...+

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

ฆราวาสธรรมกับการเมืองไทย

ฆราวาสธรรมกับการเมืองไทย


โดย ดร.ประยูร อัครบวร

เปิดอ่านหนังสือวิชาศีลธรรมของลูก ถูกใจมากที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ระดับประถมสอนให้เด็กได้รู้เรื่อง “ฆราวาสธรรม” ทำให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ฆราวาสธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับชาวบ้านคนที่ไม่ใช่พระ ธรรมของผู้ครองเรือน หรือหลักการครองชีวิตของคนทั่วไป มีสี่ประการดังที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) อธิบายความในพจนานุกรมฉบับประมวลธรรม ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2550 หน้า 113-114 ว่า

“ฆราวาสธรรม 4 (ธรรมสำหรับฆราวาส, ธรรมสำหรับการครองเรือน, หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์ - virtues for a good household life; virtues for lay people)

1. สัจจะ (ความจริง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง - truth and honesty)

2. ทมะ (การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา - taming and training oneself; adjustment)

3. ขันติ (ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย - tolerance; forbearance)

4. จาคะ (ความเสียสละ สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว- liberality; generosity)”

จากฆราวาสธรรมข้างต้นสำหรับคนดวงตาเห็นธรรม เราจะเห็นว่า แค่ปฏิบัติตามหลักการครองเรือน นำมาประยุกต์กับการครองเมืองของบรรดานักการเมืองไทย จะทำให้บ้านเมืองของเราน่าอยู่อย่างรู้คุณค่า ไม่ใช่อยู่ไปๆ ต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า “บ้านนี้เมืองนี่จะไปไหวมั้ย” “รัฐบาลขี้โกงจะอยู่โยง อีกนานเท่าไร” “ต้องออกแรงไล่รัฐบาลเลว กันอีกกี่ครั้ง” ฯลฯ และในด้านกลับกัน เมื่อนักการเมืองไม่มีฆราวาสธรรม ทำให้เกิดข้อเสียอย่างไร เราจะเห็นได้จากความเลวร้ายในบ้านเมืองเรา โดยแยกเป็นข้อๆ ดังนี้

1. นักการเมืองไม่มีสัจจะหรือไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่ยึดถือความจริงจึงทำให้เห็นว่า การเป็นนักการเมืองเป็นแค่นักพูด นักโฆษณา นักโกหกรายวัน ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกัน จนคนพูดว่า “ใครมาเป็นรัฐบาลก็โกง” ซึ่งฟังแล้วทำให้รู้สึกสิ้นหวัง ให้เห็นถึงสังคมที่ไร้อนาคต ไร้ความเจริญตามที่ควรจะเป็นและในวันนี้คนไทยยังตกในวังวน “ระบอบทักษิณ” เพราะสังคมไทยไม่แยแส ปล่อยให้ความเลวซ้ำซากที่เกิดจากนักการเมืองได้พัฒนาจนเป็นระบบเข้ามากลืนกินตัวเอง ซึ่งขอยกตัวอย่าง “กรณีหวัดนก” ที่คนเลี้ยงไก่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ประเทศไทยกลายเป็นเขตต้องห้าม เข้ามาท่องเที่ยว ผู้ส่งออกขาดทุนอย่างไม่มีมาก่อน

แต่เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปรากฏว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงเกษตรฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน พรรคไทยรักไทยลอยนวลเพราะพรรคประชาธิปัตย์ในยุคที่มีเลขาชื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่มีการนำเสนอญัตติ เราจะเห็นได้ว่าระบอบทักษิณที่เกิดขึ้นได้นั้น ไม่ได้เกิดและเติบโตได้ด้วยคนคนเดียวแต่ถูกสร้างจากจุดอ่อนที่สังคมไทย ปล่อยให้นักโกงเมืองเข้ามาบริหารแบบไม่มีการสกัดกั้น ไม่มีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้นักโกงเมืองแบ่งผลประโยชน์ข้ามพรรคข้ามพวกอย่างน่าตาเฉย จึงไม่ต้องแปลกใจกับข่าวที่ออกมาว่า “ใครโกง โกงอย่างไร” ต่างเกิดจากการขัดผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ และถ้าทบทวนให้ดีจะเห็นได้ว่าระบอบทักษิณเกิดขึ้นได้จากความไม่ซื่อสัตย์ ไม่ซื่อตรง ไม่รับผิดชอบ ไม่แยแสต่อความดีงามของสังคม

2. นักการเมืองไม่มีทมะหรือขาดนิสัยการฝึกฝนตนเองให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา ขาดการข่มใจเมื่อมีผลประโยชน์เป็นเงินมหาศาลทำให้ภูมิคุ้มกันการควบคุมจิตใจบกพร่อง มีผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และความสามารถที่ใช้ผิดทาง หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่ายจึงทำร้ายตัวเองในที่สุด และคนเหล่านี้มักจมปลักอบายมุขในการทำงาน ตัวอย่างอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลายจังหวัดถูกยิงเสียชีวิตต่างเกี่ยวโยงกับเรื่องการพนัน เรื่องผลประโยชน์การสัมปทานงานรัฐและอีกหลายคนต้องโทษคดียาเสพติด

3. นักการเมืองไม่มีขันติหรือขาดความอดทนอดกลั้น ขาดความเพียร ขาดความเข้มแข็งในการทำสิ่งที่ดีงาม จึงทำให้ขาดการยอมรับจากประชาชนในสังคมและเมื่อโกงบ้านโกงเมืองก็ถูกประชาชนออกมาต่อต้าน ออกมาขับไล่จึงคิดว่าคนที่ออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมความถูกต้องในสังคมเป็นศัตรูที่คอยเลื่อยขาตัวเองออกจากตำแหน่ง อย่างกรณีการไม่ยอมเสียภาษีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนที่เคยรักคอยเกื้อกูลกันอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แนะนำให้เสียภาษีกลับถูกไล่ให้กลับไปเลี้ยงหมา ซึ่งวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จ่ายภาษีจะมีการต่อต้านจากกลุ่มญาติธรรมหรือ

4. นักการเมืองไม่มีจาคะหรือนักการเมืองขาดการเสียสละ คิดแต่ความสบายและผลประโยชน์ส่วนตนจึงทำให้ไม่แคร์หรือแยแสต่อความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เปิดใจในการรับฟังความคิดเห็นต่างหรือความต้องการของชุมชน ซึ่งพฤติกรรมที่ขาดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขาดความช่วยเหลือประชาชนที่ตนรู้สึกว่าต่อต้านอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พูดที่จังหวัดนครสวรรค์ว่าจังหวัดไหนไม่เลือกพรรคไทยรักไทยก็อย่าให้งบประมาณ ซึ่งการพูดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคับแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่คิดติดกับชัยชนะ โดยไม่ได้เรียนรู้ว่าการพ่ายแพ้ ไม่ได้แย่อย่างที่คิดและการพูดแบบไร้ยางอาย ไร้ความคิดที่ดีได้ทำลายความน่าเชื่อถือของคนที่เคยชื่นชมอย่างมาก

การขาด ฆราวาสธรรมดังที่กล่าวมา ทำให้เห็นถึงความถดถอยทางสังคมที่ต้องการเยียวยา ซึ่งวันนี้ที่นำเอานักการเมืองมาเป็นตัวอย่างเพราะคนเหล่านี้เป็นบุคคลสาธารณะ ที่ประกาศตัวว่ามารับใช้ประชาชน บุคคลเหล่านี้เข้าไปบริหารประเทศ วางนโยบายและที่สำคัญเอาเงินภาษีประชาชนที่สุจริตได้จ่ายเพื่อการสร้างความเจริญให้กับประเทศ จึงเป็นบุคคลชั้นนำในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบมากกว่าคนอาชีพอื่นๆ และการขาดฆราวาสธรรม ทำให้สังคมที่มากด้วยความขัดแย้ง ยิ่งไม่มีความสงบ ซึ่งจะมีสงบได้นั้นต้องจดจำข้อเตือนใจว่า

เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดความไม่ไว้วางใจ

เมื่อขาดทมะย่อมเกิดความโง่เขลาบังตา หรืออำนาจบังตา เงินบังใจ

เมื่อขาดขันติย่อมเกิดความไม่อดทด ไม่อดกลั้น ไร้สติ และไร้ความเพียรในการทำดี

เมื่อขาดจาคะย่อมเกิดความโลภ ความเห็นแก่ตัวครอบงำสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น