้วก็มีบทที่เป็นเพียงศีลธรรมธรรมดาอยู่หลายสิบบท ; นอกนั้นก็มีประเภทเล่าเรื่อง เช่นเรื่องพระนางพิมพา นางเมรี เรื่องพระสังข์ อะไรก็ตาม, เป็นทำนองบรรยายเรื่องก็มีมาก, และมากที่สุดก็เป็นบทล้อเลียนเกี้ยวเลี้ยวระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย. ทั้งหมดเป็นบทสำหรับกล่อมเด็กให้นอน : แม่กล่อมลูก, พี่กล่อมน้อง, ไกลเปลให้นอน.

บทมะพร้าวนาฬิเกร์ บทมะม่วงพิมพานต์ บทส้มซ่า หมายถึง ความคิดที่ออกไปนอกโลก บทมะพร้าวนาฬิเกร์นี้ มีว่า :-

มะพร้าวนาฬิเกร์ ถ้าร้องเต็มที่ก็ว่า : คือน้องเอย คือน้อง คือมะพร้าวนาฬิเกร์. หรือ น้องเอยมะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย.

บทท้ายนี้ว่า : "ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย" ก็มี, "ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ" ก็มี, "คงจะถึงสักวันหนึ่งเอย" ก็มี.

เมื่อคืนวันที่มีการแสดงให้ดู มีร้องเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์. นี่คิดดูแล้วปู่ย่าตายายนั้นไม่ใช่เล็กน้อย เป็นคนสนใจอยู่ตลอดเวลา ; เพราะว่าเนื้อความที่จะร้องนี้ มันลึก มันไม่ใช่จะเดาส่งเดชไปได้ มันต้องมีผู้รู้, มีความรู้ แล้วประดิษฐ์ขึ้นมาให้ชาวบ้านเอาไปร้อง.

มะพร้าวนาฬิเกร์ นี้หมายถึงมะพร้าว. นาฬิเกร์ ก็แปลว่า มะพร้าว, ต้นเดี่ยวโนเน ก็หมายความว่า ต้นเดี่ยว ไม่มีคู่เปรียบ. อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง หรืออยู่นอกทะเลขี้ผึ้ง ภาษาเมืองนี้ถ้าเขาว่าไปทะเล เขาว่าไปนอกเล ไปนอกเล ก็หมายความว่า ไปที่ทะเล อยู่นอกเลขี้ผึ้ง ก็หมายความว่าอยู่ที่ทะเลขี้ผึ้งนั่นเอง, หรืออยู่กลางทะเลขี้ผึ้งนี้ก็ยิ่งชัดใหญ่ ; เป็นมะพร้าวที่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ลองคิดดูซิว่า ทะเลขี้ผึ้งมันเป็นอย่างไร. ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง หมายความว่า ที่นั่นไม่มีอะไรกระทำได้, ไม่มีอะไร effect ได้, ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้งนั้น.

ทางเมืองชุมพรร้องว่า คงถึงสักวันหนึ่งเอย. ชุมพรไปไกลกว่าเพื่อน คนแก่ ๆ ร้องอย่างนี้ว่า คงถึงสักวันหนึ่งเอย. แถวไชยามักจะร้องว่า ต้นเดี่ยวเปลี่ยวลิงโลดเอย อยู่นั้นแหละ จะถึงหรือไม่ถึงก็มีอยู่อย่างนั้น. บางคนจะร้องว่าถึงได้แต่ผู้มีบุญเอยก็มี, มีบุญมากพอ จึงจะไปถึง.

นี้หมายความว่า มีอะไรอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งอะไรทำไม่ได้ อะไรจะไปกระทำมันไม่ได้, มันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้งเสียด้วย. ตกมาสมัยนี้เราเลยคิดว่า มันคงจะสูญไปหมด คือไม่มีใครร้องอีกต่อไป, พอคนรุ่นแก่ ๆ นี้ตายหมด เด็กรุ่นหลังก็ไม่ร้อง จึงได้ สร้างสระนี้เป็นที่ระลึกแก่ความเอาจริงเอาจังในทางธรรมของปู่ย่าตายาย คือมะพร้าวนาฬิเกร์.

ที่มันคล้ายกัน ก็มีว่า : มะม่วงหิมพานต์ สุกงอมหอมหวาน อยู่กลางแม่น้ำทะเลหลวง พ้นลิง พ้นค่าง พ้นสัตว์ทั้งปวง อยู่กลางแม่น้ำทะเลหลวง พ้นเข้เหราเอย : คือมีที่แห่งหนึ่งอยู่กลางทะเลนั่น แล้วพ้นทุกสิ่ง พ้นจากสิ่งเบียดเบียนทุกสิ่ง คล้ายกับ Better land ของพวกฝรั่ง ของคริสเตียน.

แล้วมีบทร้องว่า : ส้มซ่า ลูกดกหราร่า ร่มฟ้าร่มดิน กาไหนหาญเจาะ เราะ(คือกระรอก)ไหนหาญกิน ร่มฟ้าร่มดิน ร่มหัวคนทั้งเมืองเอย.

"ร่มหัวคนทั้งเมืองเอย" นี้หมายถึงธรรมะ, ธรรมะนี้ลูกดกแน่นขนัดไปหมด จนร่มฟ้าร่มดิน ; ไม่มีความทุกข์หรือความชั่ว อะไรจะไปแตะต้องธรรมะได้ ; กาไหนกล้าเจาะ เราะไหนกล้ากิน ร่มหัวคนทั้งเมือง อย่างนี้.

นี่ ปู่ ย่า ตา ยาย เขาไม่มีอะไรพิเศษเหมือนพวกเรา แต่เขามีอย่างนี้ ; เขานึกถึงแต่สิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งดีที่สุด ซึ่งเลิศที่สุดอยู่เสมอ ; มันจึงออกมาในรูปนี้ แล้วแสดงความสูงในทางจิตใจ ; นี่เรียกว่าเรื่องฝ่ายธรรมะนั้นสูง. เรื่องสอนศีลธรรมทั่ว ๆ ไปนั้นก็มีมาก จำไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยได้จำด้วย.

ทีนี้ พูดถึงบทล้อเลียนก็แยบคายมาก มีว่า : พี่ ชาย น้องแก่เหมือนจะตาย พี่ชายก็เพิ่งจะมาขอ กระบอกยนต์ยังมิได้สร้าง ผ้าขาวห่อร่างยังมิได้ทอ พี่ชายก็ริจะมาขอ รอให้น้องหล่อบอกยนต์ก่อนเอย.

บอกยนต์นั่นคือตะบันหมาก. คนแก่ ๆ มาติดพันเด็กผู้หญิงรุ่นสาว. เด็กหญิงเขาบอกว่า : ยังไม่ได้หล่อตะบัน ยังไม่ได้ทดผ้าห่อศพ ; ฉะนั้น รอให้หล่อตะบันเสียก่อน จึงค่อยมาขอ ; นี้เป็นบทล้อเลียนก็คมคายมากเหมือนกัน.

ในบทกล่อมลูก มีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกมาก เกี่ยวกับทะเลขี้ผึ้งนี้มีตั้ง ๒ บท อีกบทหนึ่งว่า : "ดอกมะลิ บานเหมือนจะผลิอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง" อย่างนี้ก็มี ; นี่เรียกว่าคิดถึงทะเลขี้ผึ้ง. พวกเรานี้เรียนนักธรรมโท หรือเปรียญ ๙ ประโยค ; เมื่อคนแก่ ๆ พูดอย่างนี้ก็ตีความไม่ถูก. เคยถามพวกเปรียญ ๙ ประโยค หรือนักธรรมเอกให้อธิบาย ; ก็ไม่ทราบ, ไม่รู้ว่าอะไร ทะเลขี้ผึ้ง.

นิพพานคือต้นมะพร้าวไปอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง, กลางทะเลขี้ผึ้งนี้คือวัฏฏสงสาร. เรามันสอนกันมาผิด ผิดจากที่ว่านี้, เราไปสอนกันว่า นิพพานอยู่ฝ่ายหนึ่ง วัฏฏสงสารอยู่ฝ่ายหนึ่ง ตรงกันข้ามเลย. โลกิยะกับโลกกุตตระต้องแยกกันอยู่คนละทิศ ละทางเหมือนฟ้ากับดิน ; สอนกันอยู่แต่อย่างนี้ในโรงเรียนเดี๋ยวนี้. เรื่องโลกกับโลกุตตระแยกออกไปจากกันเลย, ไปอยู่ตรงกันข้ามคนละข้างคนละฝ่ายเสียด้วย. แต่คำสอนโน้นว่า : อยู่ที่กลางทะเลขี้ผึ้งนั่นเอง ; เหมือนกับพวกเซ็นพูดว่า จุดเย็นที่สุดนั้น อยู่กลางเตาหลอมอย่างนั้นแหละ.

ข้อนี้พากันลืมเสีย ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า : มีทุกข์ที่ไหน ต้องดับทุกข์ที่นั่น, มีความทุกข์งอกขึ้นมาที่ตรงไหน ต้องดับความทุกข์ที่ตรงนั้น. ฉะนั้น นิพพานคือดับทุกข์ที่สุด มันก็ต้องอยู่ที่กลาง ที่มีทุกข์ที่สุดนั้นแหละ, อยู่ที่ตรงจุดที่มีทุกข์ที่สุดนั่นแหละ, คือทะเลขี้ผึ้ง.

ทะเลขี้ผึ้ง มีความหมายเป็นวัฏฏสงสาร หรือสังสารวัฏฏ์. ทีนี้สังสารวัฏฏ์มันแยกออกได้เป็น ๒ ความหมาย : คือ ดีกับชั่ว บุญกับบาป กุศลกับอกุศล อะไรทำนองนี้ เป็นสอง ๆ อย่างนี้. ถ้าบุญก็ปรุงแต่งไปทางเวียนว่ายดี, บาปก็ปรุงแต่งไปในทางให้เวียนว่ายชั่ว, ทั้งบุญและทั้งบาปก็ปรุงแต่งไปทางเวียนว่ายทั้งนั้น. วัฏฏสงสารก็เต็มไปด้วยบุญและบาป สองอย่างเท่านั้น ; ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น.

เหมือนกับขี้ผึ้งในกรณีหนึ่งมันเหลวเป็นน้ำ, ในกรณีหนึ่งมันแข็งเป็นดิน, ขี้ผึ้งมีได้ทั้งความเหลวและความแข็ง ; ฉะนั้น เขาจึงเอามาเปรียบเป็นความหมายของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งบางขณะเป็นบุญ, บางขณะเป็นบาป, แต่ก็ปรากฏว่าเป็นคลื่นของสังสารวัฏฏ์ทั้งนั้น. สังสารวัฏฏ์จึงเปรียบเหมือนทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง, เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง. ที่ตรงไหนมีความทุกข์, ตรงนั้นดับทุกข์. จุดที่ร้อนที่สุด, ที่ทุกข์ที่สุดนั้นจะมีนิพพานที่นั่น ; ฉะนั้นจึงพูดว่า อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง.

ถ้าพูดว่า อยู่นอกทะเลขี้ผึ้ง มันจะไปในทำนองว่า ไปอยู่เสียคนละส่วนกับทะเลขี้ผึ้ง อยู่นอกออกไปอีก, นี้เป็นทะเลขี้ผึ้ง แล้วอยู่นอกออกไปอีก. คำพูดที่ว่า นิพพานอยู่ฝั่งโน้น โลกอยู่ฝั่งนี้ก็มีเหมือนกัน นี้เป็นคำพูดภาษาคน, ภาษาตื้น ๆ. ถ้าภาษาธรรมะแล้วมันต้องอยู่ตรงจุดนั้นแหละ, มีความทุกข์ที่ไหน ก็มีความดับทุกข์ที่นั่น, มีความทุกข์ที่ไหน นิพพานก็อยู่ที่นั่น, นี้จึงว่าอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง.

ทั้งทะเลขี้ผึ้ง ทั้งต้นมะพร้าวมันก็อยู่ในเรา ; เพราะว่าเดี๋ยวเราก็เป็นสังสารวัฏฏ์ เดี๋ยวเราก็ไม่มีสังสารวัฏฏ์ คือหยุดหรือสงบไปพักหนึ่ง. ทั้งมะพร้าวนาฬิเกร์ ทั้งทะเลขี้ผึ้ง มันก็ล้วนแต่อยู่ที่ในเรา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลก ก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดีอยู่ในเรา ที่มีร่างกายยาววาหนึ่ง มีสัญญาและใจนี้. สังสารวัฏฏ์ก็อยู่ในเรา, นิพพานก็อยู่ในเรา.

ทีนี้เรามองนอกตัวเราเรื่อย จึงไม่มีวันที่จะรู้จัก แม้แต่สังสารวัฏฏ์, จึงไม่มีวันที่จะรู้จัก แม้กระทั่งนิพพาน. ฉะนั้น ฮวงโปจึงล้อเอาว่า โอ๊ย ! มันอยู่ที่หน้าผากแล้วโว้ย คนโง่ ๆ, ดูให้ดี มันอยู่ที่หน้าผากนั่น. หาวิธีอะไรที่มองให้เห็นหน้าผาก ถ้าไม่อาศัยกระจกเงา เราจะต้องมองเข้าไปข้างใน, มองเข้าไปข้างใน, มองเข้าไปข้างในเรื่อย. เรามันเคยชินกัน แต่มองออกไปข้างนอกเรื่อย แล้วไม่มองเข้าไปในตัวปัญหาคือความทุกข์ คอยแต่จะหลีกจะหนีจะหลบ ; จึงทำไว้ให้ดูนี่ว่า มะพร้าวนาฬิเกร์อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง, จึงเรียกมานั่งดูกันตรงนี้ ว่ามันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง สมมติสระนี้เป็นทะเลขี้ผึ้งและต้นมะพร้าวนั้นคือมะพร้าวนาฬิเกร์. สำหรับตอนเย็น ๆ จะได้มานั่งดูรำพึงไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ จนกว่าจะถึงวันหนึ่งมันเกิดฟลุกขึ้นมา มันมองเห็น ก็เกิดรู้สึกขึ้นมาซึมซาบในที่สุด.

ในสวนโมกข์นี้จึงอยากจะสร้างให้มีอะไรชนิดที่ช่วยสะดุดตา สะดุดใจ แล้วให้สะดุดเป็นชนวนสำหรับพิจารณา รู้สึกนึกถึงธรรมะ ขึ้นมาได้หลาย ๆ อย่าง รวมทั้งสระนาฬิเกร์นี้ด้วย เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ของมหรสพทางวิญญาณ.

มหรสพทางวิญญาณคือตัวธรรมะ ตัวมหรสพคือตัวธรรมะ ; สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเป็นโรงของมหรสพหรือเป็นอุปกรณ์ของมหรสพ. เราอาศัยโรง, อาศัยอุปกรณ์ เราก็ถึงตัวธรรมะคือมหรสพ. ฉะนั้น เรามีอย่างนี้เป็นต้น เป็นอุปกรณ์ แล้วเราเพ่ง เพ่ง เพ่ง ๆ จนชิน ชิน ชิน ชิน จนรู้สึกขึ้นมาเอง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องใคร่ครวญ. ถ้าต้องใคร่ครวญอยู่ยังใช้ไม่ได้ ; ถ้ายังต้องใคร่ครวญอยู่ ยังต้องใช้เหตุผล ยังต้องพิจารณาอยู่ อย่างนี้ยังไม่มีธรรมะ เลยยังไม่รู้ธรรมะจริง ยังไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจ ; เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุผลเรื่อย. ถ้า ยังขึ้นอยู่กับเหตุผลตราบใดแล้ว ยังไม่สามารถจะเปลี่ยนจิตใจ จากความยึดมั่นไปสู่ความไม่ยึดมั่น. มันต้องเป็นเรื่องของจิตใจ เปลี่ยนไปโดยทางจิตใจไม่ต้องมีเหตุผล, โดยที่บอกเหตุผลไม่ได้.

อาตมานั่งดูปลาที่เลี้ยงไว้เล่นนั้น หรือปลาที่นี่ก็ดู นั่งดู นั่งดู นั่งดู ตั้ง ๒ ปี ; มันจึงรู้ว่านี่พระเจ้าไม่ได้สร้าง. มันเป็นความรู้ว่าพระเจ้าไม่ได้สร้าง, ไม่มีเหตุผลว่า ทำไมพระเจ้าไม่ได้สร้าง แต่มันมีความแน่นอนในจิตใจว่า พระเจ้าไม่ได้สร้าง. เมื่อ สมัยก่อน เมื่อเรามีการคำนวณพิจารณาว่า พระเจ้าคงจะไม่ได้สร้าง เพราะเหตุผลอย่างนั้น เพราะเหตุผลอย่างนี้ จดไว้เป็นแถวเลย ; มีเหตุผลว่า ต้องไม่ใช่พระเจ้าสร้าง มันก็ไม่เปลี่ยนจิตใจได้ ; มันไม่เชื่อว่า ปลานี้พระเจ้าไม่ได้สร้าง. แต่การที่ดูมันอยู่เรื่อย ดูมันอยู่เรื่อย ๒ ปี ๓ ปีนี้ มันมีความเปลี่ยนในจิตใจว่า : พระเจ้าไม่ได้สร้าง, แล้วมันเชื่อเสียอย่างนั้น มันไม่ต้องมีเหตุผลอะไร. นี่เป็นความรู้หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก ; มันเป็น realize ว่า พระเจ้าไม่ได้สร้าง, ไม่มีอะไรมาทำให้จิตใจคิดไปว่า พระเจ้าสร้าง อีกต่อไป.

การคิดคำนึงโดยเหตุผลนั้น มันอยู่ที่เหตุผล เดี๋ยวมันก็ลืม เดี๋ยวมันก็สงสัย เดี๋ยวมันก็ลืม กลับไปกลับมา ; ฉะนั้นจึงมาเห็นอยู่ว่า เรื่องศึกษาเล่าเรียนแล้วก็มาพิจารณาตามเหตุผลนี้ มันเป็นเพียงขั้นต้น ขั้นตระเตรียม. เราจะต้องมีอะไรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงธรรมชาติเลย โดยการดูอยู่ เห็นอยู่ หรือจะพิจารณาอะไรอยู่ก็ตามใจ ให้มันซึมเข้าไปในธรรมชาตินั้น. สักวันหนึ่ง มันไม่มีเหตุผล, มันไม่ต้องใช้เหตุผล มันเข้าไปเปลี่ยนจิตใจเราหมดแล้วว่าอะไร ๆ เป็นอย่างนั้น.

ทีนี้ มันจะ จริงหรือไม่จริงนั้นไม่สำคัญ ถ้ามันทำให้เราไม่ทุกข์ได้แล้วก็พอ. เรื่องนั้นจะจริงหรือไม่จริงไม่สำคัญ เช่นว่า พระเจ้าจะสร้างปลาจริงหรือไม่จริงนั้นไม่สำคัญ ; แต่ความรู้ที่ว่า เราไม่ต้องเชื่อพระเจ้า ไม่มีหวังอะไรที่พระเจ้า ; นี้มันมีประโยชน์แน่นอนด้วย, มันมีผลที่ตรงนี้. ฉะนั้นเรื่องที่ดูอะไรอยู่ เห็นอะไรอยู่ ดูอยู่เสมอ แล้วก็ขยันที่จะซึมซาบในสิ่งนั้น เป็นเรื่องช่วยมาก, เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยมากในการเข้าถึงธรรมะ. ที่นี่จึงอยากจะมีอะไร ๆ อยู่มาก ๆ สระบ้าง ก้อนหินบ้าง อะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง, วัตถุสิ่งของบ้าง รูปภาพบ้าง รูปเขียนบ้าง รวมไว้ในบริเวณนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ หมายความว่า ทั้งสวนโมกข์ สวนโมกข์ทั้งหมดนี้ให้เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ, แล้วก็มีอะไร ๆ ต่าง ๆ กัน.

ในตึกหลังนั้น ก็เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่ง เป็นส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้น ; และก็ไม่สำคัญหรือไม่วิเศษยิ่งไปกว่าธรรมชาติ หรือว่าที่มันคล้ายธรรมชาติเหล่านี้. ฉะนั้น เรามีที่นั่ง ที่เดิน ที่อะไรที่เหมาะ ๆ แล้วก็มีอะไรที่ชวนให้คิด แล้วก็คิดอยู่, หรือให้ความคิดมันดำเนินอยู่เป็นปี ๆ ; วันหนึ่งมันเปลี่ยนจิตใจเราได้. เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมชนิดที่มันจะเปลี่ยนจิตใจของเราได้ มันจะเป็นสระมะพร้าวนาฬิเกร์นี้ หรืออะไรอย่างอื่นก็ตาม ; ควรจะทำกันบ้าง. ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้นในบริเวณนี้ ควรจะมีช่องทางสำหรับที่จะให้เกิดความหมาย, เกิดความคิดที่มีความหมายไปในทางที่เป็นประโยชน์ สำหรับจะเข้าใจถึงเรื่องหลุดพ้น เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น.

นี้คือความมุ่งหมาย ของเรา หรือความพยายามของเราที่นี่ ที่จะสอนความเข้าถึงธรรมชาติ, เป็นเกลอกันกับธรรมชาติ ; ให้ขยันดูต้นหญ้า ดูมด ดูแมลง ดูปลา ดูผัก ดูต้นหญ้า ดูทุก ๆ อย่าง ให้ขยันดู, ให้ขยันเป็นเกลอเป็นสหายโดยใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านี้ ; นานเข้า ๆ มันก็จะประมวลตัวทุก ๆ อย่างเข้ามา แล้วส่งความรู้ ความเด็ดขาดในการรู้การคิดออกมา. โดยเหตุที่ธรรมชาตินี้มันเป็นสิ่งสำคัญ เป็นใจกลาง เป็นศูนย์กลาง อะไร ๆ มันก็ต้องเป็นธรรมชาติ ; ฉะนั้น พยายามเข้าใกล้ธรรมชาติ เป็นเกลอกันกับธรรมชาติ มันก็จะออกมาในรูปที่ถูกต้อง.

นิพพานก็ธรรมชาติ, สังสารวัฏฏ์ก็ธรรมชาติ, ความทุกข์ก็ธรรมชาติ, ดับทุกข์ก็ธรรมชาติ ; อย่าเข้าใจไปว่ามีอะไรแปลก ที่มนุษย์เพิ่งจะทำนั้นไม่ใช่ธรรมชาติ ตัวมนุษย์เองก็ธรรมชาติ ; อาตมาชอบคำของมหาตมคานธี ที่เขาถือกันว่า บ้า ; คือแนะให้อยู่กระท่อมแทนที่จะอยู่ปราสาท อยู่ตึก แนะให้อยู่ใน village เล็ก ๆ อย่าอยู่เป็น town เป็น city. เคยอ่านกันไหม ? เรื่องของมหาตมคานธี เขาบอกว่า "โลกนี่มันไปกันใหญ่ ไปสู่ความร้อนเป็นไฟนี้ เพราะมันทิ้งธรรมชาติ".

เราอยู่อย่างกระท่อมเหมือนที่มหาตมคานธีอยู่นั้นแหละ มันใกล้ธรรมชาติกว่าอยู่ตึกหลาย ๆ ชั้น ที่เรียกว่าปราสาท. อยู่กระท่อมยังใกล้ธรรมชาติกว่าอยู่ตึก ; อยู่โรงพื้นดินเล็ก ๆ ก็ยังใกล้ธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติมากกว่า. ธรรมชาติจะแวดล้อมจิตใจไปในลักษณะที่เป็นไปเหมือนอย่างธรรมชาติ สมคล้อยธรรมชาติ ความทุกข์เกิดยาก, รวมทั้งไม่เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นยาก. พอเกิดอยู่ตึกขึ้นมาเท่านั้น ประเดี๋ยวเถิด มันไปทิศไหนทางไหนก็ไม่รู้, มันจะโตจะใหญ่ มันจะเอา มันจะเป็น มันจะเอาของผู้อื่นมาในที่สุด.

ทีนี้ การอยู่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ พยายามกระจายให้เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่าเป็น city เป็น town อะไรขึ้นมา นี้ลองเปรียบดู. กรุงเทพฯ หรือ นิวยอร์ค มันหาความสะอาดไม่ได้, มันหาบรรยากาศของธรรมชาติไม่ได้ ; แต่ถ้าเราอยู่อย่าง village อยู่ในระหว่างแม่น้ำ ต้นไม้ภูเขาอะไรเช่นนี้ มันอยู่ในระหว่างธรรมชาติ. ฉะนั้น จิตใจของคนไปอีกทางหนึ่ง ; นี่ธรรมชาติมันช่วยให้คนมีจิตใจอย่างธรรมชาติอยู่ต่อไป. พวกฝรั่งคงจะแย้งเรื่องว่าไม่สะดวก ไม่สามารถทำอะไรให้ใหญ่โตได้ ถ้าจะให้อยู่อย่างธรรมชาติ อยู่กันอย่างหมู่บ้านเล็ก ๆ. ที่จริงเมื่อปัญญามันมีมันก็ทำได้, มันจะได้รับความสะดวกสบายในลักษณะที่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แม้จะไม่เหมือนเมืองใหญ่ ๆ.

นี้ไปคิดดูเถิด, แม้แต่เป็นกรุงเทพฯ ก็ตาม ฮ่องกงก็ตาม โตเกียวก็ตาม นิวยอร์คก็ตาม มันสร้างอะไรขึ้นในจิตใจของคนบ้าง. พออยู่เป็นเดือนเป็นปี เป็นหลายสิบปีเข้า คนมันกลายเป็นอะไรไป. ฉะนั้น ที่นี่เราอยากจะให้คงสภาพธรรมชาติ ให้เพียงแต่เดินไปเดินมา ก็ได้ซึมซาบในธรรมชาติ, ให้ธรรมชาติแวดล้อมเราปรุงแต่งความคิดของเรา ให้ยังอยู่ในสภาพที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ; เราจะได้ง่าย สะดวกในการที่จะได้สบายไม่เร่าร้อน. จะผิดหรือจะถูกข้อนี้ก็คอยดูกันต่อไป. มันคงจะถูกมากกว่าผิด มีผิดเป็นส่วนน้อย.

แต่ว่าเพื่อนมนุษย์ของเราไม่เห็นด้วย ไม่เล่นด้วย ; เขาอยากจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าไปตามแบบที่เขานิยมกันอยู่ ; มันก็เกิดต่อสู้กันในระหว่างความรู้สึกสองฝ่ายนี้. แต่ถึงอย่างไรก็ดี พวกที่อยู่ในเมืองควรจะออกมาสู่ธรรมชาติอย่างนี้กันเสียบ้าง หรือบ่อย ๆ ; ธรรมชาติที่ช่วยแวดล้อมเรา จะช่วยให้เรามีอะไร ๆ เกิดขึ้น จะช่วยให้เราเข้าใจความคิดของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น.

เดินไปเดินมากันอยู่แถวนี้ นั่งคุยกันอยู่แถวนี้ จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ง่ายกว่าในที่โกลาหลวุ่นวาย ; เพราะความรู้สึกคิดนึกของพระพุทธเจ้า เกิดออกมาจากธรรมชาติ, จากความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ. ถ้าไม่อาจจะอยู่บ้านนอกได้ ก็มาเยี่ยมบ้านนอกบ่อย ๆ ก็แล้วกัน, จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ.

ที่นี่ เราก็ประสมประเสกันกับธรรมชาติ สร้างอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นอย่างนี้ ให้เป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา ช่วยการศึกษาอะไรไปเรื่อย ๆ. ที่นี่ยังมีภูเขา ยังมีลำธาร ยังมีอะไรที่จะต้องปรับปรุงให้มีประโยชน์ทางนี้อยู่อีกมาก. ที่ชวนมาดู มานั่งตรงนี้ ก็เพื่อให้ดู สระทะเลขี้ผึ้ง ดูมะพร้าวนาฬิเกร์, ซึ่งเคยเป็นความคิดของปู่ ย่า ตา ยาย ให้แสวงหาความดับทุกข์ ตรงที่ความทุกข์ นั่นเอง ; ให้แสวงหานิพพาน ในท่ามกลางสังสารวัฏฏ์ นั่นเอง, หรือว่า ให้แสวงหาโลกุตตระที่ตรงโลก นั่นเอง. เดี๋ยวนี้ในโรงเรียนกำลังสอนแยกกันอยู่เป็นฟ้ากับดิน ซึ่งไม่มีวันจะพบกันได้สำหรับที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน.

พระนิพพานก็ธรรมชาติ สังสารวัฏฏ์ก็ธรรมชาติ มันก็อยู่ที่สิ่งเดียวกัน, หรือพูดอย่าง ฮวงโป พูด : นิพพานก็ว่าง สังสารวัฏฏ์ก็ว่าง มันก็อยู่ที่เดียวกัน แล้วมันก็ว่างอยู่แล้วที่หน้าผากคนนั่นแหละ ; แล้วก็มองไม่เห็น. คืออะไรมันมีให้มองอยู่ในตัวเราเองหมด แต่เรามองไม่เห็น เพราะไม่มองข้างใน. ฉะนั้นจึงหวังว่าท่านจะพยายามมองนิพพานก็ดี สังสารวัฏฏ์ก็ดี จากในภายใน ว่าทั้งสระทะเลขี้ผึ้งและมะพร้าวนาฬิเกร์นั้นมีอยู่ในเรา ; ถ้าเรายกเอาทั้งหมดนี้ เข้ามาในเราได้ละก็ใช้ได้. นี่พูดโดยภาษาคนและภาษาธรรมที่แตกต่างกัน.

นี่เรียกว่า มาหัดกันเสียใหม่ หัดมองในด้านใน มองสิ่งต่าง ๆ จากภายใน จึงจะมีประโยชน์. อย่ามัวไปมองข้างนอก ภายนอก ที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผล ต้องคำนึงทางเหตุผล ; ให้เอาความรู้สึกทางภายในเป็นหลัก มันก็จะมีการปรับปรุงของมันเองตามหลักธรรมชาติ ซึ่งเราบอกไม่ถูก ออกมาเป็นความรู้สึกบางอย่างที่เด็ดขาดลงไป มีความทุกข์ไม่ได้อีกต่อไป, หรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้อีกต่อไป.

ทีนี้ ถ้าว่าใช้ประโยชน์อย่างนั้นไม่ได้ ทำไว้ดูวิวสวย ๆ ก็ยังดี. ให้ดูซิ, วิวยิ่งสวยขึ้นทุกที มีเงา มี reflection มีแสงสะท้อน. บางเวลามันก็พริ้วเอามาก ๆ ; เมื่อลมพัด เป็นสังสารวัฏฏ์เต็มที่ เป็นคลื่นนิด ๆ เต็มไปทั้งสระ ; บางเวลามันก็หยุดนิ่ง เป็นกระจก, ส่วนที่เป็นน้ำนั้น บางทีมันก็หยุดนิ่งเป็นกระจก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น