...+

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

FW: ขาไร้เรี่ยวแรง โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ประสบการณ์เฉียดอัมพาตของนักธุรกิจวัยกลางคน หลังตื่นขึ้นมาพบว่าขาสองข้างไร้ความรู้สึกกลายเป็นฝันร้ายยามตื่นที่ไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้าhttp://ads.nationchannel.com/adserverkt/adlog.php?bannerid=695&clientid=438&zoneid=119&source=&block=0&capping=0&cb=a74547f82dc8d9e22533fb86ac6a092d
การที่หาสาเหตุไม่ได้ยิ่งสร้างความกังวลให้กับเขามากขึ้นเป็นทวีคูณ ด้วยกลัวว่าอาการชาที่ขาจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น แต่สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของชายผู้นี้คือ เกิดอะไรขึ้นกับตัวเขากันแน่
ทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต จะเกิดขึ้นหลังจากล้มอย่างรุนแรง ในผู้สูงอายุ ในขณะที่ตัวเขาเอง ยังอยู่ในวัยทำงาน อีกทั้งสุขภาพยังคงแข็งแรง มีเพียงอาการเครียดและวิตกกังวล และโหมงานหนักต่อเนื่องกันนานหลายวัน แต่ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้ถึงกับเป็นอัมพาตได้
เขาตัดสินใจเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยอาการทันที เพราะนอกจากจะขยับขาไม่ได้แล้ว เริ่มมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายตามมา
สิ่งแรกที่คุณหมอทำคือวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคด้วยเทคนิค MRI รวมถึงเจาะเลือดและตรวจวิเคราะห์น้ำในกระดูกสันหลังเพื่อหาความผิดปกติ สิ่งที่พบชัดเจนในผู้ป่วยรายนี้คือ โปรตีนบางตัวในน้ำไขสันหลังที่ยืนยันได้ว่าเกิดจาก "ปลายประสาทอักเสบ"
นพ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลปิยะเวท บอกว่า โรคปลายประสาทอักเสบ หรือปลายประสาทลอก กลายเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน ซึ่งพบได้บ่อยเช่นเดียวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอื่นๆ เช่น เส้นเลือดในสมองตีบแตก และโรคติดเชื้อในเส้นประสาท หรือ Beel Plasy
"สาเหตุที่ทำให้ปลอกประสาทลอก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอจากความเครียดวิตกกังวล ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายหันไปกินเส้นประสาทของตัวเอง" คุณหมอกล่าว และว่า ส่วนใหญ่โรคนี้มักจะพบในวัยกลางคน อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วในแต่ละเดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน
แม้อุบัติการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่อุบัติการณ์ที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนผิวขาวมากกว่าเอเชีย ที่ถึงแม้สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สิ่งที่ทำให้แพทย์มั่นใจคือผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอาหารที่รับประทานเข้าไป หรือแม้แต่เชื้อชาติก็มีผลต่อโรคนี้เช่นกัน
"คนส่วนใหญ่คิดว่าความเครียดทำให้เป็นโรค แต่อันที่จริงโรคมีอยู่แล้ว แต่อาการเครียดมีส่วนทำให้โรคทวีความรุนแรงมากขึ้น" คุณหมอกล่าวย้ำ
เขาเปรียบเทียบว่า สมองของคนเราเหมือนกับคอมพิวเตอร์ มีสายไฟและฉนวนที่หุ้มอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟช็อต ขณะที่ปลอกประสาททำหน้าที่เหมือนฉนวนของสายไฟ ดังนั้นทันทีที่ปลอกประสาทลอก ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เส้นประสาทไม่สามารถสั่งการได้
อาการที่ปรากฏส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเส้นประสาทลอกที่ตำแหน่งใด ถ้าเกิดขึ้นส่วนประสาทที่ควบคุมแขนขาคนไข้ก็จะแขนขาอ่อนแรง ถ้าเกิดขึ้นที่ไขสันหลังคนไข้อาจเดินไม่ได้ หากเกิดขึ้นที่ตาคนไข้จะมาด้วยอาการมองไม่เห็น และหากเกิดขึ้นที่ปากอาจถึงขึ้นพูดไม่ได้เลยก็มี
กรณีของนักธุรกิจท่านนี้ โชคดีที่เข้ารับการรักษาได้เร็ว ด้วยความที่กลัวว่าจะหมดอาชีพ คุณหมอและคนไข้ต้องช่วยกันพยายามรักษาฟื้นฟูจนกระทั่งกลับมาเดินได้อีกครั้ง
คุณหมอบอกว่า สิ่งที่น่ากลัวของโรคนี้คือเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลังจากที่เป็นครั้งแรก ซึ่งการปล่อยให้การดำเนินโรคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อศักยภาพของร่างกายที่ค่อยๆ ลดลง หน้าที่ของแพทย์และผู้ป่วยคือหยุดไม่ให้เป็นซ้ำอีก แต่ถ้าปล่อยไว้โรคนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม การที่เส้นประสาทลอกไม่น่ากลัวเท่าเส้นเลือดในสมองตีบแตก ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในคนอายุมาก แต่ถ้าเกิดเป็นโรคนี้ในคนวัยทำงาน วันที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ทุกอย่างอาจล่มสลายไปเลยก็มี
"โรคของระบบประสาทเป็นเหมือนศาสตร์ลึกลับ ที่คนมองไม่เห็น จินตนาการก็ยาก แถมยังมีความซับซ้อนในการวินิจฉัยรักษา อีกทั้งราคาแพง ดังนั้นการป้องกันดีที่สุดคือทำให้ร่างกายแข็งแรง กินผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงมลภาวะ ที่สำคัญลดความเครียดลง ภูมิคุ้มกันก็จะดีขึ้นเอง" คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
แต่หากวันใดที่เริ่มมีอาการแขนขาอ่อนแรง ตามองไม่เห็น เริ่มชาและปวดตามตัว ให้รีบมาพบแพทย์ในทันที เพราะยิ่งเร็วเท่าใดเปอร์เซ็นต์ที่จะรักษาให้กลับมาปกติยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น