...+

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาของการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการขยายตัวของเมือง โดย ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้ทำให้เราได้มองเห็นภาพหลายอย่างที่ชัดเจน ขึ้น ได้เห็นประสิทธิภาพของระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าและการปกป้องตนเองเพื่อเอาตัวรอด การใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อเตรียมแก้ปัญหา นับแต่การเตรียมการป้องกัน การช่วยเหลือ และการฟื้นฟูของรัฐซึ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อีกทั้งปัญหาเรื่องความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคม ฯลฯ

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าประเทศนี้ต้องการระบบการจัดการใน รูปแบบใหม่ ที่สำคัญคือผู้บริหารประเทศคนใหม่ที่มีสติปัญญามานำพาประเทศให้อยู่รอดนักการ เมืองน้ำเน่าทั้งหลายให้กิน EM สักกี่ลูกก็คงไม่หายเหม็น ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องทบทวนและหาทางออกว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวเดิน ต่อไปข้างหน้ากันอย่างไร

ภาพน้ำที่ค่อยๆ ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมืองและกองทัพอากาศ ในขณะที่ ศปภ.อพยพหนีไป ทิ้งประชาชนไว้ที่ศูนย์อพยพ แถมยังขู่ตัดน้ำตัดไฟหากไม่ยอมอพยพตาม ภาพรถยนต์จำนวนมากที่ ศปภ.ชักชวนให้เข้าไปจอดในดอนเมืองและเอาออกมาไม่ทัน ถูกทิ้งให้น้ำท่วมมิดคัน ภาพเครื่องบินพาณิชย์ที่จอดรอให้น้ำค่อยๆ เอ่อท่วมจนมิดล้อถูกประจานไปทั่วโลก ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพการเป็นรัฐของผู้นำรัฐบาลไทย สิ่งที่น่าอดสูใจก็คือกองทัพอากาศต้องขนเครื่องบินหนีน้ำกันอย่างโกลาหล เนื่องจากฐานทัพอากาศไทยถูกน้ำท่วม ลองคิดดูว่าหากน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากการวางแผนโดยศัตรูของชาติ เรามิต้องพ่ายสงครามและเสียแผ่นดินไปแล้วหรือ

อย่าอ้างว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงสุดปัญญาป้องกัน เพราะน้ำมาเห็นๆ รู้ล่วงหน้าเป็นเดือน ป้องกันได้แน่นอนถ้าใช้สมองกันจริงๆ ดูตัวอย่างจากบิ๊กแบ็กเขาคิดได้อย่างไร ใช้ได้ผลหรือไม่ ก่อนน้ำท่วมทำไมไม่คิดจะทำ ผมเกิดที่คลอง 10 อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ที่นั่นคนในท้องถิ่นร่วมมือกันป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งอำเภอ ย้อนกลับไปดูภาพถ่ายดาวเทียมกันให้เต็มตาได้เลย ทำไมน้ำไม่ท่วมสุพรรณบุรีทั้งจังหวัด ตัวจังหวัดนนทบุรี และ อ.ปากเกร็ด อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปกติเคยน้ำท่วมแต่ทำไมคราวนี้ถึงไม่ท่วม เมืองทองธานีรอดได้เพราะอะไร

ในขณะที่เมืองเอกและม.รังสิต กลับไม่รอด ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งมีผู้รู้มีปัญญามากมายทำไมต้องจุดพลุให้สัญญาณอพยพกันอย่างโกลาหล ผมไปดูที่ ม.มหิดล (ศาลายา) ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงรอบมหาวิทยาลัย แต่เขาเตรียมพร้อมรับมือป้องกันน้ำท่วมได้ หน่วยงานเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่รอดด้วยการต่อสู้ป้องกันด้วย ตัวเอง ในขณะที่นักการเมืองระดับชาติกับผู้บริหาร กทม.ยังมัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ชาวบ้านทะเลาะกันทุกหย่อมหญ้า เพราะความไม่เท่าเทียมกันทั้งข้อมูลข่าวสารและการกระจายความช่วยเหลือ

หลังน้ำท่วมก็ยังเกิดวิกฤตต่อเนื่อง บางแห่งน้ำที่ขังอยู่เริ่มเน่าเสีย เป็นที่รวมของขยะและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ขยะกองมหึมากระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ที่เห็นความแตกต่างได้ชัดคือประสิทธิภาพในการจัดเก็บ อย่างในเขต กทม.มีการระดมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันจัดเก็บ แต่ก็ยังมีตกค้างอยู่อีกมาก ในขณะที่ชุมชนใหญ่ๆ รอบ กทม.ไม่ว่าจะเป็นบางบัวทอง คลองหลวง ลำลูกกา รังสิต ธัญบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ลำพังตัวเองยังเอาไม่รอด ทั้งเครื่องมือ บุคลากร และงบประมาณที่มีจำกัด อีกทั้งสถานที่ฝังกลบขยะก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ ขยะจึงกำลังกลายเป็นปัญหาใหม่หลังน้ำลด และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคซึ่งอาจนำมาซึ่งโรคระบาดร้ายแรง

รัฐปล่อยให้ผู้ว่าฯ จังหวัดต่างๆ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดการป้องกันน้ำท่วมแต่โดยลำพังแบบตัวใครตัว มัน โดยไม่มีการชี้แนะแนวทางหรือวางนโยบายช่วยเหลือจากส่วนกลาง จนกระทั่งผู้ว่าราชการฯ บางจังหวัดต้องออกมายอมรับว่าหมดปัญญาป้องกันหรือช่วยเหลือ และต้องยกหน้าที่ให้ทหารเข้าไปรับผิดชอบ รัฐบาลก็อ้างว่าส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายามที่เกิดวิกฤตหน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถ จัดการตนเองได้ ทั้งในแง่ของการป้องกัน การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการฟื้นฟูหลังน้ำลด

การขยายตัวของเมืองเป็นไปโดยไร้ทิศทาง ผู้คนที่ทำมาหากินอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มีที่พักอาศัยอยู่ตามจังหวัดปริมณฑลโดยรอบต่างก็ประสบภาวะน้ำท่วมไม่ต่าง กัน แต่การแก้ไขปัญหากลับขึ้นอยู่กับผู้บริหารของท้องถิ่นซึ่งมีประสิทธิภาพต่าง กัน พุทธมณฑล ศาลายา บางบัวทอง ปากเกร็ด รังสิต ลำลูกกา คลองหลวง ธัญบุรี พื้นที่เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันในหลายๆ ด้านจนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย แต่เรายังติดอยู่แค่เส้นแบ่งเขตของจังหวัด

เมื่อเกิดปัญหาที่ต่อเนื่องถึงกันเช่นนี้ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า อำนาจหน้าที่ในการจัดการ ทั้งด้านกฎหมาย บุคลากร และงบประมาณนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตปริมณฑลไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะสั่งการ เทศบาลหรือ อบต.ได้ การแก้ปัญหาจึงอีหลักอีเหลื่อ การระบายน้ำที่ท่วมขังเป็นผืนเดียวกัน ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ น้องน้ำเขาไม่รู้หรอกว่าเขาอยู่ ตจว.หรือ กทม.ดังนั้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจึงไม่ควรอยู่ภายใต้เส้นเขตแดน

เอาเข้าจริงๆ แม้แต่กรุงเทพมหานครเองก็จัดการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองได้ไม่ทั่วถึง จะขยายพื้นที่ออกไปดูแลปริมณฑลด้วยก็คงไม่ไหว เห็นทีเราคงต้องคิดรูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการเมืองแล้วกระมัง จะแบ่งเขตเพิ่มผู้ว่าฯ กทม. ออกไปบริหารเป็นเขตๆ แล้วรวมเอาพื้นที่บางส่วนของปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม เข้ามาร่วมเป็นมหานครไปด้วยเลยดีไหม ถ้าคิดว่าเราจะยังสู้กันต่อ ไม่ทิ้งเมืองหลวงหนีไปหาที่อยู่ใหม่ เริ่มคิดกันได้หรือยังครับ ไม่แน่ว่าปีหน้าน้องน้ำเขาอาจจะพาพี่น้ำมาเยือนด้วยก็เป็นได้

ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ยังคิดไม่ได้ก็ออกไปเถิด ให้คนมีปัญญาได้เข้ามาช่วยกันคิดแก้ปัญหาดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น